xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจปรับตัวสู่กระแสยั่งยืน เกิดอะไรขึ้นในรอบ 10 ปี / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บทความนี้ผมขอสื่อสารในโอกาสที่ Green Innovation &SD สื่อในเครือผู้จัดการ ได้ทำหน้าที่มาครบรอบ11ปี จึงขอประมวลเหตุปัจจัยของการเกิดปรากฏการณ์สำคัญและผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยขอเป็นพลังบวกต่อชีวิตและการงานของท่านผู้อ่าน ให้ก้าวต่อไปอย่างทันการณ์และทันเกมส์นะครับ

ในจังหวะนี้ ขอเน้นข้อมูลเหตุการณ์สำคัญช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการทำงานสื่อสารมวลชนสายการบริหารในยุคที่มีกระแสความคาดหวังให้กิจการต่างๆมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงความถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ผู้นำและผู้บริหารองค์กรแบบนี้จึงต้องมี "จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม" อย่างจริงใจ เป็น ”รากแก้ว”แล้วแผ่กิ่งก้านเป็นความรับผิดชอบที่ฝังอยู่ในกระบวนการธุรกิจทุกขั้นตอน( CSR-in-pocess) คือมี ”ความเก่งและดี” ในการบริหารงาน โดยคำนึงถึงการไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ลูกค้า คู่ค้าและชุมชน)

ขณะที่กิจกรรม CSR ประเภทส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น คล้ายการสร้างบุญกุศล โดยไม่มุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ (CSR-after-process) 

พัฒนาการของแนวคิด CSR ยังได้พัฒนารูปแบบอื่นๆ เช่น ส่งเสริมสังคมชุมชน ด้วยกลยุทธ์การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) และรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม(SE)

แต่ปัญหาด้านสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ยังสะสมเพิ่มทั้งจากความโลภและคนขาดจิตสำนึกความรับผิดชอ (Accountability) ยิ่งซ้ำเติมจนเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้นำระดับโลกต่างกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวคิดเรื่อง”การพัฒนาอย่างยั่งยืน”(Sustainable Development) หรือ SD จึงเริ่มกระหึ่มขึ้นจนเป็นกระแสโลก ให้นักบริหารคำนึงถึงผลลัพธ์ 3 มิติ คือ People คน : ทั้งในองค์กรและสังคม Planet โลกใบนี้ : ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Profit / Prosperity กำไร / ความมั่งคั่ง ที่มองแง่เศรษฐกิจ

ปัจจุบันหลักการนี้มีการสื่อสารที่บอกแนวทางชัดกว่า ก็คือ ESG ซึ่งเป็น 3 เครื่องยนต์ของแนวทางการขับเคลื่อน กิจการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เริ่มต้นสืพูดกันในตลาดทุน ซึ่งต้องการลงทุนที่ลดความเสี่ยงและมุ่งหวังผลดีในระยะยาว จึงเป็นที่ยอมรับกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนต้องอยู่ในแนวทางนี้มีการจัดทำ “รายงานความยั่งยืน” เป็นประจำทุกปี


ขณะเดียวกันเมื่อกระแสใหญ่ของโลกเมื่อปี 2015 ผู้นำ 193 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจากประเทศไทยได้ไปร่วมลงนามสนับสนุน”เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”(Sustainable Development Goals) หรือ SDGs และยืนยันจะร่วมกันผลักดันการแก้ปัญหาของโลก 17 ข้อ ให้บรรลุเป้าหมายภายใน 15 ปีคือ ค.ศ.2030

โดยเฉพาะ SDG ข้อ13 รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ClimatAction) ซึ่งเป็นวิกฤตภัยธรรมชาติ ที่ประเทศต่างๆบนโลกใบนี้รับรู้ถึงผลร้ายแรงกันมาแล้ว ที่เจอทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุรุนแรง อากาศเป็นพิษ หนาวจัด ร้อนจัด ฤดูกาลผิดเพี้ยนไป และไฟป่า ที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น

ถึงตอนนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นมาก ทั้งๆที่ผ่านจากจุดเริ่มต้น SDGs ปี 2015 ที่มีเป้าหมายแก้ปัญหาใหญ่ของโลก17หัวข้อให้สำเร็จภายในปี 2030 ขณะนี้2023 แล้ว เราเหลือเวลาอีก 7 ปีกว่า แต่ผลลัพธ์ยังห่างจากเป้ามาก
จนเลขาธิการสหประชาชาติ ถึงกับพูดในที่ประชุมรัฐภาคีของกรอบอนุสัญญา ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27(COP27)เรียกร้องให้คนทั่วโลกร่วมมือกันจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์


“มนุษยชาติมีทางเลือกคือ ร่วมมือกันหรือพินาศ มันเป็นไปได้ทั้งการยึดมั่นร่วมกันทำตามข้อตกลงสภาพภูมิอากาศ หรือเป็นข้อตกลงเพื่อฆ่าตัวตายร่วมกัน”

เขายังเตือนว่าโลกตอนนี้ "เรากำลังอยู่บนถนนที่มุ่งหน้าสู่นรกด้านสภาพภูมิอากาศ โดยที่เท้าของเรายังคงเหยียบคันเร่งอยู่"

อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้ เลขาธิการสหพันธภาพระบุว่า ขณะนี้ไม่ใช่แค่เป็นภาวะ "โลกร้อน" แต่มันเป็น "โลกเดือด"

ดังนั้น การกระตุ้นให้ประเทศต่างๆเร่งเครื่องสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเข้มข้นขึ้นมีกฎกติกาบังคับ เช่นสหภาพยุโรปออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) โดยช่วงแรกตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31ธันวาคม 2568 ผู้ส่งสินค้าเข้าไปในยุโรปจะต้องทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิต และตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้อง ซื้อใบรับรองตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอน และหากฝ่าฝืนไม่มีการรายงานจะมีโทษปรับอีกด้วย

ครั้งนี้ ในช่วง 2 ปีแรกดังกล่าว สหภาพยุโรปจะเข้มงวดกับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. เหล็กและเหล็กกล้า 2. อะลูมิเนียม 3. ซีเมนต์ 4. ปุ๋ย 5. ไฟฟ้า 6. ไฮโดรเจน

ส่วนประเทศไทยมีมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยลดภาษีให้ผู้ผลิต และให้สิทธิ์ส่วนลดแก่ผู้ซื้อ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แก่ภาคเอกชน และเริ่มมีระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ขณะที่มีการเปิดตัวแนวทางฺ BCG ในการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค เมื่อปลายปี 2565 และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ก็เป็นแนวทางส่งเสริมต่อเป้าหมาย SDGs เพราะโมเดล BCG ประกอบด้วย

Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการนำทรัพยากรชีวภาพจากพืชและสัตว์มาพัฒนาด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า

Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน วิธีใช้ผลิตภัณฑ์เต็มวงจรชีวิตพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม]ลดของเสียที่จะทิ้ง เปลี่ยนเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตของใหม่

Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว สร้างความยั่งยืนลดกาซเรือนกระจก ผลิตพลังงานจากแสงแดดและลม  ลดของเสีย

ตัวอย่างมาตรการเข้มงวดที่จะเริ่มผ่านกลไกสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแหล่งจัดสรรเงินทุน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีหน่วยงานใหม่ที่ผลักดันให้เกิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืน และส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเร็วๆนี้มีการประกาศใช้ "มาตรฐานการจัดหมวดโครงการหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม" (Thailand Taxonomy) ระยะที่1 เพื่อเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาธุรกรรมทางการเงิน โดยจะเริ่มใช้เข้มงวดกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 70%

ทั้งนี้ Thailand Taxonomy จะประเมินเป็น 3 ระดับคล้ายระบบสัญญาณไฟจราจร ได้แก่

สีเขียว กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นผลิตด้วยพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลม

สีเหลือง กิจกรรมที่อยู่ระหว่างการปรับตัว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สีแดง กิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขสีเขียวหรือสีเหลือง ระดับนี้จะหาแหล่งเงินลงทุนหรือเงินกู้ลำบาก เพราะธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสูง ขณะเดียวกันธนาคารก็มีความเสี่ยงหากปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่เป็นสีแดงมาก


ข้อคิด….
โดยภาพรวมของกลไกและกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางนั้น ขณะที่ 3 เครื่องยนต์ของการขับเคลื่อน คือแนวทาง ESG หลักสำคัญจะต้องบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล ทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม(G) ซึ่งจะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (E) และรับผิดชอบต่อสังคมหรือผู้มีส่วนได้เสีย (S)

ขณะที่แนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ กลยุทธ์ฺ ฺBCG ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติ

แต่ทั้งนี้ควรมีเป้าหมายการพัฒนาภายใน หรือ IDG (Inner Development Goals)ให้มีความคิด ความเชื่อ จิตสำนึก และความรู้สึกปรารถนาดีต่อผู้เกี่ยวข้อง ต่อสังคม ต่อธรรมชาติและต่อโลก การกระทำจึงอยู่ในแนวทาง ESG แล้วส่งผลให้ SDGs บรรลุเป้าหมายได้

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว เป็นประธานมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 20 (ประจำปี 2562-2563) ประเภทสื่อมวลชน แก่ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล บรรณาธิการอำนวยการ Green Innovation & SD สื่อในเครือผู้จัดการ เป็นผู้รับมอบ จากผลงานด้านการส่งเสริมและให้ข่าวสารความรู้ในแนวทาง ESG เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการนำเสนอกรณีศึกษาเพื่อการแก้ไขและมุ่งเสริมสร้างจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น