มูลนิธิ SOS Thailand ย้ำขยะอาหารประเทศไทย มาจากครัวเรือนมากที่สุด ร้อยละ 40-60 สอดคล้องกับรายงานทีดีอาร์ไอ ว่าขยะอาหารมีสัดส่วนร้อยละ 57 ยังถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบเป็นหลัก เพราะคนไทยเคยชินทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ทำให้กระบวนการนำกลับมารีไซเคิลยากลำบาก
“ขยะอาหาร” (FOOD WASTE) มักจะถูกนำไปรวมกับ “อาหารส่วนเกิน” (Food surplus) ที่หมายถึง อาหารที่ผลิตหรือซื้อมาเกินความต้องการจนทิ้ง ทั้งที่ยังไม่ได้กิน หรือยังเก็บไว้กินได้ ถ้าเป็นผู้บริโภค เช่น ของสดที่กินไม่ทัน อาหารแห้ง อาหารกระป๋องที่เลยวัน best before แล้วทิ้ง เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเลยวันหมดอายุ หรือ expiry date ร้านค้าปลีกเป็นอาหารที่เหลือจำหน่าย ซื้อมาสต๊อกไว้เกินความจำเป็น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม เช่น อาหารบุฟเฟต์ที่ยังกินได้ และแหล่งผลิตอาหารทางการเกษตร เช่น อาหารที่ช้ำ มีตำหนิ จากการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งในท้ายที่สุด ทั้งขยะอาหารและอาหารส่วนเกินก็จะถูกกองรวมกันในฐานะขยะอินทรีย์
ตามข้อมูลในรายงาน “การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การบริหารจัดการขยะอาหาร ถูกนำไปเผาในเตาเผา และนำไปผลิตเป็นปุ๋ยร้อยละ 43 ส่วนอีกร้อยละ 57 นำไปฝังกลบ หรือถมกลางแจ้ง ทำให้เกิดปัญหามลพิษตามมา เช่น การกระจายของเชื้อโรคในแหล่งน้ำ ส่งกลิ่นเหม็นเป็นมลพิษทางอากาศ และจากการที่คนไทยเคยชินกับการเทรวม ทำให้การคัดแยกขยะก่อนนำไปรีไซเคิลเป็นไปอย่างยุ่งยาก ซึ่งรวมถึงวิธีการกำจัดในเตาเผาก็ลำบากเนื่องจากขยะมูลฝอยที่มีขยะอาหารปนอยู่ทำให้เกิดความชื้นสูง ต้องใช้พลังความร้อนจากเชื้อเพลิงมากขึ้น
ด้านนายเจมส์ เลย์สัน กรรมการผู้จัดการของมูลนิธิ Scholars of Sustenance (SOS Thailand) กล่าวว่าจากประสบการณ์นับตั้งแต่ปี 2559 เราพบว่า แหล่งที่มาของขยะอาหารหลักๆ ในประเทศไทย ไม่ใช่มาจากอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมอาหาร แต่มาจากภาคครัวเรือนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40-60% รองลงมามาจากกลุ่มบริการอาหารราว 20-30% ส่วนสุดท้ายมาจากธุรกิจค้าปลีกราว 15-20%
“หลายคนอาจเข้าใจว่า อุตสาหกรรมอาหารน่าจะเป็นกลุ่มที่สร้างขยะอาหารมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นภาคครัวเรือนมากที่สุด”
เขาอธิบายว่า ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มีสถานการณ์แบบนี้ ชาติอื่นๆ ในเอเชียก็ไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ที่มีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า ที่จะต้องซื้ออาหารเพื่อรับประทานแบบวันต่อวัน
"กลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะในเขตเมือง มักจะมีพฤติกรรมที่ซื้ออาหาร หรือส่วนประกอบอาหารเก็บไว้สัปดาห์ละครั้ง โดยหวังว่าจะใช้มาประกอบอาหารในเวลาที่ต้องการ แต่ในความเป็นจริง พวกเขาก็มีวิถีชีวิตนอกบ้านเช่นกัน เช่น อาจจะไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อนร่วมงานหรือครอบครัว หรือมีปาร์ตี้ ทำให้ต้องทิ้งอาหารบางส่วนที่ซื้อมา เพราะเน่าเสียหายหรือหมดอายุ นี่เป็นความจริงที่น่าเศร้า"
ทั้งนี้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งทาง UN ได้ตั้งเป้าหมาย ให้ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50% ขณะที่ประเทศไทยมีความพยายามทั้งจากภาครัฐและธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่ต้องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
UN วางกรอบแนวคิดในการลดขยะอาหาร 5 ขั้นตอน
1. ป้องกัน (Prevention) การเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินโดยวางแผนการกินให้ดี
2.จัดสรรเพื่อประโยชน์สูงสุด (Optumitzation) ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปบริจาคแก่ผู้ยากไร้ และผลิตเป็นอาหารสัตว์
3.นำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ (Recycle) นำขยะอาหารมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานและนำมาผลิต ปุ๋ย และน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ประโยชน์
4.กำจัดเพื่อเป็นพลังงานมาใช้ใหม่ (Recovery) โดยการนำขยะอาหารมาเผาเพื่อผลิตพลังงาน
5.กำจัด (Disposal) นำขยะอาหารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ไปฝังกลบ หรือเผาเพื่อกำจัด
ทว่าวิธีการจัดการปัญหาขยะของประเทศไทย จัดการด้วยการเผาในเตาเผาหรือนำไปผลิตเป็นปุ๋ย และอีกส่วนหนึ่งถูกนำไปฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง เมื่อกองขยะเหล่านั้นถูกสะสมมากขึ้นๆ ก็จะกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ที่เป็นตัวกระจายและนำเชื้อโรคจากกองขยะไปสู่แหล่งน้ำดื่ม แหล่งการเกษตร และแหล่งที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นที่กลายเป็นมลพิษทางอากาศอีกด้วย
ที่สำคัญ ขยะอาหารยังเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะโลกร้อนด้วย เพราะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากถึง 8% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นก๊าซมีเทนที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 14 เท่า และยังปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงกว่า 3.3 พันล้านตัน ที่เกิดจากขยะอาหารในแต่ละปีทั่วโลก (ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) จะเห็นได้ว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะอาหารในแต่ละปี มีปริมาณใกล้เคียงกับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากภาคคมนาคมและขนส่งเลยทีเดียว
อ้างอิง
https://tdri.or.th/2019/09/food-waste-management/
https://www.bbc.com/thai/articles/c7247pwv9y0o