xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็น ประเมินไทย เป้า SDGs ล่าช้า 5 ด้าน เผยยุทธศาสตร์พลิกโฉมสู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยูเอ็น ยกย่องไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาครัฐ-เอกชน ประสานมือกันดีในการขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก แต่ผลประเมินของเอสแคป ชี้ว่ายังล่าช้า 5 ด้านสำคัญ เผย 3 กลยุทธ์ เร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

กีต้า ซับบระวาล ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืนกับทางรอดประเทศไทย” (Sustainable development and the future of Thailand) ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 68 ของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา

นอกจากได้พูดถึงความมุ่งหวังจะพัฒนาความร่วมมือกับสื่อสารมวลชนให้แน่นแฟ้นขึ้น เพราะมองว่าสื่อเป็นกุญแจสำคัญสู่ความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสีเขียว ผ่านการรายงานความท้าทายต่าง ๆ พร้อมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านั้น เธอยังเห็นว่าประเทศไทยมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะมีภาครัฐที่มองการณ์ไกลในการกำหนดวาระการพัฒนาและความมุ่งมั่นของภาคเอกชนในการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ครั้งแรกในสามทศวรรษ การพัฒนามนุษย์เกิดการถดถอยในระดับโลก

กีต้า ซับบระวาล กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในกลางศตวรรษนี้ และได้ปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ให้ต่ำกว่าการปล่อยในกรณีปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในปี 2060

เมื่อเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงของประเทศไทยในปี 2030 จะต่ำกว่าในปี 2020 ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนได้ร่วมดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดความคืบหน้าตามข้อตกลงของกลุ่มตน

สมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรธุรกิจชั้นนำได้ ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 8 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนถึง 1.6 ล้านคัน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาชิก GCNT ประเทศไทยได้บรรลุข้อตกลงเป็นที่แรกของโลกในการร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางทะเลในพื้นที่ร้อยละ 30 ทั่วประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ของสหประชาชาติ มาตรการตามข้อตกลงนี้รวมถึงการปลูกป่าเพื่อเพิ่มถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจชั้นนำต่าง ๆ มีความตระหนักสูงขึ้น ถึงความสำคัญของการรวมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ ธุรกิจต้องยืนหยัดในหลักการว่าการดำเนินธุรกิจใด ๆ ต้องไม่ก่อความเสียหายด้วยประการทั้งปวงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งบนบกและในน้ำ

คำมั่นสัญญาทั้งหมดนี้ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในบริบทของโลกยุคปัจจุบัน ที่หลายประเทศกำลังสูญเสียความคืบหน้าทางการพัฒนาที่ได้สร้างมาอย่างยากลำบาก

นี่เป็นครั้งแรกในสามทศวรรษที่การพัฒนามนุษย์เกิดการถดถอยในระดับโลก โดยอ้างอิงจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ของหน่วยงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งวัดจากมิติด้านสุขภาพ การศึกษา และมาตรฐานการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศ

เรากำลังถอยกลับไปสู่ระดับในปี 2016 ร้อยละ 90 ของประเทศมีคะแนนการพัฒนามนุษย์ลดต่ำลง การเสื่อมถอยดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ แรงสะเทือนทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงพอ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก และการขาดแคลนอาหาร อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังสามารถดำรงไว้ซึ่งความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายข้อ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้






ไทย ยังขับเคลื่อนล่าช้า 5 ด้าน
จากการประเมินของเอสแคปโดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลจากรัฐบาล พบว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่เด่นชัดในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายข้อ ตั้งแต่เป้าหมายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรม ไปจนถึงเป้าหมายความเท่าเทียมทางเพศ

อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ของเรายังพบอีกด้วยว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรัดความคืบหน้าในเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ 1.การปกป้องชีวิตบนบกและในน้ำ 2.การลดความเหลื่อมล้ำ 3.การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน 4.ขจัดการสูญเสียอาหาร และ 5.การสร้างและพัฒนาสถาบันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทยซึ่งประกอบด้วย 21 องค์การชำนัญพิเศษจึงได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยผ่านกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNSDCF) ซึ่งกำหนดยุุทธศาสตร์การพัฒนาโดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

เรามุ่งเน้นยุทธศาสตร์สามด้านหลัก ได้แก่ หนึ่ง การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ สอง เสริมความเข้มแข็งของชุมชนและผู้คนทุกช่วงวัยผ่านการเร่งรัดสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และ สาม การลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เพื่อเร่งสร้างความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ สหประชาชาติใช้ประโยชน์จากอำนาจในการชักจูง (convening power) ในการระดมและเชิญชวนนักธนาคาร นักลงทุน และผู้บริหารสินทรัพย์ให้ขยายเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

เรายังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากศูนย์กลางในระดับภูมิภาคเพื่อนำแนวทางการแก้ปัญหาที่ล้ำสมัยและอิงหลักฐานเชิงประจักษ์มาแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น มลพิษทางอากาศและเรายังส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศบนพื้นฐานของหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การพลิกโฉมสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียวของประเทศไทยจำต้องอาศัยแนวทางการระดมพลังทั่วทั้งรัฐบาลและทั่วทั้งสังคม ซึ่งคือการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ

สหประชาชาติและกระทรวงมหาดไทยจึงได้ร่วมกันจัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดที่กรุงเทพมหานครเมื่อปีที่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศตามจังหวัดต่าง ๆ

ความเป็นหุ้นส่วนนี้เริ่มผลิดอกออกผลให้เราได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการคัดแยกขยะซึ่งจะได้รับการขยายผลครอบคลุม 12 ล้านครัวเรือนในไม่ช้า

จากการตรวจสอบขององค์กรอิสระ เราพบว่าโครงการนี้จะช่วยให้กระทรวงมหาดไทยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 530,000 ตันต่อปี คาร์บอนเครดิตที่เพิ่งผ่านการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) นี้จะช่วยให้หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปซื้อขายและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างเป็นรายได้เพิ่มเติมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น