"In Thailand, 70 is the New 51.”
เริ่มตั้งแต่ปีนี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยที่สมบูรณ์แล้ว แต่การนับอายุตามปฏิทินเวลาไม่ได้สะท้อนถึงอายุทางชีวภาพ เพราะคนวัย 70 ในปัจจุบัน แท้จริงมีสภาพทางชีวภาพเทียบเท่ากับคนอายุ 51 ในปี 2513 เท่านั้น
อีก 10 ปีข้างหน้า คนไทย จะมีผู้สูงวัยเกินร้อยละ 20
ตามคำจำกัดความของสหประชาชาติ “สังคมที่กำลังสูงวัย (Aging Society)” เป็นนิยามสำหรับประเทศที่มี“ประชากรสูงวัย (ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป)”ตั้งแต่ร้อยละ 7 ขึ้นไป และ“สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)” ใช้เรียกประเทศที่มีประชากรสูงวัยจำนวนร้อยละ 14 ขึ้นไป จนเมื่อสัดส่วนประขากรสูงวัยเพิ่มมากกว่าร้อยละ 20 ประเทศก็จะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับยิ่งยวด (Super-Aged Society)"
ด้วยนิยามข้างต้น ในปี 2565 ประเทศไทยได้เดินตามรอยญี่ปุ่น (2537) ฮ่องกง (2555) เกาหลี (2560) ไต้หวัน (2562) และ สิงคโปร์ (2564) รวมเป็น 6 เศรษฐกิจในเอเชียที่ได้เข้าสู่”สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดยมีสัดส่วนประชาการผู้สูงวัยจำนวนร้อยละ 14.15 (ภาพที่ 1) ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2545 ไทยเป็น”สังคมที่กำลังสูงวัย” โดยในปีนั้นไทยมีประชากรสูงวัยร้อยละ 7.02 และคาดการณ์ว่า อีกเพียง 10 ปีข้างหน้า คือ ปี 2574 ไทยจะตามญี่ปุ่นเป็น”สังคมผู้สูงวัยระดับยิ่งยวด” โดยจะมีประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 20
"ประเทศไทย 70 คือ 51 ใหม่"
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการชราภาพได้ชะลอลงอย่างรวดเร็ว โดยเห็นได้จากอายุขัยของมนุษย์ที่ยาวขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์และสุขอนามัยที่ดีขึ้น การวัด”ความชราภาพตามปฏิทินเวลา” จึงไม่อาจสะท้อนถึง "ความชราภาพทางชีวภาพ" ที่เราพอรู้สึกได้ ในประเด็นนี้ หากเราพิจารณากราฟอายุขัยของประชากรไทยดังแสดงในภาพที่ 2 คนไทยอายุ 70 ปีในปี 2564 มีลำดับความชราในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 89.95 ของอายุขัย เมื่อเทียบด้วยค่าเปอร์เซ็นไทล์ลำดับที่เท่ากันในปี 2513 จะเท่ากับคนอายุ 51 ปี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนไทยอายุ 70 ปีในปัจจุบัน มีความชราทางชีวภาพไม่ต่างจากคนไทยอายุ 51 ปีในปี 2513 นั่นเอง
"หมดยุคครรลองชีวิตสามช่วง"
การแบ่งครรลองชีวิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงการศึกษา ช่วงการทำงาน และช่วงเกษียณ ซึ่งแต่ละช่วงเกิดภายในกรอบเวลาเดียวกันสำหรับมนุษย์ในวัยใกล้เคียงกัน ครรลองชีวิตแบบนี้มนุษย์ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเหมาะกับยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเกิดอย่างช้าๆต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนกำลังจะล้าสมัยในโลกดิจิทัลที่มนุษย์ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้
ในสังคมยุคดิจิทัล การเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพบ่อยครั้งจะกลายเป็นเรื่องปกติ ครรลองชีวิตแบบสามช่วงจึงเป็นเรื่องล้าสมัย ครรลองชีวิตโลกยุคดิจิทัล จะเป็นแบบเปิดกว้างและวนเวียนสลับกันไปมาระหว่างช่วงกิจกรรมต่างๆ (Open-Loop Model) โดยมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ในทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยยี่สิบ สามสิบหรือหกสิบก็ตาม เช่นเดียวกัน การทำงานก็ไม่ถูกจำกัดด้วยวัยเช่นกัน โดยสามารถทำงานหรือเป็นผู้ประกอบการได้ทุกวัย ในวัยสิบหก สามสิบ ห้าสิบหรือเจ็ดสิบ ตราบใดที่สุขภาพยังเอื้ออำนวยอยู่
"ผู้สูงวัยต่างจากผู้ชราภาพ"
ปัจจุบัน คือ รอยต่อระหว่างอดีตกับอนาคต ปัจจุบันจึงเป็นจุดที่มนุษย์อาศัยประสบการณ์ในอดีตมาคาดการณ์และวางแผนอนาคต แต่ในโลกยุคดิจิทัลนี้ อนาคตข้างหน้าล้วนเป็นบริบทใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต แนวความคิดในการจัดการกับอนาคตจึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด
การที่คนไทยมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ชี้ว่า ผู้สูงวัยในประเทศไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ สังคมจึงจำต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) ที่ว่า ผู้สูงวัยคือผู้ชราภาพ ปัจจุบัน สังคมสูงวัยมาพร้อมกับช่วงอายุขัย (life span) และช่วงสุขภาพดี (health span) ที่ยาวขึ้น ผู้สูงวัยส่วนใหญ่จึงยังอยู่ในสภาพที่ทำงานได้ รัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆให้เกิดความยืดหยุ่น เพื่อช่วยให้สังคมได้ประโยชน์จากผู้สูงวัยที่มากไปด้วยปัญญาและประสบการณ์ ดังนั้น "สังคมสูงวัย" จึงไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวอีกต่อไป สำหรับผู้สูงวัย การมีอายุยืนยาวไม่ใช่แค่การนับจำนวนปีปฏิทินที่มีชีวิตอยู่ แต่เป้าหมายคือ การยืดความหนุ่มสาวหรือช่วงที่มีสุขภาพดีให้ยาวออกไป จนครอบคลุมส่วนใหญ่ของอายุขัย โดยลดช่วงความชราทางชีวภาพให้เหลือสั้นที่สุดในบั้นปลายของชีวิต
การกำหนดอายุที่ต้องเกษียณตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมื่อมนุษย์มีอายุเกินตัวเลขหนึ่งก็จะหมดสภาพการทำงาน ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ง่ายเกินไปและคงถูกยกเลิกไปในอนาคต ด้วยอายุขัยคนไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่า คนไทยที่อยู่ในช่วงวัย 40 ปีในวันนี้ คงสามารถทำงานไปจนถึงอายุ 70 ปีสบายๆ ส่วนคนในช่วงวัย 20 ปี เชื่อว่า เขาจะทำงานจนถึงอายุ 70 ปลายๆ หรือ 80 ต้นๆ ในอนาคต
"สงครามแย่งชิงปัญญาชน"
ประเทศที่จะมีเศรษฐกิจดีในทศวรรษหน้า คือ ประเทศที่มีประชากรจำนวนมากพอและส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน ต่างจากสังคมสูงวัยที่อัตราการเกิดลดลงและอายุวัยทำงานลดลง ประเทศเหล่านี้จำเป็นจะต้องนำบุคคลต่างชาติให้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเสริมทัพในประเทศ หากปราศจากประชากรวัยทำงานเข้ามาแทนที่ผู้สูงวัย ผลผลิตทางเศรษฐกิจก็จะตกต่ำ และขาดประชากรวัยทำงานมาช่วยดูแลประชากรผู้สูงวัย
ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในการดึงดูดปัญญาชนต่างชาติเข้ามาร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศ การแย่งชิงปัญญาชนต่างชาติมีการแข่งขันกันอย่างหนักในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ สามารถเข้าถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติสูงเหล่านี้ด้วยผลตอบแทนและเงื่อนไขที่ดีกว่า ดังนั้น ไทยควรเน้นที่การดึงดูดคนต่างชาติมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน โดยการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยไทยได้พัฒนาความเป็นสากล (Internationalization) เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งเมื่อจบแล้วมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะประกอบอาชีพ สร้างธุรกิจ สร้างงาน และสร้างนวัตกรรมให้แก่ไทย นี่ควรเป็นยุทธศาสตร์ของชาติที่สำคัญยิ่งในการเตรียมพร้อมสำหรับยุคที่ประเทศไทยจะต้องเขยิบขึ้นไปเป็น”สังคมสูงวัยระดับยิ่งยวด”ในอีกสิบปีข้างหน้า
บทความโดย ศ.ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย, ราชบัณฑิต
อ้างอิง Worsak KN