xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว 2 เครื่องช่วย บจ.ยั่งยืน ให้สมัครใจแต่ไม่อาจปฏิเสธ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อมีการเปิดตัว "คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" (SDGs Guidebook) และมาตรฐานผลกระทบ SDGs ( SDGs Impact Standard ) สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และมีความหมายต่อวงการธุรกิจ

ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พร้อมด้วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมเครือข่ายโกบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT)

เป็นการยืนยันว่าภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุน ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น

เมื่อมองย้อนหลังไปตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2015 ที่ผู้นำ193 ประเทศ(รวมทั้งไทยด้วย) ได้ร่วมกันรับรองชุดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน 17 หัวข้อ ให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายที่จะบรรลุผลภายในปี 2030

เป็นการผนึกพลังที่จะจัดการกับปัญหาท้าทาย ที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกพื้นที่ โดยเฉพาะหัวข้อ 13 Climate Action เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศทั่วโลกรับรู้พิษสงของภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น เกิดบ่อยขึ้นและเกิดทั่วทุกภูมิภาค เช่น น้ำท่วมใหญ่ พายุรุนแรง แผ่นดินไหว อากาศร้อนจัด หนาวจัด แล้งจัด

แต่เป้าหมายที่เป็นวาระระดับโลกดังกล่าว ซึ่งกำหนดเวลาทำงานไว้ 15 ปี ขณะนี้ผ่านมาครึ่งทางแล้ว และมีการประชุมติดตามผลคืบหน้าทุกปี แต่หน่วยงานของสหประชาชาติก็เริ่มเห็นแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุผลตามกำหนดเวลา จึงสรุปบทเรียนและมีมาตรการกระตุ้น ให้เร่งดำเนินการ

เพื่อไม่ให้การอ้างอิงคำว่า “ความยั่งยืน” เป็นเพียงคำฮิต หรือภาษาดอกไม้ ที่พูดให้ดูดี จึงมีการรณรงค์ “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ”

ดังนั้น “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”และ “มาตรฐานผลกระทบ SDGs” ที่เปิดตัวให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เริ่มเอาไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ ที่บอก “วิธีการ”สำหรับธุรกิจ เพื่อไม่ให้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องแยกไปทำ แต่ให้ผนวกเข้ากับกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจปกติ

ให้เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจ ร่วมกับการมี มาตรฐานวัดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และผลต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

มีข้อคิดจากคู่มือเป้าหมายSDGsฉบับนี้ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทระดับโลกแสดงให้เห็นว่าเริ่มให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” มากขึ้น และยอมรับแนวปฏิบัติการดำเนินงานที่สอดคล้องกับประเด็นเป้าหมายSDGs เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ

KPMG บริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลกให้ข้อมูลปี 2020 ว่า 80% ของบริษัทระดับโลกมีการทำรายงานด้านความยั่งยืน และ 72% ของ 250 บริษัทที่มีรายได้สูงสุดของโลก ได้จัดระบบการดำเนินธุรกิจเชื่อมโยงกับรายงานเป้าหมายSDGs ( เพิ่มขึ้น 29% จาก 3 ปีก่อน)

รายงานยังระบุว่า มีแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ลงทุน ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และผู้บริโภค จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกร้องให้บริษัทเพิ่มระดับความโปร่งใสในประเด็นเกี่ยวกับ

●ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
●มาตรฐานแรงงานและความหลากหลายทางเพศ


ประเด็นปัญหาการรายงาน

ผลการวิจัยของ KPMG ยังระบุว่า การรายงานของภาคธุรกิจเกี่ยวกับเป้าหมายSDGs มักเป็นการรายงานด้านเดียว และไม่สมบูรณ์ คือเน้นการนำเสนอแต่ข้อมูลการมีส่วนร่วมกิจกรรมเชิงบวกของบริษัท เพื่อให้ตรงประเด็นในหัวข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ก็ขาดความโปร่งใสในการเปิดเผยประเด็นทางลบที่เกิดจากบริษัท

มีเพียง 10% ของบริษัทยักษ์ใหญ่ G250 เท่านั้น ที่รายงานทั้งผลกระทบเชิงลบและเชิงบวกของเป้าหมาย SDGs รายงานดังกล่าวระบุว่าว่า บริษัทที่เพิกเฉยต่อผลกระทบเชิงลบ ย่อมเสี่ยงที่จะสูญเสียความน่าเชื่อถือ หรือความไว้ใจจากสังคม และอาจถูกกล่าวหาว่า “ปลอมการบรรลุเป้าหมายSDGs” หรือ “สร้างผลกระทบเทียม”

การจัดทำคู่มือเป้าหมายSDGsครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนให้ตลาดทุนดำเนินการมากกว่า การยอมรับแนวทางESG โดยมุ่งผลักดันให้บูรณาการเป้าหมายSDGsเป็นแนวปฏิบัติเข้าอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ

ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการลดและเลี่ยงผลกระทบเชิงลบ และให้เพิ่มผลกระทบเชิงบวก เพื่อสร้างคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

ผลการกระทำเช่นนี้ก็จะเป็นเนื้อหาที่ใช้เปิดเผยในระบบ One Report ที่บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องรายงานตามกฎกติกา

ข้อคิด…


ผมได้อ่านเนื้อหาของคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วก็ได้ข้อคิด และขอสื่อสารด้วยภาพประกอบบทความนี้

เห็นชัดเจนในความสัมพันธ์ของหลักการ ESG ซึ่งมีจุดเริ่ม ในตลาดทุน ยอมต้องการแนวทางในการลดความเสี่ยง จึงให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ในแง่ที่กระทบต่อผลการดำเนินงาน(ทางการเงิน) ของบริษัท

แต่เป้าหมายSDGs (และแนวทางอื่นๆ) ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จากการทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น

ความจริง ESG เป็น “แนวทาง”สร้างผลกระทบสู่ภายนอกได้ด้วย จากความคิดที่คำนึงถึงการพัฒนาที่สมดุล ด้าน สิ่งแวดล้อม สังคมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีธรรมาภิบาล คือทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม จึงเป็น 3 มิติที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

แต่การขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้วยเป้าหมาย SDGs เป็น “แนวปฏิบัติ” ที่มุ่งสร้างผลกระทบสุทธิเป็นบวก คือเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้มากที่สุดและลดผลกระทบทางลบ (ไม่ว่าจะมีผลต่อการเงินหรือไม่ก็ตาม)

ดังนั้นคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมาตรฐานผลกระทบ SDGs แม้เปิดให้ใช้ด้วยความสมัครใจ เพราะไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์บังคับ

แต่ผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวก ที่สังคมและนักลงทุนคาดหวัง ให้บจ.มีเป้าหมายและแนวปฏิบัติดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนตามหลักเกณฑ์สากล โดยมีการรายงานผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทในเชิงลึก ผ่านระบบ One Report จึงเป็นเรื่องที่ดีและไม่อาจปฏิเสธได้

suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น