xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดบีโอไอปรับยุทธศาสตร์ดึงลงทุน 8 เดือนแรกยอดขอรับส่งเสริมฯ ทะลุ 4.65 แสนล้าน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดบีโอไอไฟเขียวลงทุน 6 โครงการมูลค่า 4.1 หมื่นล้านบาทพร้อมปรับยุทธศาสตร์ใหม่ส่งเสริมการลงทุนเชิงลึก มั่นใจทั้งปียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนตามเป้า 6 แสนล้านบาท หลัง 8 เดือนแรกยอดขอรับฯ ทะลุ 4.65 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) นัดแรกของรัฐบาล โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เป็นประธานเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้อนุมัติการส่งเสริมโครงการลงทุน รวม 6 โครงการ มูลค่า 41,086 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท 2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท

3. โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท 4. โครงการ Data Center บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด มูลค่าลงทุน 3,586 ล้านบาท 5. โครงการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่าลงทุน 9,314 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ และ 6. โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยว บริษัท ส้งเฉิง โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 9,540 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้รายงานถึงภาพรวมคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,375 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 และมีมูลค่าเงินลงทุน 465,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ โดยมั่นใจภายในปีนี้ยอดส่งเสริมลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 6 แสนล้านบาท

ด้านคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือนแรก มีจำนวน 801 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุน 365,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 90,346 ล้านบาท อันดับ 2 สิงคโปร์ เงินลงทุน 76,437 ล้านบาท และอันดับ 3 ได้แก่ ญี่ปุ่น เงินลงทุน 40,554 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (2567-2570) ควบคู่ไปกับนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญต่อ 5 อุตสาหกรรมมีเป้าหมายผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ

นายนฤตม์กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีจากนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อการลงทุนทั่วโลก เพราะมีการปรับโครงสร้างซัปพลายเชนครั้งใหญ่ และเกิดการย้ายฐานการลงทุนมุ่งหน้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทย เนื่องจากมีความโดดเด่น ด้วยจุดแข็งที่อยู่ใจกลางอาเซียน ขณะที่ยังมีซัปพลายเชนที่พร้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ การเสนอยุทธศาสตร์เชิงรุกในครั้งนี้ บีโอไอจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เพื่อสร้างมาตรการใหม่ๆ และพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น