xs
xsm
sm
md
lg

คนรุ่นใหม่เลือกทำงานกับบริษัทที่ใฝ่ ESG / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีลอยท์ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ในเอกสาร 2023 Gen Z and Millennial Survey ต่อค่านิยมในการทำงานกับองค์กร 


พบว่า 44% ของกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 19-28 ปี) และ 37% ของกลุ่ม Millennial (อายุระหว่าง 29-40 ปี) ไม่ยอมรับที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากข้อกังวลด้านจริยธรรม ขณะที่ 39% ของกลุ่ม Gen Z และ 34% ของกลุ่ม Millennial ปฏิเสธที่จะทำงานกับบริษัทที่ดำเนินงานขัดกับค่านิยมของตน


การสำรวจนี้ มาจากการสอบถามกลุ่ม Gen Z จำนวน 14,483 คน และกลุ่ม Millennial จำนวน 8,373 คน รวม 22,856 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก

ประเด็นที่กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ให้ความสำคัญสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ค่าครองชีพ (35% ในกลุ่ม Gen Z และ 42% ในกลุ่ม Millennial) การว่างงาน (22% ในกลุ่ม Gen Z และ 20% ในกลุ่ม Millennial) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (21% ในกลุ่ม Gen Z และ 23% ในกลุ่ม Millennial)

ข้อห่วงใยด้านสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในอาชีพ โดยมากกว่าครึ่งของผู้ถูกสำรวจทั้งในกลุ่ม Gen Z (55%) และในกลุ่ม Millennial (54%) จะมีการศึกษานโยบายและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของแบรนด์บริษัทก่อนที่จะตอบรับเข้าทำงาน ขณะที่หนึ่งในหกของกลุ่ม Gen Z (17%) และกลุ่ม Millennial (16%) ได้มีการเปลี่ยนงานหรือสาขาอาชีพแล้วจากข้อห่วงใยด้านสภาพภูมิอากาศ และอีก 25% ของกลุ่ม Gen Z กับอีก 23% ของกลุ่ม Millennial แสดงความประสงค์ที่จะทำเช่นนั้นในอนาคต

สิ่งที่ผู้ถูกสำรวจ ต้องการให้บริษัทเพิ่มน้ำหนักความสำคัญต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่

• การอุดหนุนค่าใช้จ่ายพนักงานที่ใช้ตัวเลือกความยั่งยืน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ตัวควบคุมอุณหภูมิประหยัดพลังงาน เบี้ยจูงใจสำหรับใช้ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ

• การให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิถีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน

• การห้าม / ลดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในสำนักงาน / สถานประกอบการ

• การปรับปรุงซ่อมแซมสำนักงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ การติดตั้งระบบจัดการสำนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

• การปรับสภาพชุมชนในถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผลสำรวจความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พบว่า สี่ในห้าของผู้ถูกสำรวจต้องการให้ธุรกิจเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ มีการปรับสายอุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ขณะที่ สามในสิบของกลุ่ม Gen Z (30%) และกลุ่ม Millennial (29%) มีความอ่อนไหวต่อการฟอกเขียว (Greenwashing) โดยจะดูสิ่งที่บริษัทอ้างในการทำตลาดว่ามีการรับรองจากหน่วยงานภายนอกหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ และอีกราวหนึ่งในสาม (34%) ของทั้งกลุ่ม Gen Z กับกลุ่ม Millennial แสดงความประสงค์ที่จะทำเช่นนั้นในอนาคต

สำหรับประเด็นด้านสังคมที่กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial มีความกังวล ได้แก่ สุขภาพจิต (19% ในกลุ่ม Gen Z และ 14% ในกลุ่ม Millennial) การคุกคามทางเพศ (16% ในกลุ่ม Gen Z และ 8% ในกลุ่ม Millennial) และความเหลื่อมล้ำ (16% ในกลุ่ม Gen Z และ 10% ในกลุ่ม Millennial)

ผลสำรวจระบุว่า ความกดดันในการทำงาน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่ม Gen Z (52%) และกลุ่ม Millennial (49%) เกิดความเหนื่อยล้า (Burnout) โดย 36% ของกลุ่ม Gen Z และ 30% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกหมดแรงหรือกำลังถดถอยในงาน ขณะที่ 35% ของกลุ่ม Gen Z และ 28% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกไม่ผูกพันกับงานที่ทำ ไปจนถึงมีความรู้สึกแง่ลบหรือต่อต้านงานที่ทำ และอีก 42% ของกลุ่ม Gen Z กับอีก 40% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกดิ้นรนที่ต้องให้งานออกมาดีสมกับความสามารถ

ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของคนกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ยังเกิดจากสภาวะเดอะแบก หรือภาระที่โดนประกบแบบแซนวิช ที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งลูกเล็กและพ่อแม่สูงวัย โดย 34% ของกลุ่ม Gen Z และ 39% ของกลุ่ม Millennial มีภาระประจำที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งลูกเล็กและพ่อแม่หรือญาติสูงวัย ขณะที่ มากกว่าสี่ในสิบของคนกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ระบุว่าภาระรับผิดชอบดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพจิตของตน

ทำให้กว่า 80% ของผู้ถูกสำรวจ ระบุว่า จะมีการพิจารณานโยบายและการสนับสนุนของบริษัทในด้านสุขภาพจิต ก่อนตัดสินใจตอบรับเข้าทำงาน ซึ่งการให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้คงอยู่กับองค์กรได้อีกด้วย

บทความ : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น