xs
xsm
sm
md
lg

พระและชาวบ้านรอบวัดหัวถนน จ.ตรัง เร่งมือแต่งเรือพระร่วมงานลากพระหลังออกพรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - วัดหัวถนน ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง ระดมพระ และชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมกันเร่งตกแต่งเรือพระ เพื่อเตรียมใช้ในงานประเพณีลากพระที่จะมีขึ้นหลังวันออกพรรษาของทุกปี

วันนี้ (26 ต.ค.) ที่วัดหัวถนน ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ประธานสภาวัฒนธรรม พร้อมด้วยพระสงฆ์ และชาวบ้าน ซึ่งมีฝีมือในงานช่างประเภทต่างๆ ทั้งหญิงและชายได้ร่วมกันตกแต่งเรือพระของวัด เพื่อเตรียมใช้ในงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง ที่จะจัดขึ้นทุกปีหลังวันออกพรรษา โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม-7 พฤศจิกายน 2566 โดยมีเรือพระจากหลายอำเภอที่ตอบรับเข้าร่วมสืบสานประเพณีแล้วแล้ว 79 ลำ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ณ ลานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง สนามกีฬาทุ่งแจ้ง ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ จึงทำให้แต่ละวัดขณะนี้ต่างเร่งมือในการตกแต่งเรือพระ

โดยทั้งพระ และชาวบ้านต่างเร่งมือกันอย่างเต็มที่ในการตกแต่งเรือพระ ซึ่งเรือพระจะเป็นเรือพระลำเดียวกันที่ใช้สืบต่อกันมาทุกปี เพียงแต่จะต้องจัดทำองค์ประกอบใหม่แทนของเก่า เพื่อให้สวยงาม รวมทั้งนำองค์ประกอบเก่าที่ยังใช้ได้มาทำการประดับประดาตกแต่งใหม่ ทาสีใหม่ หรือประกอบใหม่ โดยทางวัดได้มีการระดมช่างฝีมือในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความรู้ ความสามารถในด้านช่างต่างๆ ส่วนคนที่ไม่ได้มีฝีมือทางช่างมาช่วยกันอย่างเต็มที่ หรือนำข้าวปลาอาหารมาช่วยสนับสนุนให้คนที่ทำ ถือเป็นความสามัคคีของคนในท้องถิ่น


ทั้งนี้ องค์ประกอบของเรือพระ ซึ่งเกือบทั้งหมดชาวบ้านแกะสลักจากไม้ที่หาได้พื้นที่ ทั้งพระพุทธรูป บุษบก ธรรมจักร พญานาคทั้งตัว หรือเฉพาะส่วนหัว และส่วนหาง โดยเฉพาะหัวพญานาค จำนวน 3 หัว หากสั่งซื้อจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท แต่ชาวบ้านใช้วิธีแกะสลักเอง รวมทั้งฉัตรแก้ว ซึ่งที่วัดอื่นอาจจะใช้ไม้ หรือผ้ามัดเป็นฉัตร แต่ของวัดหัวถนน ชาวบ้านจะทำจากรวงข้าว นำมามัดรวมกันเป็นฉัตร 5 ชั้น จำนวน 4 ฉัตร เนื่องจากตำบลนาพละ ชาวบ้านนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีการทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง ชาวบ้านจึงนำรวงข้าวมาทำเป็นฉัตรแก้ว ซึ่งเมื่อตกแต่งออกมาแล้วจะมีความสวยงามอย่างมาก

น.ส.ปราณี เพชรรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 บ้านหัวถนน ต.นาพละ บอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่พร้อมใจกันทำเรือพระอย่างเต็มที่ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวนาพละ เพราะทุกคนช่วยกันทำโดยไม่มีการจ้าง ไม่มีค่าแรง แต่ร่วมใจกัน ทั้งผู้นำท้องที่ท้องถิ่นและชาวบ้านนาพละ ส่วนรวงข้าวที่นำมาทำฉัตร ใช้พันธุ์ข้าวจากชาวบ้าน ซึ่งทำเป็นที่เดียว ขณะที่ที่อื่นจะทำจากวัสดุชนิดอื่น แต่จะเปลี่ยนทุกปี โดยข้าวเก่านำไปให้นกให้ไก่กิน






กำลังโหลดความคิดเห็น