xs
xsm
sm
md
lg

4 ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาให้ “ครอบครัวยากจนของจีน” / สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โลกตะวันตกที่เจริญก้าวหน้าทางปัญญา สำหรับผมแล้วคือกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกตอนเหนือ เช่น เยอรมนี ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดนและเดนมาร์ก เป็นต้น เพราะพวกเขามอง ”การศึกษา”เป็นการสร้างความเท่าเทียมของคนในสังคม 

ดังนั้นการศึกษาจึงกลายเป็น “นโยบายให้ฟรี” หรือ “ให้เปล่า” แก่คนทุกคนในสังคม ซึ่งเป็นการให้การศึกษาฟรีตั้งแต่การศึกษาระดับต้นจนกระทั่งถึงปริญญาเอก นโยบายสวัสดิการด้านการศึกษาแบบนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนที่สนใจการศึกษาไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใดจะได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยที่การศึกษาไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวของนักเรียนและนักศึกษา

จุดเด่นของระบบการศึกษาแบบนี้ ประการแรก นักศึกษาได้รับการส่งเสริม และพัฒนา ความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนถึงในระดับโลกได้ และประการที่สอง การศึกษาเป็นเครื่องมือของสังคมและรัฐเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (civic education) ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและร่วมกันสถาปนาการปกครอง ทุกระดับชั้นตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ

แตกต่างจากการศึกษาของประเทศทุนนิยมเสรี เช่นสหรัฐอเมริกาที่การศึกษาเป็นเรื่องของธุรกิจการค้า ผู้ที่จะสามารถเข้าศึกษาต่อได้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถแล้วก็ยังต้อง มีทุนทรัพย์สำหรับเป็นค่าเล่าเรียนด้วย

การศึกษาในระบบนี้ เรียนเรื่องสถาบัน โครงสร้าง ระบบและกลไกการทำงานของระบบ แต่ไม่เรียนเรื่องคน

ผู้ที่ผ่านระบบการศึกษาแบบนี้ มักมีทัศนคติที่มุ่งแสวงหาความสำเร็จของตัวเองเป็นใหญ่ ซึ่งคือความมั่งคั่ง ชื่อเสียง ตำแหน่งและเกียรติยศของตนเอง ระบบการศึกษาแบบนี้เพิกเฉยต่อการสร้างความสำนึกรับผิดชอบต่อเพื่อนๆครอบครัว คนรอบข้าง ชุมชน สังคมและประเทศของตนเอง การศึกษาของระบบนี้ไม่ให้ความสำคัญและไม่ให้ความสนใจกับปัญหาของสังคม เพราะถือเป็นเรื่องของรัฐบาล

แต่สำหรับประเทศจีนแล้ว พวกเขามีมุมมองทางด้านการศึกษาของตนเองที่แตกต่างจากสังคมทุนนิยม มุมมองทางด้านการศึกษาของจีนประกอบด้วย

ประการแรก การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ จีนเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่ส่งคนไปเหยียบโลกพระจันทร์ได้สำเร็จ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาจีนได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี จนทัดเทียมกับบรรดาประเทศตะวันตกชั้นนำของโลกแล้ว

สาเหตุที่จีนทุ่มเทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมากนั้น เพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์ที่เคยตกเป็น “ กึ่งเมืองขึ้น” ให้แก่ชาติมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่นมาก่อน พวกเขาตระหนักดีว่าความล่มสลายของประเทศจีนในอดีตมาจากการที่จีนไม่ได้สนใจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั่นเอง

ยิ่งในช่วงเวลาปัจจุบันที่จีนถูกคุกคามด้วยกำลังอาวุธจากประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร คืออังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตลอดจนการประกาศสงครามทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีการควบคุมเทคโนโลยีระดับสูงทั่วโลกเพื่อป้องกันมีให้จีนมีโอกาสเรียนรู้ และ เข้าถึงได้ ก็ยิ่งทำให้จีนต้องส่งเสริมความรู้และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

ประการที่สอง จีนถือว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดในการเอาชนะปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางและครอบคลุมถึงเด็กและเยาวชน จากทุกครอบครัวที่ยากจนจึงถือเป็น “เข็มมุ่ง” (directive) สำคัญ ของรัฐบาลที่บรรดาสมาชิกพรรคและข้าราชการทุกคนในประเทศต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

ประการที่สาม ระบบการศึกษาของจีนเป็นการรื้อฟื้นภูมิปัญญาของบรรดานักปราชญ์ชาวจีนตั้งแต่ยุคโบราณ เช่นเม่งจื้อ เล่าจื้อ ขงจื้อ ฯลฯ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การประพฤติปฏิบัติที่ดี ความซื่อสัตย์สุจริต และความภักดีต่อประเทศ ความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และการปกครองที่ดี เป็นต้น

ปรัชญาและคำสอนของบรรดานักปราชญ์จีนช่วยให้เด็กและเยาวชนคนจีนรุ่นใหม่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นจีนเอาไว้ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิเสธวัฒนธรรมความเชื่อ และค่านิยมในเรื่องของปัจเจกบุคคลและการมุ่งแสวงหาแต่ความร่ำรวยของตนเองโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมแบบของชาติตะวันตก

ระบบการศึกษาของจีนจึงเป็นการต่อยอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบรรดาประเทศตะวันตก เพื่อสร้างชาติให้เข้มแข็ง ให้สามารถป้องกันภัยคุกคามจากต่างชาติได้


ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การศึกษาของจีน ไม่เพียงแต่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความสามารถที่จะรับมือภัยคุกคามจากภายนอกทั้งทางด้านสงคราม เศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี และการทูต แต่คนจีนยังสามารถรักษาอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของความเป็นจีนเอาไว้ได้ด้วย

การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาครอบครัวที่ยากจนของจีนเน้นไปที่การขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับและ อาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อให้นักเรียนสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือเป็นผู้ประกอบการในอนาคต การศึกษาแบบนี้เป็นการตอบโจทย์ของเด็กนักเรียนที่ยากจนได้ดีที่สุด

รัฐบาลโดยการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชนได้ลงทุนสร้างโรงเรียน หรือสถาบันอาชีวะด้านการท่องเที่ยว หรือทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากในพื้นที่ๆ เป็นเขตที่มีความยากจน

เด็กนักเรียนอาชีวะของจีนจะมีโอกาสในการเลือกเรียนทางด้านเครื่องกลทางการเกษตรแบบก้าวหน้า อีคอมเมิร์ซ การจัดการทางด้านโลจิสติก การทำการเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม โรงเรียนพยาบาล การบำรุงรักษาและการทำงานของเครื่องจักรกล การใช้เครื่องมือทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ การบริหารจัดการโรงแรมในระดับห้าดาว การใช้คอมพิวเตอร์ การตัดผมและการออกแบบ การแสดงและดนตรี การดูแลรักษารถยนตร์พลังงานสมัยใหม่ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ โรงเรียนเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถขจัดความยากจนของตนเองและครอบครัวให้ได้

การศึกษาแบบอาชีวะอาจเป็นการศึกษาเรื่องอาชีพโดยเฉพาะ หรือในบางพื้นที่อาจเอาการศึกษาในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายไปรวมกับการศึกษาแบบอาชีวะด้วยก็ได้ ที่เรียกกันว่าการฝึกหัดงานแบบ “3+2” และ ” 3+4” ซึ่งเป็นการศึกษาอาชีวะในระดับสูงและการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่และการฝึกหัดงานระยะสั้น

โรงเรียนอาชีวะแบบนี้ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการผลิตและการบำรุงรักษารถยนต์ เครื่องมือคอมพิวเตอร์ การจัดการด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยีการผลิตทางด้านการเกษตรและรถยนต์ที่ใช้พลังงานแบบใหม่

โรงเรียนอาชีวะแบบนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ธุรกิจเป็นผู้ลงทุนในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือการจ้างผู้เชี่ยวชาญ ครูและผู้ช่วย รวมทั้งการจัดหาทุนการศึกษาให้แก่ทั้งนักเรียนและอาจารย์ผู้สอน โรงเรียนกับธุรกิจใช้วิธีการร่วมมือกันในการสอน ใช้โรงงานเป็นฐานในการสอนแก่นักศึกษา การจ้างงานและการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนอาชีวศึกษาพร้อมกันไปด้วย

รูปแบบของการร่วมมืออาจอยู่ในรูปของ “การศึกษาแบบอาชีวศึกษา + วิสาหกิจเอกชน” “ การศึกษาแบบอาชีวศึกษา+ สหกรณ์การเกษตร” “ การศึกษาแบบอาชีวศึกษา+ คณะกรรมการของหมู่บ้าน” 

หรืออาจจะเป็นโมเดลการร่วมมือแบบอื่นๆเช่นการใช้ “Wechat+ โมเดลการเรียนรู้และการให้บริการ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการฝึกหัดและการสอน เป็นต้น โดยการเรียนรู้จริงจากการปลูกเห็ดในกรีนเฮาส์ หรือลูกเชอรี่ แตงโม และลูกแพร์

นโยบายการศึกษาของรัฐบาลที่จะขจัดความยากจนให้แก่ครอบครัวที่เป็นเป้าหมายประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมายรับเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนให้ตรงตัว การปรับปรุงระบบการศึกษาที่ช่วยเหลือและเอื้ออำนวยอย่างตรงเป้าหมายเพื่อให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นสามารถจบการศึกษาได้จริง และสุดท้ายคือการวางแผนช่วยเหลือให้เด็กที่ยากจนมีงานทำได้จริงๆนโยบายต่างๆเหล่านี้ที่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างตรงตัวได้แก่

ประการแรก การรับเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนให้ตรงตามเป้าหมาย ( targeted enrollment) มีการช่วยวางแผนเรื่องของอาชีพและวิชาที่จะเรียน โดยการร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมและเป้าหมายในการขจัดความยากจน ดังนั้นเด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจนทั้งหมดจะต้องได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับการศึกษาต่อ

ประการที่สอง การปรับปรุงระบบ การศึกษาเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงเป้าหมาย (targeted assistance) เด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจนจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน ค่ายานพาหนะ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต (ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือภาคธุรกิจเอกชน) เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ครอบครัวที่ยากจน

ประการที่สาม การศึกษาต้องเป็นไปอย่างตรงเป้าหมาย (targeted education) ให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจน เพื่อให้เขาสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมืออาชีพเมื่อเรียนจบ แล้ว กลไกที่ช่วยผลักดันทางด้านการศึกษามาจากรัฐบาล องค์กรที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล และ การมีส่วนร่วมของธุรกิจเอกชน ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายแก่ครอบครัวที่ยากจนได้จริง และ

ประการที่สี่ การวางแผนเพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถได้รับการจ้างงานอย่างตรงเป้าหมาย (targeted employment ) ด้วยการออกแบบการศึกษาแบบ “หนึ่งคนหนึ่งยุทธศาสตร์” (one-person-one-strategy)

ยุทธศาสตร์ทางการศึกษาแบบนี้ทำให้เด็กนักเรียนที่เรียนจบโรงเรียนอาชีวะเกือบทั้งหมดมีงานทำและมีรายได้จากการจ้างงานประมาณ 3500 หยวน (17,500 บาท) ต่อเดือน หรือมีรายได้สุทธิมากกว่า 40,000 หยวน (200,000 บาท) ต่อปี

จากการศึกษาพบว่าระบบการศึกษาของจีนมีการพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะรัฐบาลลงทุนทางด้านการศึกษาอย่างมหาศาล พวกเขาใช้ระบบการศึกษาไปพัฒนาและต่อยอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันรัฐบาลส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางด้านการผลิต การค้า และการบริการ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและ อุตสาหกรรม การเกษตรเข้าไปสู่ระบบการศึกษาของเด็กนักเรียนชาวจีนอย่างกว้างขวางทั้งประเทศ 

ระบบการเรียนการสอนแบบนี้ในประเทศทุนนิยมไม่สามารถทำได้ทั่วไป ยกเว้นแต่ในประเทศทุนนิยมที่ก้าวหน้าเช่น ประเทศเยอรมนี เพราะรัฐบาลไม่สามารถจะบูรณาการการทำงานของสถาบันการศึกษาเข้ากับสถานประกอบการธุรกิจได้


ประสบการณ์ในการเรียนรู้เรื่องนโยบายทางด้านการศึกษาของประเทศจีนได้ให้แง่คิดบางประการกับเราว่า

ประการแรก นโยบายและการออกแบบระบบการศึกษาของแต่ละประเทศจะต้องพยามตอบจุดมุ่งหมายของประเทศตนเอง มากกว่าที่จะใช้การลอกเลียนแบบจากประเทศใดประเทศหนึ่งมาเป็นของตนเองแบบเถรตรงได้ เพราะการลอกเลียนแบบระบบการศึกษาของประเทศหนึ่งมาเป็นของตนเองจะไม่สามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ หากรัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหาของประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบระบบการศึกษาที่เป็นของประเทศไทยเองเพื่อตอบโจทย์ของประเทศไทยโดยตรง

ประการที่สอง การลอกเลียนแบบระบบการศึกษาของประเทศทุนนิยมที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทยอาจจะเป็นการทำลายอัตลักษณ์และความมีตัวตนของคนไทยในอนาคตได้ เพราะระบบการศึกษาเหล่านั้น เป็นเพียงการให้ “ ความรู้” ของประเทศตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว แต่มิได้ เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ ศาสนา จารีต ขนบธรรมเนียมและประเพณี ตลอดจนประวัติศาสตร์ของความเป็นคนไทยที่มีมาช้านานแต่อย่างใด

ระบบการศึกษาของตะวันตกไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และผู้มีพระคุณ รวมทั้งการศึกษาแบบตะวันตกยังไม่ได้รู้จัก “ความมีน้ำใจ”  “น้ำใสใจจริง” และความผูกพันระหว่างพี่น้อง เครือญาติและเพื่อนๆ ซึ่งเป็น ”รากเหง้า” ของความเป็น ”ไทย” ที่มีมาแต่เดิม


การศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตกจึงไม่ควรที่จะเป็นการเปลี่ยนคนไทย ที่มีสัมมาคารวะ สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตัว ให้กลายเป็นคนที่มีบุคลิกแข็งกระด้าง ก้าวร้าว ดื้อรั้น ดูหมิ่นคนอื่น เชื่อมั่นแต่ตนเองและและมีพฤติกรรมยโสโอหังแบบตะวันตก

บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา


Clip Cr. UNICEF

ในคลิป จีน : ทำการปรับปรุงการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ยากจนที่สุด (เมื่อปี 2014) รูปแบบใหม่ของการศึกษากำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนของครูและนักเรียนในประเทศจีน ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ กระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับการสนับสนุนจากยูนิเซฟ กำลังนำร่องรูปแบบการเรียนรู้ในโรงเรียน 250 แห่งใน 5 พื้นที่ที่ยากจนที่สุดและห่างไกลที่สุดของประเทศ ระหว่างภารกิจห้าวันในประเทศ แอนโธนี เลค ผู้อำนวยการบริหารของ UNICEF ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้แก่ โรงเรียนประถมศึกษามิกซ์อิน ในพื้นที่ห่างไกลของมณฑลยูนนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น