‘คมนาคม’ กางแผน 3 ระยะ เพิ่มศักยภาพอุตฯ การบินของไทย สั่ง บวท.-ทอท.เพิ่ม Slot บินอีก 15% ต่อสัปดาห์รับฟรีวีซ่า ลุยขยายอาคารผู้โดยสาร สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เป้ารับ 200 ล้านคนต่อปี ดัน "ภูเก็ต, เชียงใหม่" แห่ง 2 เกิดใน 5-7 ปี
วันที่ 30 ต.ค. 2566 นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ครั้งที่ 2 “กลับคืนน่านฟ้า มุ่งหน้าสู่อนาคต” เพื่อสื่อสารทิศทางและนโยบายเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต พร้อมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติ และพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินและการขนส่งทางอากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต โดยมีนายสุทธิพงศ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAATและ Mr. Tao Ma ผู้อำนวยการภูมิภาค สำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ICAO APAC) รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการบิน เข้าร่วมงานกว่า 400 คน
นายมนตรี เดชาสกุลสม กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันมีการกำหนดแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่มุ่งเน้นถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมให้เป็นประตูสู่ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินทั่วประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้มีนโยบายสำคัญด้านอุตสาหกรรมการบินเพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ “คมนาคม เปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ” โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1. การดำเนินงานระยะเร่งด่วนภายใน 1 ปี จากนโยบาย VISA Free ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเป็น 500,000 คนต่อเดือน และคาซัคสถานเพิ่มเป็น 15,000 คนต่อเดือน ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2 แสนล้านบาท จึงได้มอบหมาย กพท. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จัดสรรเวลาการบิน (Slot) เพิ่มขึ้นอีก 15% ต่อสัปดาห์ เร่งรัดให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพื่อรองรับการขยายตัวการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ ทอท.ปรับปรุงพื้นที่อาคารและกระบวนการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้สูงสุด
2. การดำเนินงานระยะกลาง 1-3 ปี มุ่งเน้นถึงการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี โครงการสำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย
3. การดำเนินงานระยะยาว 5-7 ปี มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ท่าอากาศยานมีข้อจำกัดของการขยายตัว คือ การก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานพังงา (ภูเก็ต แห่งที่ 2) หรือท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดตั้งท่าอากาศยานพาณิชย์ของประเทศที่ กพท.ได้จัดทำไว้ คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 50 ล้านคนต่อปี รวมถึงการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้ ทอท.ดำเนินการแทนเพื่อลดภาระของภาครัฐ
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังให้ความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้นทุนด้านพลังงาน โดยมอบหมายให้ กพท.ศึกษาและกำหนดมาตรการเรื่องการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท.บรรยาย ในหัวข้อ “ทิศทางของอุตสาหกรรมการบินและแนวทางสู่ความยั่งยืน” ว่า กพท.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2566-2571 เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งด้านมาตรฐานสากล ด้านการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้านคุณภาพการบริการ
และด้านประสิทธิภาพและการพัฒนาองค์กร นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมจัดทำแผนแม่บท หรือ Drone Master Plan ให้ออกมาเป็น Roadmap สำหรับประเทศไทย ที่มีรายละเอียดครบทุกมิติอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “บริบทใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน โอกาส อุปสรรค ความท้าทาย” โดยมีบุคคลในแวดวงการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของไทย เช่น นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นางสมทรง สัจจาภิมุข รองนายกสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย นายยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้แทนสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) นายสถาปนา พรหมบุญ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และนายนิธิธร สุขมนัส นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) ดำเนินรายการโดยนายกฤษ พัฒนสาร กรรมการและเลขานุการสมาคมสายการบินประเทศไทย
รวมถึงยังมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอข้อมูลเฉพาะด้านและรับฟังความคิดเห็นในประเด็นหัวข้อต่างๆ ได้แก่ มาตรฐานระบบการกำกับดูแลด้านการบิน การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจการบิน ห้วงอากาศและอากาศยานไร้คนขับ และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคการบิน