จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ประเด็นเงินเฟ้อ และแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นมาที่ 2.74 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเติบโต 7.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมกองทุนทั่วโลกที่ 4%
กองทุนในยุโรปยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของการลงทุนอย่างยั่งยืน คิดเป็น 84% ของมูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลก รองลงมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาในสัดส่วน 11% ตามมาด้วยกลุ่มประเทศในเอเชีย (ไม่นับรวมญี่ปุ่น) เป็นอันดับสามของโลก
โดยในภูมิภาคเอเชีย เม็ดเงินลงทุนในกองทุนยั่งยืน มีมูลค่ารวม 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 3.1% ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการลงทุนในประเทศจีนถึง 68% ตามมาด้วยไต้หวันและเกาหลีใต้ที่ 17% และ 11.6% ตามลำดับ
สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากกองทุนยั่งยืนส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนต่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนยั่งยืนในประเทศไทยขึ้นมาอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยมีเงินไหลออกสุทธิ ราว 2 ร้อยล้านบาท
อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่ากองทุนยั่งยืนมีเม็ดเงินไหลเข้า-ออกอย่างจำกัด โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ.2021 เป็นต้นมา ซึ่งอาจมีส่วนมาจากสภาวะการลงทุนที่มีปัจจัยลบค่อนข้างมากในช่วงปี ค.ศ.2022
ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่น่าลงทุนในกลุ่ม ESG Emerging ปี ค.ศ.2023 ด้วยการคัดเลือกจาก 888 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 16,445 จุดข้อมูล
โดยการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ในปีนี้ นับเป็นปีที่สี่ของการประเมิน ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลการดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG ตามที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ และผ่านเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ ตามหลักการ CORE Framework เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน
สำหรับหลักทรัพย์ที่ติดกลุ่ม ESG Emerging ปี ค.ศ.2023 ซึ่งได้เข้าอยู่ในทำเนียบ ESG100 เป็นครั้งแรก มีจำนวน 15 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย AAI AWC BRR BVG DEXON ITC PLANB POLY PRI PRIME SICT SISB TLI WHA WHAIR
ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้คัดเลือกและจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการพลิกฟื้นกลุ่ม ESG Turnaround เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและมีปัจจัย ESG สนับสนุน
สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Turnaround ประกอบด้วย AOT BA BAFS CENTEL ERW MINT SEAFCO SHR SPA THRE รวมจำนวน 10 หลักทรัพย์
โดยการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการพลิกฟื้นกลุ่ม ESG Turnaround ในปีนี้ นับเป็นปีแรกของการจัดทำรายชื่อบริษัทที่มี ESG ซึ่งได้ตามเกณฑ์ในรอบปีการประเมิน แต่ยังมีผลประกอบการติดลบหรือต่ำกว่าตลาด (Underperform) โดยมีสัญญาณการพลิกฟื้นและโอกาสในการไต่ระดับขึ้น (Upside) ของราคาหลักทรัพย์ จากการฟื้นตัวของตลาด และศักยภาพในธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ของกิจการที่มี ESG เป็นปัจจัยสนับสนุน
ผู้ลงทุนที่สนใจศึกษาข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thaipat.esgrating.com
* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG100, ESG Emerging, ESG Turnaround รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ประธานสถาบันไทยพัฒน์