xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ร่วมกับองค์กรภาคี แสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านเครือข่าย BKK ZERO WASTE ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ร่วมกับองค์กรภาคี แสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านเครือข่าย BKK ZERO WASTE ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม มุ่งแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

“การจัดงานในครั้งนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในเฟสที่ 2 ของโครงการไม่เทรวม หรือ BKK ZERO WASTE ซึ่งเป็นการดำเนินการเรื่องการกำจัดขยะในกรุงเทพมหานคร โดยเราได้รับการสนับสนุนสำคัญจากทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เป็นเหมือนผู้ประสานงานกับกลุ่มภาคีเครือข่าย สำหรับเรื่องขยะ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เราใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลขยะ โดยปีที่แล้วใช้งบประมาณมากถึง 7 พันล้านบาท เฉพาะการจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร และการจ้างเก็บขน ซึ่งถ้าเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็จะทำให้เรามีงบประมาณไปดูแลในส่วนอื่น ๆ ได้มากขึ้น” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังพิธีแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านเครือข่าย BKK ZERO WASTE ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า โดยเฉลี่ยแล้วขยะจากครัวเรือนของกรุงเทพมหานครเฉลี่ยวันละ 1.5 กิโลกรัมต่อคน ใน 1 ปีมีการผลิตขยะ 800 กิโลกรัมต่อคน หรือเกือบ 1 ตัน ซึ่งเป็นเลขที่สูงมาก นอกจากนั้นแล้ว การนำขยะเปียกไปปนกับขยะแห้ง สุดท้ายเมื่อไปรวมกันในหลุมฝังกลบก็จะทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็น 1 ในก๊าซที่สำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ฉะนั้น การจัดการขยะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ และร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่าย เพราะว่าขยะเป็นเรื่องของทุกคน หากเราไม่ร่วมมือกันสุดท้ายแล้วเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทางกรุงเทพมหานครก็ต้องดูแลในเรื่องของการจัดเก็บ การสร้างนโยบาย และการกระตุ้นส่งเสริมในการแยกขยะแก่ประชาชน เพราะการแยกขยะเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

● แบ่ง 3 เฟส ตามกลุ่มเป้าหมายในการจัดการขยะ

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า โครงการไม่เทรวมแบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ ประชาชนทั่วไป องค์กรรายใหญ่ และสายสิ่งแวดล้อม ในเฟสแรก จะเน้นเรื่องของประชาชนทั่วไป คือแบ่งขยะเปียก กับขยะแห้ง โดยขยะเปียกจะเป็นจำพวกเศษอาหาร ซึ่งเริ่มโครงการในพื้นที่ 3 เขตนำร่อง ได้แก่ หนองแขม ปทุมวัน และพญาไท โดยจัดเก็บขยะแบบ fixed route ผลการดำเนินการคือคนให้ความร่วมมือดี ในส่วนของภาคครัวเรือนมีการร่วมแยกขยะประมาณ 10% ยังคงต้องเน้นเรื่องการสื่อสาร แต่ขยะเศษอาหารจำนวนมากมาจากสถานประกอบการ ร้านอาหารต่าง ๆ จึงได้ต่อยอดมาเฟสที่ 2 โดยเน้นไปที่องค์กรระดับกลาง-ระดับใหญ่ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา มีหน่วยงานที่เข้าร่วมจากทั้ง 50 เขต รวมประมาณกว่า 700 องค์กร อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางรัฐสภาก็เข้าร่วมเช่นกัน สำหรับเฟสนี้เราเน้นให้องค์กรคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แล้วร่วมส่งเสริมสนับสนุน โดยการให้เขตเข้าไปรับขยะเศษอาหาร หรือเชื่อมกับเกษตรกรให้มารับเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งบางองค์กรก็สามารถจัดการแบบ on site ได้เอง เนื่องจากมีเครื่องกำจัดเศษอาหารหรือมีการทำปุ๋ยหมัก สำหรับขณะนี้ กว่า 700 องค์กรที่เข้าร่วมล้วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งเราจะต่อยอดกับภาคีกลุ่มต่าง ๆ ต่อไป อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ส่วนในเฟสที่ 3 จะเน้นคนที่เป็นสายกรีนหรือสายสิ่งแวดล้อม คืออยากแยกขยะประเภทขวดพลาสติกด้วยตนเอง โดยเราจะส่งเสริมด้วยการเพิ่มจุด Drop Off ตามห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน หรือสำนักงานเขตของกทม. ที่เรามีอยู่แล้วภายใต้โครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพฯ แยกเพื่อให้พี่ไม้กวาด”

● สสส.เป็นโซ่ข้อกลางประสานความร่วมมือ ปักหมุดหมายเป็นต้นแบบให้แก่เทศบาลทั่วประเทศ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาจากขยะมูลฝอยมีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และโลกเราทุกวันนี้ ซึ่งปัญหาจากมลพิษสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 ประเด็นสุขภาพหลักที่ สสส. ตั้งใจจะดำเนินการ และเราอยู่ในบทบาทของโซ่ข้อกลางที่จะเชื่อมประสานในงานที่ต้องการความร่วมมือเกินกว่า 1 ภาคส่วน

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อไปว่า กทม.เป็นจังหวัดที่ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศ คือประมาณ 12,000 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 18% ของขยะทั้งประเทศ สสส.จึงได้ร่วมกับทางกรุงเทพมหานครในการลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้น โดยการลดขยะนั้นต้องเริ่มที่ต้นน้ำหรือผู้ที่สร้างขยะก่อน แล้วจึงไล่ลำดับไปตามกระบวนการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

สำหรับเรื่องขยะเป็นเรื่องที่ตระหนักมานาน และเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งในโครงการไม่เทรวมของ 3 เขตนำร่องที่ผ่านมานั้น สสส. ได้ร่วมกับภาควิชาการ โดยสถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งโรงเรียน วัด หรือภาคเอกชน เพื่อขอความร่วมมือดำเนินโครงการอย่างเข้าใจและถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าโครงการนำร่องดังกล่าวเป็นนโยบายที่ทำได้จริง และสามารถขยายไปทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเป็นต้นแบบให้แก่เทศบาลทั่วประเทศนำไปปรับใช้ในการพัฒนางานต่อไป

● เผย 4 เป้าหมายจัดการขยะ: พัฒนารูปแบบ สร้าง Database ส่งเสริมพื้นที่อื่นลดขยะต้นทาง 20% สนับสนุนการจัดการขยะด้วยหนอน

รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของการจัดการขยะที่ต้นทางให้กับกรุงเทพมหานครผ่านการสนับสนุนจาก สสส. ภายใต้โครงการพัฒนาเขตนำร่องในการจัดการขยะต้นทาง ซึ่งโครงการนี้เรามีเป้าหมาย 4 ประเด็น คือ เรื่องการพัฒนา เรื่องการสร้าง เรื่องการส่งเสริม และเรื่องการสนับสนุน สำหรับการพัฒนา คือ พัฒนาในรูปแบบการจัดการขยะที่ต้นทางในโครงการ “ไม่เทรวม” ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในแต่ละพื้นที่ ในส่วนของการสร้าง คือ สร้างระบบฐานข้อมูล (Database) ให้กับพื้นที่นำร่องทั้ง 3 เขต ด้านการส่งเสริม คือ ดูแลพื้นที่อีก 84 แหล่ง เช่น วัด โรงเรียน โรงแรม ชุมชน อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ให้สามารถลดขยะต้นทางได้ไม่น้อยกว่า 20% สุดท้ายคือการสนับสนุน ในเรื่องของการจัดการขยะอินทรีย์ โดยใช้หนอนทหารดำ ทั้งนี้ ทางทีมงานทุกฝ่าย กทม. สสส. ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีความคาดหวังว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มตระหนัก และเริ่มมีการบริหารจัดการเพื่อลดขยะที่ต้นทางตามโครงการไม่เทรวม ซึ่งจะช่วยลดภาระและงบประมาณให้กับกรุงเทพมหานครในการจัดการขยะที่ปลายทาง ตลอดจนเกิดความยั่งยืนในระบบจัดการขยะต่อไป

● สมาคมโรงแรมไทยดึงนักท่องเที่ยวร่วมรับผิดชอบโลก

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวน โดยนักท่องเที่ยว 1 ราย สร้างขยะให้กับโรงแรมโดยประมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้น การที่ กทม. มีโครงการดี ๆ เช่นนี้จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ลองนึกภาพว่าโรงแรมมีการจัดงานเลี้ยงบ่อยครั้ง ทำให้อาหารส่วนเกินหรืออาหารเหลือมีจำนวนมาก ถ้าเราสามารถที่จะคัดแยกได้ตั้งแต่ต้นทางที่โรงแรม และยังสามารถสบายใจว่าปลายทางจะถูกกำจัดอย่างถูกต้อง เราก็มีความรู้สึกดีและมีความสุข เราอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองยั่งยืนทางด้านการท่องเที่ยว เรื่องนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีซึ่งสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยและเที่ยวกรุงเทพฯ ได้มากยิ่งขึ้น โดยตัวนักท่องเที่ยวเองก็จะรู้สึกว่าเขาได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบทำให้โลกเราดีขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมาถือเป็นปัญหาที่ท้าทาย แต่เราเห็นความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนว่าทุกคนมีความตระหนักรู้มากขึ้น เรื่องขยะเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน ทางกทม.เองก็ต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นโยบายที่ชัดเจนและมีความเอาจริงเอาจัง ภาคเอกชนและภาคประชาชนก็เป็นแนวร่วมสำคัญ เพราะทุกคนเป็นคนสร้างขยะ เมื่อทั้ง 2 ส่วนประสานกันได้ เชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกรุงเทพมหานครที่จะส่งผลในระดับประเทศได้ ซึ่งถ้าเปลี่ยนแล้วจะไม่ย้อนกลับ คือ ถ้าเราฝึกแยกขยะ เรามีการบริหารจัดการขยะที่ดี สุดท้ายจะเป็นการพัฒนาไปสู่เมืองที่ยั่งยืน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย

สำหรับงาน “BKK ZERO WASTE ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” จัดขึ้น ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร เพื่อแสดงพลังของทุกภาคส่วนที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง รวมถึงส่งเสริมให้องค์กร หน่วยงาน และสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะ มีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะ และคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร

ภายในงานมีการจัดบูธเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะและการจัดการขยะเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ได้แก่ บูทมือวิเศษกรุงเทพฯ โดย Less Plastic Thailand x PPP Plastics บูทสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บูท GEPP บูท SOS Thailand บูทการจัดการขยะอินทรีด้วย Black Soldier Fly (BSF) บูทถังขยะแยกประเภทของสำนักสิ่งแวดล้อม และบูท CP All ต้นกล้าไร้ถัง

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “มหานครปลอดขยะ เป็นจริงริได้อย่างไร?” โดยวิทยากร 4 ท่าน ประกอบด้วย 1. นางสุธิศา พรเพิ่มพูน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กรุงเทพมหานคร 2. นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 3. นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมและคอนเน็กซ์อีดี บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ 4. นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ดำเนินการเสวนาโดย นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร

อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการขยะที่ต้นทางจากองค์กรภาคีต้นแบบ 5 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียน (โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วย เขตหนองจอก) วัด (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) ชุมชน (ชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย) อาคารสำนักงาน (มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์) และโรงแรม (โรงแรมศิวาเทล)

อนึ่ง ผู้ร่วมกิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากองค์กรภาคีเครือข่าย สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้อง




กำลังโหลดความคิดเห็น