ทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนาประจำปี “ปรับประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ” ดร.สมเกียรติ ย้ำ เศรษฐกิจ-สังคมไทยอยู่รอดหรือไม่ ขึ้นกับการปรับตัวรับมือ “Climate Change” ชี้มี 9 แรงกดดันที่ไทยต้องประสบ ห่วงตั้งเป้า Net zero ช้ากว่าหลายประเทศทั่วโลก ทำเสียโอกาสแข่งขัน ชง 7 ข้อเสนอเชิงนโยบาย กำหนดเป้าพัฒนาประเทศ สร้างเศรษฐกิจสีเขียว - หนุนเก็บภาษีคาร์บอน - พัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ – เปิดเสรีตลาดไฟฟ้า
(วันนี้) 31 ตุลาคม 2566 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนาสาธารณะประจำปี 2566 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ไปสู่ เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกำหนดความอยู่รอดของเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยมีความท้าทายจากทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ และการเตรียมปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กต้องพึ่งพาการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในระดับที่สูงมาก จึงไม่สามารถละเลยต่อแรงกดดันต่างๆได้
๐ สำรวจ 9 แรงกดดันที่ไทยต้องเผชิญ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับแรงกดดันที่ไทยต้องเผชิญมีด้วยกันอย่างน้อย 9 ประการ คือ
1. ความตกลงปารีส ที่แต่ละประเทศจะต้องตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
2. มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ต่อการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหนักบางรายการและมีแนวโน้มที่จะขยายรายการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต และยังมีอีกหลายประเทศเช่น สหรัฐฯ แคนาดาและออสเตรเลีย อาจใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย
3.หน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศเฉพาะด้าน เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และองค์การการเดินเรือระหว่างประเทศ (IMO) เริ่มมีกิจกรรมที่มุ่งให้ประเทศสมาชิกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
4. บริษัทชั้นนำในระดับโลก ซึ่งเป็นผู้นำซัพพลายเชนของสินค้าผู้บริโภค ต้องการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกดดันให้ซัพพลายเออร์ในประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
5. นักลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ ที่ต้องการมาลงทุนในไทย มีเงื่อนไขว่าไทยต้องสามารถป้อนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100%
6. นักลงทุนในตลาดการเงินและตลาดทุนระหว่างประเทศ ซึ่งลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย เช่น กองทุนต่างๆ ที่ยึดหลักการลงทุนโดยมีความรับผิดชอบ กดดันให้บริษัทเหล่านี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
7. นักเคลื่อนไหว ทั้งในและต่างประเทศ สร้างแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ รักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
8. กลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนนักท่องเที่ยว ที่ตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และ 9. พนักงานหรือสหภาพแรงงานของบริษัท มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่มีความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ
๐ ห่วงเป้า Net Zero ล้าช้ากว่าเพื่อนบ้าน เสี่ยงเสียเปรียบคู่แข่ง
ดร.สมเกียรติ ระบุว่า แม้ประเทศไทยได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ในปี 2065 แต่ปรากฏว่ากลับล่าช้ากว่าหลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนามและลาว ที่กำหนดเป้าหมายในปี 2050 และจีนที่กำหนดเป้าหมายในปี 2060 ซึ่งการที่ไทยมีเป้าหมายที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นมาก อาจทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกไม่มีความโดดเด่น และอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ที่สำคัญอาจทำธุรกิจของไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับภาคอื่นๆเช่น ภาคการศึกษาที่จะไม่สามารถผลิตกำลังคนได้ทัน และทำให้ไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างทันท่วงที
๐ ชง 9 ข้อเสนอ ดัน “เก็บภาษีคาร์บอน”
ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ไทยยังขาดยุทธศาสตร์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
1. ควรจัดเก็บภาษีคาร์บอน 2 ระบบควบคู่ไปด้วยกันคือ ภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าส่งออกที่อยู่ภายใต้มาตรการ CBAM และภาษีคาร์บอนพลังงาน ซึ่งจัดเก็บจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยผู้ที่เสียภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าส่งออกจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีคาร์บอนพลังงานในส่วนที่ได้เสียภาษีไปแล้ว ซึ่งอัตราภาษีคาร์บอนพลังงานในระยะแรกควรเริ่มจากระดับที่ไม่สูงมาก เช่น 175 บาทต่อตันคาร์บอน คาดว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท และควรนำรายได้นี้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ” เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตไทย และประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป
“ก่อนที่จะจัดเก็บภาษีคาร์บอน รัฐบาลควรทยอยลดอัตราการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล รวมไปถึงในระยะยาวควรปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งไม่สะท้อนก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาให้เป็นภาษีคาร์บอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการ เพราะจากการสำรวจของธนาคารโลก พบว่า ในปี 2023 มี 39 ประเทศ และรัฐบาลท้องถิ่นอีก 33 แห่งที่ใช้ราคาคาร์บอนอยู่ในปัจจุบัน และยังมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นอีกกว่า 100 แห่งที่มีแผนจะใช้ราคาคาร์บอนในอนาคต” ดร.สมเกียรติ ระบุ
2. กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้อยู่บนพื้นฐานของการสร้าง “เศรษฐกิจสีเขียว” และสร้าง “งานสีเขียว” ที่มีรายได้ดีแก่ประชาชน
3. เร่งการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต (ภาคสมัครใจ) โดยควรเน้นการลดต้นทุนด้านการรับรองและทวนสอบ ควบคู่ไปกับการเพิ่มความต้องการคาร์บอนเครดิตของภาคธุรกิจ
4. เร่งปฏิรูปตลาดไฟฟ้าของประเทศ ให้เป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน โดยเปิดเสรีตลาดการผลิต เปิดสายส่งไฟฟ้าให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เป็นธรรม และนำเอาระบบการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงและระบบ net metering มาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบขนส่งสาธารณะเมืองใหญ่
5.ใช้มาตรการหนุนเสริมต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์เขียว การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เขียวและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
6. ทำพื้นที่นำร่อง (แซนด์บ็อกซ์) การลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยยกระดับโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” จากการออกกฎหมายยกระดับการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งได้มีการยกร่างไว้แล้ว และถอดบทเรียนจากพื้นที่นี้มาขยายผลในระดับประเทศและปฏิรูปโครงสร้าง
และ 7. พัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอรับทุนสนับสนุนในการดำเนินการจากต่างประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถเร่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้เร็วขึ้น
๐ “ดร.ประสาร” ย้ำ โจทย์ร่วมกันแก้ ไม่สามารถทำได้ลำพัง
ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเวลานี้เห็นชัดว่าโลกกำลังประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ในไทยก็เห็นปัญหาภัยแล้ง คุณภาพของอากาศสะอาด ความถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกันหลายประเทศก็มีกฎเกณฑ์ให้ภาคการผลิตเปิดเผยข้อมูลเรื่องการปล่อยคาร์บอน รวมไปถึงการที่อียู เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งข้อกำหนดต่างๆเหล่านี้จะมีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ถ้าภาคธุรกิจให้ความสนใจก็จะเป็นประโยชน์ บางคนเห็นถึงโอกาสในการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าพลังงานจากฟอสซิลได้
“โจทย์ที่พูดถึงเวลานี้เป็นโจทย์ยากที่ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่โจทย์ที่จะทำได้โดยรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่โจทย์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คนใดคนหนึ่งจะแก้ได้โดยลำพัง ทุกฝ่ายต่างมีบทบาทในโจทย์นี้ร่วมกัน” ดร.ประสาร ระบุ
๐ “ดร.วิรไท” ห่วงหายนะสภาพภูมิอากาศ แนะ คน-ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างเท่าทัน
สอดรับกับ ดร. วิรไท สันติประภพ กรรมการสถาบัน ทีดีอาร์ไอ ที่ระบุว่า วันนี้คือหายนะทางสภาวะภูมิอากาศ เรียกได้ว่าโลกเปลี่ยนจุดหักเหไปแล้ว ไม่มีทางที่สภาวะอากาศจะกลับมาเหมือนเดิม มีแต่ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นเราทุกคนจะต้องปรับวิถีชีวิต ปรับพฤติกรรม ปรับรูปแบบธุรกิจของ ให้สามารถตั้งรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้ได้อย่างเท่าทัน และต้องไม่ไปซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงมากขึ้น
“ต้องคิดข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาวิชา ออกจากไซโลเดิมของเรา เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐที่ติดอยู่กับกรอบอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็จะต้องคิดถึงแผนในการตั้งรับกติกาใหม่ๆที่จะออกมา ดังนั้นธุรกิจต้องปรับตัวอย่างเท่าทัน เราไม่มีทางที่จะรับมือความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศได้ด้วยวิถีการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ออกมาเรื่อยๆสามารถยกระดับผลิตภาพช่วยในการแข่งขัน และเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆของธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว และสร้างความสามารถได้ก่อนคู่แข่ง นอกจากนี้จะต้องมีการลงทุนอีกมากทั้งระดับธุรกิจและระดับรัฐบาลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และต้องคิดด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศเข้มแข็ง สามารถรับมือภัยพิบัติใหม่ๆได้ ” ดร.วิรไท ระบุ
สำหรับการนำเสนอของทีดีอาร์ไอในงานสัมมนาสาธารณะประจำปีนี้นั้น ยังมีอีก 5 หัวข้อ ประกอบด้วย 1. หัวข้อ “ปฏิรูปภาคไฟฟ้า...พาไทยให้อยู่รอด” โดย ดร.อารีพร อิศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ 2. หัวข้อ “ชาร์จพลังประเทศไทย...ไปสู่การขนส่งคาร์บอนต่ำ” โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ 3. หัวข้อ “ปั้มรายได้ สร้างเศรษฐกิจ...ผลิตในยุคคาร์บอนต่ำ” โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส และดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ 4. หัวข้อ “ปรับทักษะคนไทย...ทำงานใหม่ยุคคาร์บอนต่ำ” โดย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ และ 5. หัวข้อ “เตรียมธุรกิจไทย...ให้พร้อมสู่ยุคคาร์บอนต่ำ” โดย ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ และดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการทีดีอาร์ไอ
ขณะที่ในช่วงบ่ายมีการเสวนาหัวข้อ “ประเทศไทย...ก้าวไปสู่ยุคคาร์บอนต่ำ” โดยมีนายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต, นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) และนส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทด้านการพัฒนาความรู้ ป่าสาละ ร่วมเสวนา โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนในชีวิตประจำวัน งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเปิดรับข้อเสนอใหม่ๆ จากผู้มาร่วมงาน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ สังคมคาร์บอนต่ำด้วย