มจร.วัดไร่ขิง สนับสนุนกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ในการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการพัฒนาสังคม เปิดพื้นที่ “ศูนย์ปฏิบัติการทางสังคม” มุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน
พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ,ศ,ดร. รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี (มจร.วัดไร่ขิง) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการพัฒนาสังคม นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว ยังมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจากการลงพื้นที่ชุมชนตำบลไทรงาม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ “ศูนย์ปฏิบัติการทางสังคม” หรือ Social Lab ของนิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาสังคม วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี (มจร.วัดไร่ขิง) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ถูกจัดทำขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า ทุกคนสามารถเริ่มต้นพัฒนาสังคมได้โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียว ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก แต่มีผลเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ อีกมาก เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน พบว่าปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงกับฟาร์มแพะ ได้รับความเดือดร้อนการเลี้ยงแพะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และปัญหามลพิษทางอากาศอันเกิดจากกลิ่นของสิ่งปฏิกูล
จากศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ร่วมกับการปฏิบัติการในพื้นที่ของนิสิตระดับปริญญาโท ขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ โดยร่วมมือกับภาคีต่างๆ ในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนราชการและภาคเอกชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน นิสิตหลักสูตรดังกล่าว รุ่นที่ 5 ได้ลงพื้นที่เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชุมชนภายใต้ชื่อโครงการ “พุทธปัญญา:วิชาแพะ” พื้นที่ตำบลไทรงาม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม จนสามารถช่วยแก้ปัญหาหลักของชุมชนได้ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่านโครงการ CCS หรือ Cap-Corner Stone Project ได้เข้าไปศึกษาปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำฟาร์มแพะ หาการมีส่วนร่วมของฟาร์มแพะ และชุมชนในการสร้างแนวทางการจัดการจัดการสิ่งแวดล้อมฟาร์มแพะ ในเขตพื้นที่ตำบลไทรงาม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
สิบเอกณัฐกร ดอนแก้วภู่ ตัวแทนนิสิต ปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาสังคม รุ่นที่ 5 กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อค้นหาปัญหา และนำปัญหามาสู่การแก้ไข อันจะนำมาสู่รูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมฟาร์มแพะที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำสิ่งปฏิกูลกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงที่สุดจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากฟาร์มแพะ และสามารถแปรเปลี่ยนสิ่งปฏิกูลไร้มูลค่าให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการฟาร์มแพะกับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน
จากปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้เข้าไปศึกษาปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำฟาร์มแพะ สู่การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา อันนำมาสู่
1.การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน “พุทธปัญญา วิชาแพะ”
2.การวิเคราะห์ปุ๋ยมูลไส้เดือน 100% จากมูลแพะ โดย กรมพัฒนาที่ดิน
3.การวิเคราะห์ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากมูลแพะ และดินพร้อมปลูกผสมมูลแพะและมูลไส้เดือน โดยภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
4.การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ “พุทธปัญญา วิชาแพะ”
๐ Organic Products “พุทธปัญญา วิชาแพะ” จากปัญหาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development) ทางด้านการเกษตร
1) ปัญหาการเลี้ยงแพะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เปลี่ยนแปลงให้มีการเลี้ยงในคอกกั้น ที่มีรั้วรอบขอบชิด มีการจัดการฟาร์มให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ
2) ปัญหามลพิษทางอากาศอันเกิดจากกลิ่นของสิ่งปฏิกูล เปลี่ยนแปลง ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
2.1 การปลูกหญ้าเนเปียร์ เป็นแนวกันลม เพื่อลดปัญหาจากกลิ่นของสิ่งปฏิกูล
2.2 การนำมูลแพะ มาตากแห้ง เป็นปุ๋ยคอก จากมูลแพะ 100 %
2.3 การนำมูลแพะ มาเป็นอาหารของไส้เดือน เป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน 100% จากมูลแพะ
2.4 การนำมูลแพะ และมูลไส้เดือน เป็นดินพร้อมปลูกผสมมูลแพะและมูลไส้เดือน
2.5 การนำสิ่งปฏิกูล ในฟาร์มแพะ เป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากมูลแพะ
2.6 การนำเศษอาหารแพะ สิ่งปฏิกูล ในฟาร์มแพะ เป็นชุดปลูกผัก “เปิด ปลูก ปรุง”
3) การเพิ่มมูลค่าจากการเลี้ยงแพะ
3.1 การทำสบู่น้ำนมแพะ
3.2 การทำครีมอาบน้ำ จากนมแพะ
3.3 การทำโลชั่น จากนมแพะ
นอกจากการแก้ปัญหาแล้ว ได้มีการส่งเสริมการนำความรู้ในการพัฒนาและยกระดับการเลี้ยงปศุสัตว์ (แพะ) ที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปศุสัตว์ (แพะ) ด้วยนวัตกรรมทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น