xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมาภิบาล” จำเป็นอย่างไร ในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



●วงการธุรกิจในกระแสโลกให้ความสำคัญกับการบริหารที่คำนึงถึง ESG คือ 1.เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(Environmental) 2.รับผิดชอบต่อสังคม (Social) 3.มีธรรมาภิบาล(Governance)

●กิจการที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล(G) ผู้บริหารจะมีชุดความคิด(Mindset) ในการทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นเข็มทิศที่มุ่งจะไม่สร้างผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม(E)และสังคม (S) ในทุกมิติ


1.หลักธรรมาภิบาลคืออะไร?
สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ เผยแพร่แนวคิด”ธรรมาภิบาล”หรือ Good Governance ว่าหมายถึง การบริหารกิจการบ้านเมือง สังคม องค์กรหรืธุรกิจ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต(Honesty) การเปิดเผยโปร่งใส(Transparency) ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (Accountability) ความยุติธรรม (Fairness) มีคุณภาพและประสิทธิภาพ( Quality and Efficiency)และมีมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม(General Ethical and Moral Standard) เป็นหลักที่มีคุณค่าสำคัญมาก จึงควรนำมาใช้ในการดำเนินงาน ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เพื่อนำพาให้สังคมและธุรกิจโดยรวมมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ มีคุณธรรม และเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้หลักธรรมาภิบาลคือหัวใจในการดำเนินธุรกิจ ที่มีผลดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders)ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับผลประโยชน์ที่ยุติธรรม ตั้งแต่ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และชุมชน

2. ทำไมธุรกิจจำเป็นต้องมีธรรมาภิบาล
ปัจจุบันภาคธุรกิจไทยมีวิสาหกิจทั้งสิ้นประมาณ 2.8 ล้านกิจการ ในจำนวนนี้เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือSMEs (คนงานไม่เกิน 200 คน)มีถึง 99%( 40% เป็นธุรกิจขนาดเล็กมาก อยู่นอกระบบการจดทะเบียนตามกฎหมาย) SMEs จึงเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ครอบคลุมทุกด้านของการผลิต และมีผลผลิตที่เป็นมูลค่าถึง 40% ของรายได้ประชาชาติ (GDP)

แต่การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับ ”ความน่าเชื่อถือ”จากลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งสถาบันการเงิน ส่วน”ความน่าเชื่อถือ” จะสร้างให้เกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องมี”ธรรมาภิบาล”อยู่ในการทำธุรกิจ

3.ผลที่ได้รับจากการมีธรรมาภิบาลคืออะไร?
เมื่อผู้บริหารธุรกิจทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม กระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ยอมใส่ใจในคุณภาพ ความปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ค้ากำไรเกินควร และไม่เอาเปรียบลูกค้าพนักงาน รวมทั้งผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องการคบค้าและสนับสนุน ธุรกิจที่มีความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีความยุติธรรม ก็พอใจและเชื่อถือ
กิจการเช่นนี้ย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และสถาบันการเงินย่อมอยากให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะเชื่อมั่นในความรับผิดชอบและมีคุณธรรมของธุรกิจที่ไปได้ด้วยดี

เมื่อธุรกิจเจริญเติบโตมีระบบการเงิน การจัดการ และระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน ธุรกิจSMEsยังสามารถนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์MAI เพื่อระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ ซึ่งต้นทุนการเงินก็ต่ำกว่าการกู้จากสถาบันการเงิน จึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ดีขึ้น

4.รางวัลสำหรับผู้มีธรรมาภิบาล
เพราะตระหนักถึงความสำคัญ ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ว่ามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างสำคัญ จึงต้องมีการสนับสนุนและให้กำลังใจในการพัฒนาธุรกิจ

สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาคมธนาคารไทย ได้จัดโครงการคัดเลือกและมอบรางวัลผู้ประกอบการธุรกิจSMEsที่มีธรรมาภิบาลดีเด่น เป็นประจำทุกปี เพื่อให้กำลังใจในการพัฒนาให้มีธรรมาภิบาล เพื่อเป็นประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย


"การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คือการที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตภายใต้หลัก "ธรรมาภิบาล”
ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ธรรมาภิบาล”คือทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นแก่ ลูกค้า พนักงาน สังคมและสิ่งแวดล้อมครบสอดคล้องกับหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ"

ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล

ประธานกรรมการสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์


ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล
"แนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมสังคม และธรรมาภิบาล(Environmental,Social, Governance : ESG ) ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆและเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องนำไปประกอบการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ที่ผ่านมาเราได้เห็นการปรับตัวในภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่

ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยจากการจ้างงานที่สูง นับว่ายังปรับตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นจึงเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศเมื่อเห็นธุรกิจ SMEs แสดงความตั้งใจที่จะปรับตัวมุ่งสู่ESGมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาสนฤพุฒิ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาสนฤพุฒิ
"สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล คัดเลือกองค์กรธุรกิจที่จะได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นในแต่ละปี เราได้เห็นความตื่นตัวขององค์กรธุรกิจต่างๆทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่มีการปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจภายโดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนร่วมกัน"

อาทิตย์ วุฒิคะโร

ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


อาทิตย์ วุฒิคะโร
"สมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกับสถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการสรรหา ตรวจเยี่ยม คัดเลือก จัดพิธีมอบรางวัลแก่ธุรกิจขนาดย่อมดีเด่นด้านธรรมาภิบาล และเผยแพร่แบบอย่างธุรกิจขนาดย่อมที่ดีเด่นด้านธรรมาภิบาลเป็นประจำปี

ทั้งนี้มุ่งหวังยกระดับมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมโดยการนำแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจองค์กรที่มีจริยธรรมย่อมเป็นที่ศรัทธาและเกิดความเชื่อมั่นจากลูกค้าพนักงาน ตลอดจนสังคมที่ได้รับรู้ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจอย่างยั่งยืน"

ผยง ศรีวณิช

ประธานสมาคมธนาคารไทย


ผยง ศรีวณิช