xs
xsm
sm
md
lg

บางจากฯ ผนึกพันธมิตร ต่อยอดสู่ “พรรณ D” คาร์บอนเครดิตจากพืชเกษตรยืนต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวานนี้ (23 ส.ค.2566) นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติการ/ธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายชาญวิทย์ ตรังอดิศัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “การพัฒนาโครงการด้านคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ การเกษตรและพลังงานหมุนเวียนกับกลุ่มสหกรณ์และเกษตรกรในเครือข่ายธุรกิจบางจากฯ และพันธมิตร” 

เพื่อสนับสนุนความร่วมมือ ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยี บุคลากร กระบวนการจัดการในโครงการด้านคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ การเกษตรและพลังงานหมุนเวียนกับกลุ่มสหกรณ์และเกษตรกรในเครือข่ายธุรกิจบางจากฯ และพันธมิตร ให้สอดคล้องกับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ผ่านกิจกรรมในแปลงพืชเกษตรยืนต้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล เป็นต้น และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองเพื่อลดต้นทุนทางการผลิต สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด สร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าร่วมจากกระบวนการคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้น




นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท บางจากฯ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบางจากให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Balancing the Energy Trilemma) คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) การเข้าถึงพลังงาน (Energy Affordability) ความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) 

"วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของบางจากฯ คือเครือข่ายสหกรณ์การเกษตร มีโอกาสเข้าถึงพลังงานสะอาดและมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม"

ปัจจุบัน บางจากฯ มีสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,360 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งกว่า 600 แห่งเป็นสถานีบริการน้ำมันชุมชนหรือปั๊มชุมชน ดำเนินการโดยเครือข่ายสหกรณ์การเกษตร ครอบคลุมกว่า 1 ล้านครัวเรือน ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจที่บางจากฯ ให้ความสำคัญในการดูแลและทำงานร่วมกันมาตลอดเวลากว่า 33 ปี ที่จัดตั้งปั๊มชุมชนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นที่น่ายินดีที่ได้รับทราบว่า ผู้นำสหกรณ์การเกษตรมีแนวโน้มต้องการมีส่วนร่วมในการป้องกันภาวะโลกร้อน สนใจจะใช้พลังงานหมุนเวียนรวมถึงต้องการมีส่วนร่วมในโครงการด้านคาร์บอนเครดิตจากภาคการเกษตร สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และแผนด้านความยั่งยืนของกลุ่มบริษัทบางจาก จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือนี้ และขอขอบคุณพันธมิตรทุกองค์กรที่มาร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ริเริ่มและรับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงความเป็นมาของความร่วมมือดังกล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากการที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญกับการร่วมป้องกันภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก สำหรับกลุ่มบริษัทบางจาก ได้กำหนดแผนงาน BCP316NET เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ครอบคลุม 4 แนวทาง คือ

B = Breakthrough Performance (ด้วยสัดส่วน 30%) เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง
การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

C = Conserving Nature and Society (10%) สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ 

P = Proactive Business Growth and Transition (60%) เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ 

และ NET Zero Ecosystem การสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero

"ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรและจากพลังงานหมุนเวียน จากการที่สหกรณ์การเกษตรผู้ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันชุมชนของบางจากฯ ส่วนหนึ่งประกอบธุรกิจพืชเกษตรยืนต้น โดยมีการดูแลเป็นอย่างดีและมีแผนปรับปรุงการใช้ปุ๋ย รวมถึงผู้ประกอบการสหกรณ์การเกษตรจำนวนมาก ต้องการปรับเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองเพื่อลดต้นทุนทางการผลิตและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด บางจากฯ จึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร รวมถึงกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยจะให้ความรู้เกี่ยวกับโลกร้อน การร่วมดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตจากพืชเกษตรยืนต้นกับบางจากฯ หรือติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการและผู้ประสานงานหลัก สื่อสารประชาสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย สร้างความรู้ความเข้าใจ และร่วมสำรวจพื้นที่ ติดตามการดำเนินงานกับทีมงานจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ด้วยความสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อร่วมผลักดันโครงการให้ผ่านการขึ้นทะเบียนและการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อันเป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดปัญหาโลกร้อน โดยนอกจากป่าไม้หรือพืชเกษตรยืนต้นจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังมีคาร์บอนเครดิตที่มีมูลค่าสามารถสร้างรายได้ สำหรับประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนเครดิตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับกระแสการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อน และเป็นหนทางที่จะนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงรู้สึกยินดีที่จะได้ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินโครงการในระดับพื้นที่ รวมถึงร่วมประชาสัมพันธ์ สนับสนุนข้อมูล ความรู้และบุคลากร ฯลฯ นอกจากนี้ จะศึกษาโอกาสที่จะขยายผลสู่สหกรณ์อื่น ๆ ในอนาคต เนื่องจากความร่วมมือครั้งนี้นอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตคาร์บอนต่ำผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรแล้ว ยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย BCG Economy เป็นอย่างดีอีกด้วย”

นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติการ/ธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิ แม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจแปลงป่าเพื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ การให้ความรู้และสร้างทักษะ พร้อมทั้งถ่ายทอดกระบวนการทำงาน และเป็นที่ปรึกษาแก่ชุมชนที่ต้องการ เพื่อให้ชุมชนมีฐานข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอนฯ อย่างเป็นระบบ พร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ ภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยผ่านหน่วยงานภาครัฐ โดยภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ และได้รับคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตน ในขณะที่ชุมชนเกิดรายได้เสริมจากการดูแลป่า ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบกองทุนดูแลป่าชุมชนและกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน สามารถใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลรักษาป่าต่อไป ซึ่งบางจากฯ ก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ ตั้งแต่ระยะพัฒนาระบบ (พ.ศ. 2563-2565) และระยะขยายผลหลังปี พ.ศ. 2566 ในวันนี้มูลนิธิฯ จึงมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือกับบางจากฯ ในอีกหนึ่งบทบาท เพื่อร่วมให้คำปรึกษาในการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต โดยจะร่วมลงพื้นที่ สำรวจและกำหนดขอบเขตโครงการ รวมถึงติดตามงานเพื่อพัฒนาเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) เพื่อขึ้นทะเบียนและรับรองเครดิตสนับสนุน ผลักดันการดำเนินโครงการฯ ให้ผ่านการขึ้นทะเบียนและการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ”

นายชาญวิทย์ ตรังอดิศัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทของบริษัท บีซีพีจีฯ ในความร่วมมือครั้งนี้ว่า “บีซีพีจี เป็นบริษัท ผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชนิดต่าง ๆ แล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สำหรับความร่วมมือนี้ นอกจากบีซีพีจีจะร่วมบริหารจัดการการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับสหกรณ์การเกษตรที่สนใจแล้ว ยังจะร่วมสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรในด้านความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต แนวปฏิบัติคาร์บอนต่ำ การรักษาผลผลิตและระบบบริหารข้อมูลดิจิทัลที่สอดคล้องกับการจัดการกิจกรรมในแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนโอกาสที่จะซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทฯ โดยจะจัดการฝึกอบรม แบ่งปันข้อมูลความรู้ การติดตาม การตรวจทานที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงการฯ ตามความเหมาะสม”

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือในวันนี้ บางจากฯ และพันธมิตรจะจัดทำโครงการ “พรรณ D” คาร์บอนเครดิตจากพืชเกษตรยืนต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในภาคธุรกิจผ่านออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรที่สนใจจะร่วมโครงการ โดยได้นำร่องสำรวจความต้องการของสหกรณ์การเกษตรมาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมเริ่มโครงการทั้งสอง ในเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น