xs
xsm
sm
md
lg

ความท้าทายของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจในประเทศไทย / ดร สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การพัฒนาประเทศที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหา ขณะที่การสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรได้เต็มศักยภาพมีความจำเป็นเพื่อก่อให้เกิด “การทำน้อยได้มาก” ลดการพัฒนาแบบกระจุกตัว ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และลดระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมาก

จากการเปลี่ยนแปลง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทาง เศรษฐกิจของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของประเทศอันประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้าและบริการมูลค่าสูง ที่ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ การผลิตสินค้าและบริการ นำเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ที่ช่วยกำจัดข้อจำกัดให้เกิดการก้าวกระโดดของการพัฒนาต่อยอด สร้างการ เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง พร้อมกับการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุล ด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม


โมเดลเศรษฐกิจ BCG มีความสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น หลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่บูรณาการ การพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้าง มูลค่าเพิ่มจากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรมด้วยกลไก จตุภาคี ทั้งนี้กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (2) บริหาร จัดการ การใช้ประโยชนและบริโภคอย่างยั่งยืน (3) ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (4) เพิ่มมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการ ผลิตและบริการ และ (5) สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 มีการกำหนดว่าประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการ ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี พ.ศ.2561 รวมกัน 3.4 ล้าน ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ โดยอาศัยความได้เปรียบของความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพ ชีวิตที่ดีให้กับประชาชน


BCG ภาคป่าไม้

ดังได้กล่าวข้างต้นว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG บูรณาการ การพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้าง มูลค่าเพิ่มจากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม 

BCG ภาคป่าไม้จึงเป็นกรอบดำเนินงานที่กว้าง ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ของภารกิจกรมป่าไม้ในหลากหลายด้าน ซึ่งอาจ ได้แก่ การส่งเสริมการปลูกป่า ป่าชุมชน ป่านันทนาการ การวิจัยและพัฒนาด้านป่าไม้ ซึ่งเป็นได้ทั้งผลผลิตจากไม้ (timber forest product) และผลผลิตที่ไม่ใช่เนื้อไม้ (non-timber forest product) ที่ได้จากสวนป่า หรือป่าชุมชน เช่น สมุนไพร น้ำผึ้ง ชัน เห็ด หน่อไม้ ฯลฯ

ในส่วนที่เป็นเศรษฐกิจสีเขียว พื้นที่ป่าไม้ยังสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ชุมชน หรือครัวเรือนในรูปของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเป็นพื้นที่สันทนาการ ผู้ประกอบการมีรายได้จากการพัฒนากิจการท่องเที่ยวในลักษณะ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) นอกจากนี้ ป่าไม้ยังทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอน (carbon sink) และยังสอดรับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ (net zero emission) หรือสถานะความสมดุลทางคาร์บอน (carbon neutral) โดยใช้ต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น

อย่างไรก็ตาม ส่วนหลักของ BCG ภาคป่าไม้ที่เป็นภาพรวม มีผลกระทบสูงทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม คือ ผลผลิตจากไม้ หรือป่าเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึง อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจถือเป็นวิธีที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนในอากาศมาเก็บในเนื้อไม้ เมื่อไม้ถูกนำมาใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์ ๆ นั้นก็ทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนไปโดยปริยาย และเมื่อมีการปลูกใหม่ทดแทนตามรอบการตัดฟัน (rotation) ต้นไม้ก็จะทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนได้ต่อไป ทั้งนี้ต้นไม้ที่โตเต็มที่หรือทีมรการเติบโตน้อยจะดูดซับคาร์บอนได้น้อยกว่ากว่าต้นไม้อายุน้อยและมีการเติบโตเร็วกว่า ดังนั้น อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจจึงเป็นการสร้างรายได้แลดูดซับคาร์บอนไปพร้อม ๆกันที่มา: สวทช (2564)

เป็นการสอดคล้องกับสถานะความสมดุลทางคาร์บอน (carbon neural) และสถานการณ์ปล่อยกาซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 ว่าประเทศไทยจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ลงร้อยละ 40 จากระดับการปล่อยปัจจุบันภายใน พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) ซึ่งแนวทางที่จะนำประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจ หรือการเพิ่มพื้นที่ป่า ตามแนวทาง BCG เป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุด พร้อมๆกับการสร้างรายได้และประโยชน์ให้กับประเทศ


อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจ

เห็นได้ว่าศักยภาพการปลูกไม้เศรษฐกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่สามารถนำเชื่อมโยงสู่บริบทเศรษฐกิจความสมดุลทางคาร์บอนได้ BCG ของภาคป่าไม้ได้ หรือกล่าวอีกนัยว่า อุตสาหกรรมป่าไม้สามารถนำสู่เศรษฐกิจคาร์บอนเป็นกลางภายใต้ BCG Model ภาคป่าไม้

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เทคโนโลยีในปัจจุบันได้พัฒนาไป จนทำให้ไม้กลายเป็นวัสดุมหัศจรรย์จากธรรมชาติ มีคุณสมบัติที่ดีกว่าโลหะ ซีเมนต์ พลาสติก และวัสดุอื่นๆ หลายเท่า เป็นแหล่งพลังงานที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ได้แทบไม่มีข้อจำกัด กระแสโลกจึงหันกลับมาใช้ไม้จากแหล่งที่มีการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนที่เรียกว่า Sustainable Forest Management-SFM มากขึ้น ซึ่ง SFM ต้องคำนึงถึงความสมดุลของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกันต้นไม้ที่ปลูกในประเทศไทยก็เติบโตได้เร็วกว่าเขตอบอุ่น 5 เท่า เป็นข้อได้เปรียบอย่างยั่งยืนที่นำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือหลักใน การพัฒนาประเทศได้ ผนวกกับเกษตรกรของไทยส่วนใหญ่มักประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก สาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงด้าน ภูมิอาอากาศและด้านการตลาด จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ถึง 55% และเกษตรกรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่มีความมั่นคงกว่า ซึ่งการปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย การออมเพื่อวัยเกษียณจึงมีความจำเป็น แต่การออมในรูปเงินสดได้ผลตอบแทนต่ำ การปลูกไม้เศรษฐกิจถือเป็นการออมรูปแบบหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำและมีต้นทุนต่ำ ผลกระทบจากด้านต่าง ๆ รวมทั้งจากโรคโควิด 19 ทำให้ประชาชนตกงานจำนวนมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจรยังขาดแคลน แรงงานด้านนี้อีกจำนวนมาก จึงเป็นคำตอบให้กับปัญหาเหล่านี้ได้และจะเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้แก่ประเทศ

กรอบหลักของดำเนินงานด้าน BCG ภาคป่าไม้ หรือกลุ่มไม้เศรษฐกิจ ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. การกำหนดโครงสร้างและสิ่งที่เอื้ออำนวย (Infrastructure and Facilities) ได้แก่ พันธบัตรป่าไม้ เขตเศรษฐกิจพิเศษไม้เศรษฐกิจ การใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางการเงินให้กับเกษตร คาร์บอนภาคป่าไม้ 2. การกำกับดูแล (Regulatory affair) 3. ทรัพยากรบุคคล (Human resources) 4. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา (Collaboration) 5. การตลาด (Market) ซึ่งรวมถึงฐานข้อมูลไม้เศรษฐกิจ

กล่าวโดยสรุป การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภาคป่าไม้ ถือเป็นภารกิจสำคัญเกี่ยวเนื่องของประเทศไทยหลังประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26 สอดรับกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ถือเป็นสิ่งท้าทายสำหรับประเทศไทยในด้านการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ที่ต้องขับเคลื่อนและบูรณาการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่อาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติและที่พัฒนาต่อยอดจากป่าชุมชน ป่าธรรมชาติ การบริการเชิงนิเวศในรูปแบบป่านันทนาการ รวมทั้งการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจร ซึ่งถือเป็นการสอดรับกับ BCG ภาคป่าไม้อย่างลงตัว

บทความโดย ดร สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้ายการส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้


กำลังโหลดความคิดเห็น