กลุ่มมาหามิตร นำโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เอ็ม บี เค, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ อลิอันซ์ อยุธยา ร่วมกันตอบรับนโยบายกรุงเทพมหานคร สนับสนุนโครงการ “ไม่ เท-รวม” พร้อมรับเป็นต้นแบบการแยกและจัดการขยะในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ประเดิมเดินหน้าให้เขตปทุมวันไร้ขยะ
นายกอปร ลิ้มสุวรรณ ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste และหัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า“หลังจากที่ภาคีด้านสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพคณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และอีกหลายคณะหลายส่วนงานที่ร่วมกันดำเนินโครงการ Chula Zero Waste ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาในระยะเวลาหนึ่งจนถึงจุดที่เราต้องขยายองค์ความรู้ที่เรามีออกสู่สังคมให้กว้างขึ้น ประกอบกับที่โครงการฯ มีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีของโครงการ BKK Zero Waste ต่อยอดโครงการไม่เทรวม นำโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการลดและคัดแยกขยะใน 84 แหล่งกำเนิดจาก 2 เขตนำร่อง ปทุมวัน และ หนองแขมจึงได้มาหารือและชวนกลุ่ม“มาหามิตร” ซึ่งเป็นพันธิมตร ด้านสิ่งแวดล้อมมาทำงานร่วมกัน ผลักดันให้จำนวนแหล่งกำเนิดที่มีการลดและแยกขยะในเขตปทุมวันเพิ่มมากขึ้น จึงมีความเห็นพ้องต้องกัน ในการผลักดันให้เกิดโครงการ ปทุมวัน Zero Waste ขึ้นเพื่อช่วยเมืองขับเคลื่อนเรื่องขยะ และสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆในเขตปทุมวันไปด้วยกัน”
เขตปทุมวันมีความยินดีอย่างยิ่งที่กลุ่มมหามิตร ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภาคการศึกษา และภาคเอกชนในเขตปทุมวันได้จัดทำโครงการ “ปทุมวัน ZERO WASTE” ขึ้นเพื่อพัฒนาให้เขตปทุมวันเป็นเขตต้นแบบในการลดและแยกขยะ อย่างมีรูปธรรมสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไป ส่วนกรุงเทพมหานครมีนโยบายด้านการบริหารจัดการขยะในมิติสิ่งแวดล้อมดีการสร้างต้นแบบการแยกขยะ ภายใต้โครงการ “ไม่เทรวม”โดยมีการรณรงค์และขอความร่วมมือประชาชนและสถานประกอบการ คัดแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป รวมถึงการให้ความรู้การลดและคัดแยกมูลฝอย และการทิ้งมูลฝอยอย่างถูกต้องเพื่อให้การจัดการขยะที่ต้นทางเป็นไปอย่างยั่งยืน ในระยะแรกโครงการ “ไม่เทรวม” ได้จัดทำขึ้นในพื้นที่เขตนำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน2565 – เดือนมีนาคม2566 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชน และสถานประกอบการเป็นอย่างดี โดยได้รณรงค์ให้สถานประกอบการและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,137แห่งสามารถจัดเก็บขยะอินทรีย์ได้จำนวน 125 แห่ง ซึ่งบางแห่ง มีการคัดแยกขยะแล้วนำไปบริหารจัดการเอง และสำนักงานเขตจัดเก็บนำส่งโรงปุ๋ยหมักอินทรีย์อ่อนนุช และเพื่อให้การจัดการขยะที่ต้นทางมีประสิทธิภาพจึงมีการดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 โดยให้ประชาชนและสถานประกอบการที่มีความสนใจ เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนผ่านระบบ Traffy Fondue คลอบคลุมพื้นที่ ทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวเพิ่มเติม
นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน (PMCU) ภายใต้โครงการ Samyan Smartcity ที่เราจะส่งเสริมคุณภาพชีวิต ของคนในพื้นที่ที่เราดูแลทั้ง 7 ด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) เรามีนโยบายในการบริหารจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้หลัก “3R” REDUCE – REUSE – RECYCLE ดำเนินการในพื้นที่พานิช เชิญชวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการลดและแยกขยะ ร้านค้า ร้านอาหาร มีการคัดแยกขยะทุกประเภทตั้งแต่ต้นทาง แยกขยะเศษอาหารจากร้านอาหารในย่าน ส่งเป็นอาหารสัตว์ นำใบไม้แห้งที่เก็บกวาดได้จากในพื้นที่มาทำปุ๋ยหมักเพื่อวนกลับไปบำรุงต้นไม้ในสวน มีจุดรับขยะกำพร้า เพื่อส่งทำเป็นพลังงานทดแทนให้กับชุมชนที่ Block 28 ร่วมกับ RecycleDay มีนโยบายการลดการใช้ single use plastic ที่สอดรับกับนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งจะมีการต่อยอดต่อ และพัฒนาการระบบการจัดการขยะในพื้นที่ต่างๆ ของเรา ได้แก่ สยามสแควร์ สยามสแควร์วัน สยามสเคป สวนหลวงสแควร์ Block 28 CU terrace CU iHOUSE U-center ตลาดสามย่าน และ จามจุรีสแควร์ ต่อไป
“สำหรับ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ เรามีเป้าหมายจะลดขยะไปบ่อฝังกลบเป็นศูนย์ให้ได้ ในปี 2567 โดยปัจจุบัน เรามีกระบวนการจัดการขยะทุกประเภทของโรงแรม โดยเริ่มส่งเสริมตั้งแต่ระดับพนักงาน และสร้างจิตสำนึกในกลุ่มลูกค้า เราเน้นการจัดการขยะโดยเริ่มที่การลดการใช้ ลดการสร้างขยะ เราเลิกใช้ขวดพลาสติกในโรงแรม เรามีการหมุนเวียนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปลูกผัก สมุนไพร ไว้ใช้ในโรงแรม มาตั้งแต่ปี 2559 ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา สามารถลดปริมาณขยะของโรงแรมไปได้แล้วถึง 90% และโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ พร้อมต้อนรับหน่วยงานที่สนใจให้มาเยี่ยมชมดูงาน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การลดขยะว่าสามารถทำได้จริง” นางสาวอลิสรา ศิวยาธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ กล่าว
นายสมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทในเครือ เอ็ม บี เค มีความตระหนักในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ทั้งในระดับบุคลากรและธุรกิจในเครือ โดยเฉพาะศูนย์การค้าในเครือเอ็ม บี เค ทั้ง 4 ศูนย์ คือ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตปทุมวัน รวมถึง พาราไดซ์ พาร์ค เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระรามเก้า และเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ มีการรณรงค์จัดการการแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะ
สำหรับการร่วมมือกับมาหามิตรในครั้งนี้ เอ็ม บี เค มีความตั้งใจและยินดีที่จะสนับสนุนโครงการนี้ ในนามของ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส โดยจะรณรงค์ทั้งในกลุ่มพนักงาน กลุ่มร้านค้าผู้เช่าพื้นที่ และลูกค้าผู้มาใช้บริการ
ขณะเดียวกัน เอ็ม บี เค ยังมีเป้าหมายด้านการคัดแยกขยะ และก้าวไปสู่การเป็น Zero Waste ขยายต่อเนื่องไปในกลุ่มธุรกิจในเครือเอ็ม บี เค ส่วนศูนย์การค้า ก็จะมีการจัดตั้ง Station คัดแยกขยะเพิ่มขึ้น รวมถึงการร่วมส่งต่ออาหารส่วนเกินให้แก่ผู้ที่ต้องการด้วย
“ผมเชื่อว่าหากมีการร่วมมือร่วมใจจากพนักงาน ผู้ประกอบการร้านค้า และลูกค้าภายในศูนย์ฯ ในการทำกิจกรรมนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็จะสามารถการลดปริมาณขยะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายสมพล กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า “อลิอันซ์ อยุธยา มีการดำเนินการส่งเสริมการแยกขยะในกลุ่มพนักงานมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการส่งเสริมให้พนักงานแยกขยะทั้งที่ทำงานและที่บ้าน มีการพัฒนารูปแบบของถังขยะ วิธีการแยกขยะ การจัดการขยะ และการส่งเสริมจิตสำนึกเรื่องการแยกขยะมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถลดปริมาณขยะไปบ่อฝังกลบ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 1,000 คน เฉลี่ยพนักงาน 1 คน สร้างขยะไปบ่อฝังกลบน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัมต่อเดือน และบริษัทฯ จะยังคงผลักดันต่อไปเพื่อลดขยะไปบ่อฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้ อลิอันซ์ อยุธยา พร้อมเป็นต้นแบบ และจะพยายามขยายเครือข่ายความร่วมมือการแยกขยะให้ครอบคลุมหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะ หน่วยงานภายในอาคารเพลินจิต ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ”
นอกจากนี้ ในการแถลงเปิดโครงการ ปทุมวัน ZERO WASTE มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ (SOS) ได้เข้าร่วมสนับสนุนกลุ่มมาหามิตร ในโครงการดังกล่าวด้วย “SOS มีเป้าหมายในการทำงานที่สำคัญคือ การจัดการอาหารส่วนเกิน และลดมลพิษจากการขยะเศษอาหาร ผ่านการนำอาหารส่วนเกิน ไปส่งต่อให้ชุมชนที่ขาดแคลน โดยปัจจุบัน SOS มีเครือข่ายของผู้บริจาคอาหารส่วนเกิน มากกว่า 1,000 ราย และมีการส่งต่อสู่ชุมชนที่ขาดแคลนกว่า 2,400 ชุมชนทั่วประเทศ ทาง SOS จึงเชื่อว่า เราสามารถสนับสนุนโครงการปทุมวัน ZERO WASTE ได้ ทั้งจากการรับอาหารส่วนเกิน จากร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมต่าง ๆ ในเขตปทุมวัน ตลอดจนการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะเศษอาหาร ในแหล่งกำเนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะในชุมชนได้” นางสาวนันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายองค์กร กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้กลุ่ม “มาหามิตร” เกิดจากความคิดที่ต้องการสร้างพันธมิตรเพื่อความยั่งยืน (Alliance for Sustainability) ของ อลิอันซ์ อยุธยา ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืน และรู้ว่าความยั่งยืนสร้างคนเดียวไม่ได้ จึงได้หาแนวร่วม ที่มีแนวคิด ความเชื่อที่เหมือนกัน และต้องการมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทย โดย “มาหามิตร” ได้รวมกลุ่มกันครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต (จำกัด) มหาชน ทั้งนี้ กลุ่มมาหามิตร ยังคงเปิดกว้าง พร้อม หามิตร ร่วมทางต่อไป