xs
xsm
sm
md
lg

“ซอฟต์ พาวเวอร์” คำพูดติดหู ต้องรู้และเข้าใจ / ศ.กิตติคุณ สุกัญญา สุดบรรทัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อซอฟต์ พาวเวอร์ ถูกยกขึ้นมาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ก็มีการถกเถียงกันอย่างมากตอนนี้ว่า ซอฟต์ พาวเวอร์คืออะไร?

ในทัศนะของผู้เขียน อันที่จริง ศัพท์นี้ไม่น่าจะแปลยากในแง่ตัวศัพท์ power ก็พลัง อำนาจ สื่อความหมายได้ง่ายๆ แต่ยากก็ตรงคำว่า soft เถียงกันมามากมายว่าจะแปลว่าอะไรดี

อ่อน ละมุน ละไม นุ่มนิ่ม ฟังดูแล้วก็ขัดๆไปหมด

ดังนั้นถ้าจะแปลทับศัพท์ว่า ซอฟต์ พาวเวอร์ ซึ่งก็ดูจะติดหูคนไทยอยู่แล้วก็เหมาะสมดี

แต่ว่าเราควรจะเข้าใจคำศัพท์นี้ให้ลึกลงไปอีกหน่อยดีใหม ไม่งั้นก็ตอบแบบกำปั้นทุบดิน

ซอฟต์ พาวเวอร์ ก็คือซอฟต์ พาวเวอร์ไง...

อันที่จริง คำว่า soft power นี้ครอบคลุมหลายบริบทไม่ใช่แต่เฉพาะวัฒนธรรม อะไรก็ตามที่มีพลังยิ่งใหญ่โดยไม่ใช้อาวุธที่เรียกกันว่า hard power ก็อาจจัดอยู่ในกลุ่มได้ทั้งสิ้น

คำว่า soft ในที่นี้จึงมีความหมายลึกกว่าคำแปลโดยทั่วไปในภาษาไทย จริงๆแล้วก็มีศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำอยู่ที่แปลไทยตรงๆไม่ค่อยได้ เพราะไม่สามารถให้ความหมายอย่างที่เป็นอยู่จริงได้

มาว่ากันถึงตัวศัพท์ดีกว่า

ศัพท์ soft power นี้ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเป็นผู้บัญญัติ มาจากคำว่า มานา (mana) ของชนเผ่าดั้งเดิมในนิวซีแลนด์ ซึ่งหมายถึง เวทย์มนต์ที่สามารถใช้เพื่อครอบงำสังคมทั้งในและนอกอาณาจักรของตน

ดังนั้นคำนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว ตามรากเดิมหมายถึงพลังดึงดูดทางจิตวิญญาณ บ้างก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความสามารถในการรบของหัวหน้าเผ่า บ้างก็ด้วยความศักดิ์สิทธิของหมอผี หรือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่เรียกว่า charisma

คำว่า มานา ดูแล้วใกล้กับศัพท์ที่ไทยเราไปขอแขกมาใช้ คือ มน (อ่าน-มะนะ) แปลว่าใจ ดังนั้นถ้าจะแปลว่า soft power ว่า มานานุภาพ ก็ไม่น่าจะผิด คือมันมีผลในการชักจูงใจ

โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะเข้าใจว่า soft power หมายถึงพลังทางวัฒนธรรมที่การสื่อสารของมนุษย์ดูดดึงเข้าสู่ความสนใจของมหาชน เมื่อสามารถนำมาเป็นสินค้าหรือทุนมันก็เกิดอำนาจทางเศรษฐกิจ

สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ ดนตรี นาฏกรรม สื่อพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์พื้นบ้าน มวยไทย อาหารไทย ผ้าไทย ฯลฯ ล้วนอยู่ในวิถีชีวิตไทย เช่นเดียวกับป่าเขาลำเนาไพรและท้องทะเลอันสวยงาม พวกนี้เป็นทรัพย์แห่งแผ่นดินที่มีพลังดึงดูดทางจิตวิญญาณ

ทั้งยังแสดงอัตลักษณ์ของชาติ ว่านี่คือเรา

อาจมีการผสมกับของต่างชาติบ้าง แต่นี่ก็คือเรา

แม้กระทั่งสิ่งที่ชาวพุทธเราเชี่ยวชาญ คือการนั่งสมาธิ (meditation) ก็เป็นทรัพย์แห่งชาวพุทธ ที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมานับได้เป็นพันปี จะมีกี่สายกี่สำนักไม่เป็นปัญหา

จะศาสนาใด ก็ล้วนสามารถนำไปปฏิบัติ สงบจิตสงบใจ

เหมาะสมแก่สังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกเรา-เขา ตัวกู-ของกู เหมาะแก่โลกที่กำลังเดือดด้วยพลังร้อนแห่งสงครามและภัยธรรมชาติ

ลองไปดูตามสำนักต่างๆ มีชาวต่างชาติ ต่างศาสนา เข้ามาฝึกสมาธิกันไม่น้อยเลย
กลับไปดูความหมายของโจเซฟ นาย อีกนิด

เขาอธิบายว่า Soft Power หมายถึงพลังอำนาจที่แผ่ออกไปผ่านกลไกทางวัฒนธรรม อุดมการณ์ และสถาบันต่างๆ โดยนัยยะนี้ อุดมการณ์ทางการเมือง ระบบการศึกษา ทุนนิยม จากประเทศตะวันตกจึงถูกจัดให้เป็น soft power ด้วย

เทคโนโลยี ที่กำลังเปลี่ยนโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล โซเชียลมีเดีย ก็เป็น ซอฟต์ พาวเวอร์ ด้วย

เป็นพลังมหาศาลที่สร้างพลโลกครึ่งดีครึ่งร้ายอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

soft power ในความหมายที่แท้จริงของมัน จึงมีความสัมพันธ์กับแรงดึงดูดทางจิตใจ มิใช่แต่เฉพาะการดึงดูดสตางค์ในกระเป๋าของนักท่องเที่ยว

และยังเกี่ยวพันกับการสร้างอัตลักษณ์และความยิ่งใหญ่ของชาติ

อีกทั้งเป็นพลังเย็น ที่ซ่อนความรุนแรงยิ่งกว่าพลังร้อน

บทความโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุกัญญา สุดบรรทัด
ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น