ขณะนี้แรงกดดันให้องค์กรต่างๆ มีแนวคิดและแนวปฏิบัติ ESG ที่มุ่งความสำเร็จธุรกิจพร้อมกับดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นกระแสมาแรงยิ่งขึ้น !
นี่ไม่ใช่ภาษาดอกไม้หรือทางเลือกแบบ “สมัครใจ” แต่เป็นกติกาโลกที่ “ต้องทำ” ตามกฎระเบียบใหม่และจะมีออกมาเพิ่มขึ้นอีก เพื่อแก้ปัญหาและลดวิกฤตสภาพดินฟ้าอากาศโลกรวน ซึ่งเป็นผลของการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคอย่างไม่รับผิดชอบ
จึงมีแนวโน้มที่จะมีกฎระเบียบใหม่ๆ ที่จะออกมา “บังคับให้ทำดี” และลงโทษการกระทำที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกฎระเบียบที่มีอยู่แล้วในประเทศเรา เช่นการจัดระเบียบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงกติกาการค้าระหว่างประเทศ
ที่สหภาพยุโรปมีกติกาเข้มกับการตรวจรายละเอียดผู้ส่งสินค้าที่มีกระบวนการผลิตทำลายป่าไม้
เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างสมัครใจ ก็จะมีคนที่อยากทำตามความสะดวกอย่างไม่รับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้ เช่น การปล่อยควันพิษ การเผาป่า การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำสาธารณะ จึงต้องมีกฎหมายลงโทษ และจัดการเอาจริง
ดังนั้น กฎข้อบังคับที่มีอยู่และจะมีมากขึ้น ด้านหนึ่งจะถูกมองจากผู้ได้รับผลกระทบว่าเป็น “ภาระ” และ
เป็น “อุปสรรค” ต่อการทำตามใจชอบแบบในอดีตไม่ได้ แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้ หากต้องเข้าสู่เส้นทาง ”รักษ์โลก” เช่น ผู้ส่งสินค้าออกไปตลาดยุโรป
สำหรับกิจการที่คิดเชิงบวกและปรับตัวก่อน ก็เห็นเป็น “โอกาส” เพราะมีคุณสมบัติตามที่ลูกค้าต้องการ จึงถือว่าได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะด้อยโอกาสทางการตลาด
ยิ่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ แล้วตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคทันสมัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มมีแนวโน้มเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสังคมและห่วงใยสิ่งแวดล้อม
นี่จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับคนยุคใหม่ ซึ่งดูแค่อายุว่าเป็นคนหนุ่มสาว แม้คนสูงอายุที่แข็งแรงยังมีไฟ มีความรู้ ความคิดทันโลกที่ไม่เหมือนเดิม ที่เรียกว่า YOLD ( Young + Old ) ก็ถือเป็นคนทันสมัยได้ เพราะ ”แก่แต่ไม่เก่า”
เมื่อค่านิยมของสังคมโลกยุคใหม่ จะเลือกคบค้าและสนับสนุน กิจการที่เก่งและดี มีแนวปฏิบัติ ESG คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (E) รับผิดชอบต่อสังคม (S) มีธรรมาภิบาล (G)
ธุรกิจทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมในทุกด้านดังกล่าว จนเป็นที่รับรู้ของผู้เกี่ยวข้องและสังคม ก็สั่งสมกลายเป็น “แบรนด์องค์กรสีเขียว” หรือพูดในภาษาของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ ก็จะเรียกว่า “แบรนด์นายจ้างสีเขียว” (Green Employee Branding)
หมายถึงองค์กรที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับว่า บริหารจัดการธุรกิจในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความสมดุลใน 3 มิติ ESG แล้วเชื่อมโยงแนวปฏิบัติสู่ การบริหารทรัพยากรมนุษย์สีเขียว (Green Human Resource Management )
ขณะที่ รศ.ดร.จตุรงค์ นภาธร จากสถาบันวิจัยองค์กรที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง “การบริหารทรัพยากรมนุษย์สีเขียว” มีประเด็นน่าสนใจที่จำแนกให้เห็นพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างคนรุ่นใหม่ ต่อกิจการที่มีแบรนด์องค์กรสีเขียวดังนี้
1.รู้สึกภูมิใจมากหากมีการตอบรับเข้าทำงาน ในองค์กรที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการสีเขียว
2. ผู้สมัครงานรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง มีแนวโน้มจะนำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงถึง ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนขององค์กรเป็นอย่างดี
องค์การแบบนี้น่าเชื่อว่าจะดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานเป็นอย่างดีด้วย
3.คนรุ่นใหม่มักให้ความสนใจจะร่วมงานกับองค์กรที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงดีในการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง
ดังนั้น การสร้าง “แบรนด์นายจ้างสีเขียว” ให้เกิดขึ้น จึงมีผลดีต่อการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่กำลังหางานทำหรือผู้สมัครงานที่มีแนวคิด เชิงบวกต่อ “ธุรกิจรักษ์โลก” ที่มีการจัดการสีเขียวและดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี
ประจวบเหมาะที่ยูนิเวอร์ซัม บริษัทวิจัยระดับโลกได้เผยผลสำรวจตลาดแรงงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้เข้าตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ดังนี้
1. มีกลุ่มที่มองหาไลฟ์สไตล์สมดุลมากที่สุด(34%) ให้ความสำคัญกับ ความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน (Work-Life- Balance)
2. มองหาองค์กรที่มั่นคงและมีบรรยากาศการทำงานที่ดี อยากได้ผลตอบแทนสูงและมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
3. อยากทำงานในอุตสาหกรรมพลังงาน (เพิ่มขึ้น 19%) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการผลิตและการใช้แหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน
การสำรวจแสดงว่าให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนและต้องการ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น
สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ JOBTOPGUN ธุรกิจให้บริการเป็นตัวเชื่อมระหว่าง ”ผู้หางาน”และ ”บริษัทที่หาคน” ได้เห็นโอกาสในการสื่อสารการตลาด ให้ทั้งฝั่งบริษัทนายจ้างและตัวผู้หางาน โดยนำเสนอจุดเด่นเรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเพื่อให้ผู้หางานสามารถเลือกงานและบริษัทได้ตรงตามความต้องการ
ก็เป็นการสร้างแบรนด์นายจ้างให้ผู้สมัครงาน ได้รู้จักและเชื่อถือ เหมือนเวลาซื้อของที่เรามักจะเลือกแบรนด์ที่มีชื่อเสียงดีน่าเชื่อถือ
มีเครื่องมือที่เรียกว่า You Say / SR Say เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้พนักงานและบริษัทต่างๆ ได้มารีวิว สื่อสารเรื่องดีๆ ของบริษัท
ภายใต้หัวข้อ “ชีวิตดี งานดี เงินดี สังคมดี” ซึ่งเป็นสิ่งดีที่ผู้หางานอยากรู้และบริษัทอยากบอก
สมกับที่ไมค์ พาร์สันส์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของยูนิเวอร์ซัม กล่าวทิ้งท้ายว่า
“องค์กรที่สามารถสื่อสาร นโยบายและเป้าหมายของธุรกิจด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจน จะมีโอกาสดึงดูดคนเก่งรุ่นใหม่ ให้เข้ามาร่วมงานได้มากกว่า”