สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอพลิกบทบาทเป็นที่ปรึกษาและเพื่อนคู่คิดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อนำสินค้าบุกตลาด BCG พร้อมทั้งหนุนการใช้วัสดุภายในประเทศและผลักดันลุยแข่งขันสินค้านำเข้า พร้อมจับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาด BCG ได้
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า การเริ่มต้นเข้าสู่ตลาด BCG สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องกระตุ้นผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของผู้ซื้อเป็นหลัก ซึ่งในมุมมองของตลาด BCG ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาและสำรวจตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการคัดเลือกสินค้าเพื่อผลิตและวางจำหน่ายในที่สุด ทั้งนี้การเข้าสู่ตลาด BCG นั้นทางสถาบันฯ ไม่เพียงมองในเรื่องของสินค้าอย่างเดียว แต่เรื่องของการผลิตก็เป็นสิ่งสำคัญ และต้องเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ
อุตสาหกรรมสิ่งทอกับ BCG Economy” และโมเดล เศรษฐกิจ BCG คืออะไร BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular- Green Economy) คือ รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต่อยอดจากโมเดลเดิมที่ รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio Economy และสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงเพื่อนําพาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 เป็นแนวคิดของการนําวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ตามนโยบาย ของรัฐบาล กล่าวคือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและ การแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วย พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิมส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโต แบบก้าวกระโดดด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจ สีเขียว (Green Economy) ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
อุตสาหกรรมสิ่งทอ นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อแนวคิด BCG เศรษฐกิจ BCG ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราว หากเป็น สิ่งจําเป็นยิ่งต้องอยู่ควบคู่กับการดําเนิน ธุรกิจในปัจจุบันที่เน้น การทํากําไร ควบคู่ไปกับธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะต้องใช้ทั้งความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุน ต่อการพัฒนาใน ระยะยาว สําหรับความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น คือ การพัฒนาความยั่งยืนการหาความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความยากเพราะต้องเกี่ยวข้อง กับทุกภาคส่วนตลอด supply chain ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ ผู้จัดการ นักออกแบบแฟชั่น นักวิจัย คนงาน ไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่ง ล้วนเป็น ผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อการใช้ผลิตภัณฑ์แฟชั่น
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจะเป็นเวทีให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าเพื่อมุ่งสู่ตลาด BCG โดยมีบทบาทและหน้าที่ในการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็น การอบรม การให้คำปรึกษา ซึ่งการให้คำปรึกษานั้นจะรวมถึงการเข้าไปสำรวจสินค้าของผู้ประกอบการและนำสินค้าเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการทดลอง ซึ่งทางสถาบันฯ เองได้มีห้องแลปไว้สำหรับการทดสอบเพื่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ หลังจากสินค้าถูดทดสอบเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนของการเข้าตรวจโรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจว่าการทดสอบสินค้าเพียง 1 ชิ้นยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นการเข้าเยี่ยมชมโรงงานจึงเป็นขั้นตอนสำคัญอีกหนึ่งขั้นตอนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของสินค้าทุกชิ้น เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ในขั้นตอนดังกล่าวให้ชัดเจน
นอกจากนี้ประเทศไทยสามารถเป็นตลาด BCG ได้ค่อนข้างดี เนื่องจากประเทศไทยมีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ส่งเสริมด้าน BCG รวมถึงวัสดุธรรมชาติที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น เส้นใยต่างๆ การรีไซเคิล รวมไปถึงโรงงานที่มีคุณภาพและมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์นโยบาย BCG แต่ทว่าจะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิด จากผู้ที่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะและเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้ที่ยังไม่เข้าใจหรือเปิดใจรับเรื่องการทำสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาด BCG โดยทางสถาบันฯ จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยให้คำปรึกษาและส่งต่อองค์ความรู้ด้านตลาด BCG และแนะนำว่าสินค้าสามารถเติบโตในตลาด BCG ได้
อีกหนึ่งบทบาทของทางสถาบันฯ ที่นอกจากจะพาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด BCG แล้วนั้นยังทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยจะมีการแนะนำผู้ประกอบให้ปรึกษากับหน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องเงินทุนที่เกี่ยวกับสินค้าหรือโปรดักส์ของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการในแต่ละองค์กรก็จะมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป สถาบันฯ จึงได้มองหาแหล่งเงินเงินทั้งหน่วยงานรัฐหรือเอกชน รวมถึงต่างชาติ รองรับให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมเพื่อนำสินค้าบุกตลาด BCG นั่นเอง
ปัจจุบันสถาบันฯ มีห้องแลปเพื่อทดสอบสินค้าและมีสินค้าที่เข้าทดสอบกว่า 500 กว่ารายการและพยายามขยายการทดสอบให้สามารถตอบโจทย์และสอดคล้องกับตลาด BCG เพราะตลาดในตอนนี้เริ่มมีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยในสินค้า เช่น หน้ากากอนามัย, ชุด PPE ที่ใช้ในทางการแพทย์ ทำให้ห้องแลปมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงในปัจจุบันได้มีการทดสอบสินค้าที่เป็นวัสดุพลาสติกและแปรรูปเป็นพาชนะใส่อาหาร ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้ามาขอทดสอบสินค้าจำนวนมาก นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังมีความต้องการขยายการบริการให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SME เพราะทางสถาบันฯ มองว่าผู้ประกอบการ SME นั้นเป็นลูกค้าของสถาบันฯ ซึ่งสถาบันฯ อาจจะเริ่มต้นด้วยสิ่งทอแต่ SME ในประเทศมีจำนวนมากและจะสอดคล้องกับวัสดุต่างๆ ที่เป็นแพคเกจจิ้งของสินค้า
ในปีนี้ทางสถาบันฯ ได้จับมือกับสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ในเรื่องของแหล่งเงินทุนภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ซึ่งเป็นประโยชน์ได้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและ SME ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวนั้นจะต้องเป็น SME ไทยที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา นอกจากนี้ทางสถาบันฯ จะเน้นเรื่องการตลาดเป็นหลัก เพราะฉะนั้นทางสถาบันฯ จึงมีความต้องการผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เข้ามาใช้บริการเพื่อนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับเล็กหรือ Micro ทางโครงการสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้ถึง 80%
ทั้งนี้ทางสถาบันฯ ยังเตรียมความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ไว้วางใจว่าสินค้าจะได้รับใบรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ TGO สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จะเข้าร่วมแต่สินค้าเดิมไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้าเงื่อนไขของตลาด BCG เมื่อต้องการเข้าร่วมแล้วนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสินค้าหรือโปรดักส์แต่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้เพื่อให้ตอบโจทย์และสามารถเข้าสู่ตลาด BCG ได้ รวมไปถึงกระบวนการผลิตเพื่อลดปัญหาและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้แนวทางในการแก้ไขปัญหาการเข้าร่วมของผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าใจว่าเข้าร่วมโครงการแล้วจะได้ประโยชน์จากอะไรนั้น ทางสถาบันฯ เปิดเผยว่าจะต้องมีการยกตัวอย่างผู้ประกอบการหรืออุตสาหกรรมให้เห็น เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจของผู้ประกอบการ เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยนั้นจะนิยมทำตามสิ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ
สำหรับการเติบโตและความสำเร็จนั้นทางสถาบันฯ เผยว่า ยอดขายในตอนนี้ประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่งออกและนำเข้า ซึ่งทางสถาบันฯ มองว่ายอดการส่งออกไม่อยากให้ลดลงอาจจะขายได้จำนวนน้อยลงแต่มูลค่ายังคงสูงขึ้น แต่นำเข้ายังคงเป็นปัญหาในตอนนี้เพราะว่ายังไม่มีมาตรการการกีดกันทำให้เกิดอัตลักษณ์ของการนำเข้า ทำให้ทางสถาบันฯ ต้องเข้าไปช่วยเรื่องของภาษีสินค้าที่ทำจากประเทศไทยหรือเมดอินไทยแลนด์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้วัสดุในประเทศ พร้อมกับช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำสินค้าที่ทำจากวัสดุภายในประเทศแข่งขันกับสินค้าที่ถูกนำเข้ามา
อย่างไรก็ตามทิศทางของการบุกตลาด BCG นั้นทางสถาบันฯ ได้มีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบว่าในเรื่องของการปรับเปลี่ยนแนวความคิดเพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อและเติบโตในตลาดดังกล่าวได้ ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการสนใจและต้องการนำพาธุรกิจเข้าสู่ตลาด BCG แต่ขาดแหล่งเงินทุนหรือต้องการคำปรึกษาเพื่อวิเคราะห์แนวทางการเติบโตของธุรกิจก็สามารถเข้าไปปรึกษากับทางสถาบันฯ ได้ นอกจากนี้สถาบันฯ เองก็พร้อมเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร หรือแหล่งเงินทุน แต่ผู้ประกอบการต้องเปิดใจและพร้อมพัฒนาธุรกิจให้เติบโตในตลาดอนาคตได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 089 209 7129 (THTI BDS CENTER)
E-mail : bds.thti@gmail.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *