วันนี้ (8 ธันวาคม 2565) เวลา 09.00 น. กลุ่ม Beach for life และเครือข่าย #ประชาชนทวงคืนชายหาด ได้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องจากรัฐบาล พร้อมกับอ่านประกาศคำแถลงการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่
1.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น
2.กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA
3.ฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากกำแพงกันคลื่น
ต่อมา เวลาประมาณ 10.30 น. ได้มีการประชุมเจรจากับนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนจากรัฐบาล (ชมคลิป)
ก่อนหน้านี้ (เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565) กลุ่ม Beach for life และเครือข่าย #ประชาชนทวงคืนชายหาด จัดเสวนาในหัวข้อ ‘ชายหาดไทยกำลังหายไป เพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น’ที่บริเวณชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นการเสวนาระหว่างแกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของชายหาด กลุ่มนักเคลื่อนไหวปกป้องชายหาด ผู้จัดทำสื่อภาพยนตร์ และสื่อมวลชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพูดคุยถึงผลกระทบทางชายฝั่งทะเลที่เกิดจากกำแพงกันคลื่น
ไวนี สะอุ ตัวแทนประชาชนชาวตำบลสะกอม จังหวัดสงขลา กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา ตนเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยวิธีการก่อสร้างโครงสร้างแข็งหรือนำหินขนาดใหญ่มาตั้งเพื่อหวังลดการปะทะของคลื่น แต่การป้องกันดังกล่าวอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะตั้งแต่ตนเห็นมา กำแพงกันคลื่นเป็นสิ่งเร่งทำลายชายหาดมากกว่าปกป้อง หากในอนาคตประเทศไทยจะเร่งสร้างแต่กำแพงกันคลื่น แล้วจะเหลือชายหาดไว้ให้ลูกหลานได้อย่างไร ตนจึงรู้สึกเสียดายหากเป็นเช่นนั้น
“ชายหาดที่สะกอมเคยสวยงาม จนกระทั่งมีฆาตกรที่ชื่อว่ากำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นมา รู้ไหมชายหาดเกิดมาจากไหน ชายหาดก็มาจากคลื่น ก่อตัวพัดพาทรายกลายมาเป็นชายหาด เมื่อถึงฤดูกาลก็จะลากคลื่นและทรายกลับไป ทั้งหมดเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมา จริงอยู่ที่บางพื้นที่อาจถูกกัดเซาะไปในมรสุม บางช่วง เป็นการกัดกินตามธรรมชาติ แต่วันนี้ด้วยโครงสร้างแข็งที่ชื่อว่าฆาตกรกำแพงกันคลื่นได้ทำลายล้างไปเยอะมาก และไม่สามารถทวงคืนได้อีกต่อไป”
ไวนีเสริมอีกว่า กระบวนการยกเลิก EIA ที่ไว้สำหรับตรวจสอบการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นถูกยกเลิกไป เท่ากับว่ารัฐเป็นผู้เร่งทำลายชายหาดเสียเอง และไม่ฟังเสียงของประชาชน
ปริดา คณะรัฐ กลุ่ม Saveหาดม่วงงาม กล่าวไม่ต่างจากตัวแทนประชาชนชาวตำบลสะกอมว่า แต่ก่อนหาดม่วงงามมีความสวยงาม จนกระทั่งมีเสาโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นเริ่มก่อสร้าง จึงแสดงความเป็นกังวลว่าชายหาดจะหายไปเหมือนหาดที่อื่นๆ และได้รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านกำแพงกันคลื่น ถึงขั้นมีการฟ้องร้องให้ศาลตัดสินในกรณีดังกล่าว
เฉลิมศรี ประเสริฐศรีมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีของหาดม่วงงามว่า ในช่วงนั้นอยู่ระหว่างเหตุการณ์โควิด-19 มีการตอกเสาเข็มต้นแรกลงไป ด้วยเหตุผลว่าหาดมีการกัดเซาะชายฝั่ง ความกังวลดังกล่าวนำไปสู่การศึกษา พบว่าหาดอ่าวน้อยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่รัฐก็มีการดำเนินโครงการทั้งที่ชายหาดดังกล่าวเป็น ‘หาดสมดุลสถิต’ คือมีการกัดเซาะและเติมทรายอย่างเป็นธรรมชาติตามฤดูกาล หรือแม้แต่บางหาดมีทั้งเอกสารของราชการและนักวิชาการ รวมทั้งเอกสารของผู้ตรวจการแผ่นดิน เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องการกัดเซาะ แต่ก็ยังมีการดำเนินโครงการกำแพงกันคลื่น
“มีรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ตรวจดูแลเรื่องการเงิน พบว่าในหลายพื้นที่มีการสร้างที่เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ตอบสนองต่อการใช้งานที่แท้จริง จึงนำหลักฐานดังกล่าวไปชี้แจงให้ศาลฟัง และเห็นว่าหากการก่อสร้างอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นจึงมีคำสั่งให้ชะลอ แต่ที่ใดมีการก่อสร้างที่กำลังจะแล้วเสร็จ ก็เป็นเรื่องยากที่จะยุติ ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงเป็นการให้ชะลอการสร้างมากกว่าการยุติ”
อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life กล่าวว่า ทุกชายหาดมีการกัดและการเติมทรายตามธรรมชาติ ยกเว้นกรณีที่เกิดพายุขนาดใหญ่เข้าสู่ชายฝั่ง ถึงจะเกิดกรณีการกัดเซาะที่รุนแรง เมื่อกลับมาดูที่ชายหาดม่วงงามพบว่าไม่ได้เกิดการกัดเซาะแต่อย่างใด แต่ยังมีการอนุมัติให้เกิดการสร้างกำแพงกันคลื่น
“ตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติให้การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือกรมโยธาธิการฯ ควานหาพื้นที่ชายหาดเพื่อสร้างกำแพงกันคลื่น หาดที่ไม่มีปัญหาการกัดเซาะก็สร้างกำแพงและอ้างว่าหาดดังกล่าวมีปัญหา เช่น หาดอ่าวน้อย ที่เป็นหาดสมดุลอยู่แล้ว หรือหาดดอนทะเลที่มีการกัดเซาะจากพายุปลาบึก แต่เมื่อพายุกลับไป หาดงอกมามากกว่าสามเมตร แต่ทางกรมโยธาธิการฯ ก็ไปสร้างกำแพงกันคลื่นโดยอ้างเหตุผลเรื่องของการป้องกันความเสียหาย ซึ่งความเสียหายเกิดปี 2562 แต่สร้างปี 2564
“คำถามคือความจำเป็นเร่งด่วนหมดไปแล้ว แต่ก็ยังมีการก่อสร้างเกิดขึ้น หาดฟื้นฟูตัวเองเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่มีความจำเป็น ในหลายพื้นที่เป็นแบบนี้”
อภิศักดิ์ยังเปรียบเทียบว่า ในการป้องกันชายฝั่งในหลายประเทศจะมีวิธีการป้องกันที่หลากหลาย เริ่มจากเบาไปหนัก ไม่ต่างจากการให้ยาของหมอ แต่รัฐไทยโดยเฉพาะกรมโยธาธิการฯ เริ่มใช้จากยาแรงคือการสร้างกำแพงกันคลื่นและใช้กับทุกชายหาด ซึ่งนักวิชาการในหลายประเทศต่างให้ความเห็นตรงกันว่า การสร้างกำแพงกันคลื่นคือความตายของชายหาด
การระบาดของกำแพงกันคลื่นเกิดจากการที่รัฐบาลปล่อยให้กรมโยธาธิการฯ มีอำนาจป้องกันชายฝั่ง ทั้งที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในงานด้านทะเล เป็นผู้มีอำนาจในการจัดสร้างเขื่อนกันคลื่นทั่วประเทศ อีกทั้งปล่อยให้การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จึงเสมือนเป็น ‘ช่องว่างทางกฎหมาย’ ที่ทำให้มีการสร้างกำแพงกันคลื่นมากกว่า 125 โครงการทั่วประเทศไทย ใช้งบประมาณรวมกันทั้งสิ้นกว่า 8,400 ล้านบาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นกรมหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว รับผิดชอบกว่า 107 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6,900 ล้านบาท และทุกโครงการสร้างผลกระทบต่อชายหาดอย่างร้ายแรง
วรวัฒน์ สภาวสุ นักกีฬาไคต์เซิร์ฟ (Kite Surf) กล่าวว่า ตนเป็นนักกีฬาไคต์เซิร์ฟ ซึ่งต้องใช้ทั้งแรงลมและชายหาด จึงทำให้พวกตนเห็นคุณค่าของชายหาด หากชายหาดหายไปคงก่อให้เกิดความเสียใจ เราต้องการชายหาดกว้างๆ มากกว่าโครงสร้างแข็งใหญ่ๆ ที่ทำลายชายหาดที่สวยงาม
ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘เบื้องหลังกำแพง’ เล่าถึงผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ที่ทำให้ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ต้องสูญเสียตั้งแต่ทรัพย์สินจนถึงชีวิต ภายใต้เบื้องหลังกลุ่มอิทธิพลต่างๆ
เขาเล่าจากมุมมองคนทำสารคดี ถึงการเริ่มต้นศึกษาผลกระทบของกำแพงกันคลื่น เมื่อ 10 ปีก่อนที่เขาลงพื้นที่ พบว่าเริ่มมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมาก่อนแต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก จนปัจจุบัน คนเริ่มสนใจหลังจากที่การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเริ่มมีกระจายไปในทุกหาด
ยุคนี้เริ่มทำให้เห็นหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่าการก่อสร้างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาว่าดี สามารถกันคลื่นได้ กลายเป็นตัวทำลายชายหาด แม้ว่ารัฐอ้างว่าจะเป็นการปกป้องพื้นที่สาธารณะสำหรับชายหาด แต่ความเป็นจริงกลับเป็นการสูญเสียชายหาดที่มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น คนเริ่มตื่นรู้แล้วว่าหาดกำลังหายไป แต่หากรอให้ทุกคนตื่นรู้หมด คำถามคือจะทันกับการหายไปของหาดหรือไม่ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เป็นคนที่ร่วมต่อสู้ แต่ใช้วิธีการที่ตัวเองถนัดคือการทำภาพยนตร์เผยแพร่ให้คนรู้
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี กล่าวว่า การทำ EIA เป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรจะทำ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมรัฐถึงปล่อยให้เกิดการยกเลิก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐมักจะอ้างความรวดเร็วในการแก้ปัญหา แต่เมื่อยกเลิกไปกลับเริ่มเห็นปัญหาที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ติดชายฝั่งทั่วประเทศไทย หากไม่มีกำแพงกันคลื่น งบประมาณที่หน่วยงานกรมโยธาธิการฯ และกรมเจ้าท่าได้รับก็จะไม่ถูกเทให้กับการสร้างกำแพงขนาดนี้
ฐิติพันธ์กล่าวเสริมอีกว่า รัฐบาลชุดนี้ทำให้เรื่องการถอด EIA ออกจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ไม่ต่างจากการถอนกฎหมายผังเมืองที่เป็นตัวทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นไปแล้ว การแก้ไขกลับมาเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าเดิม ผังเมืองไม่สามารถถูกโซนนิงเป็นที่อยู่ได้อีกแล้ว เพราะไปถอนผังเมืองเปลี่ยนสีเขียวเป็นสีม่วง ไม่ต่างจากกรณีนี้ที่ทำให้โครงการที่เป็นปัญหากับธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายแต่แก้ปัญหาได้ยาก
อย่างไรก็ดี อภิศักดิ์กล่าวย้ำว่าการทำ EIA คือหัวใจของการปกป้องสิ่งแวดล้อม แม้หลายคนอาจบอกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมในประเทศนี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้องและไม่ดี แต่สำหรับตนคิดว่าการมี EIA ดีกว่าไม่มี และทางกลุ่ม Beach for life ไม่ได้มีปัญหากับกำแพงกันคลื่น
กำแพงไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ตนมีปัญหากับกระบวนการการเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่น และหน่วยงานที่ไปผลักดันกำแพงกันคลื่น ทั้งหมดอยู่ที่เรื่องของการจัดการของหน่วยงานรัฐ
“เราพยายามจัดการโครงสร้างกำแพงกันคลื่นให้ถูกต้อง เพื่อให้คนไทยมีชายหาด เราไม่อยากให้หอศิลป์มีภาพชายหาด แล้วคนรู้ว่ามันหายไป และหน่วยงานต้องกล้ามากพอ อย่างคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลายคนรู้ว่าเขารักสิ่งแวดล้อม และผมเชื่อ สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ ถ้าคุณวราวุธเห็นแก่สิ่งแวดล้อม ต้องเอากำแพงกลับมาทำ EIA สิ่งที่เรียกร้องคือต้องการกระบวนการที่ดี และผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาที่ถูกต้อง”
สุดท้ายก่อนจบกิจกรรมเสวนา ทาง Beach for life และเครือข่าย #ประชาชนทวงคืนชายหาด ได้นำผืนผ้าที่มีการเขียนข้อความเพื่อเรียกร้องการปกป้องชายหาดมาถือและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สงบนิ่งไว้อาลัยแด่ชายหาดบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และบนสกายวอร์กแยกปทุมวัน
ที่มา เพจเฟซบุ๊ค Beach for life