xs
xsm
sm
md
lg

คพ. ชวนเปลี่ยนขยะกำพร้า ไม่ให้ "กำพร้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คพ.ส่งเสริมการเปลี่ยนขยะกำพร้า ไม่ให้กำพร้า โดยการส่งไปกำจัดทิ้งอย่างถูกต้อง ล่าสุดเปิดโครงการ “ขยะไม่กำพร้า” พร้อมนำร่องส่งมอบขยะกำพร้า 2 ตัน ให้เอสซีจีนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน


ขยะกำพร้า คำนิยามของขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ ขยะพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น เช่นบรรดาหีบห่อพลาสติกต่างๆ ถุงแกง ถุงน้ำยา ซองขนม กล่องโฟม แปรงสีฟัน นั่นทำให้ขยะชนิดนี้ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางของขั้นตอนการกำจัดที่ถูกวิธี

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “ขยะไม่กำพร้า” เพื่อนำขยะกำพร้าส่งบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG) นำไปแปรรูปเป็นพลังงาน โดยมี นายมงคล พรชื่นชูวงศ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG) เป็นผู้รับมอบ

อธิบดี คพ. กล่าวว่า การจัดทำโครงการ “ขยะไม่กำพร้า” สืบเนื่องมาจากปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ยังมีการทิ้งขยะรวมกันทุกประเภท ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับภาระในการกำจัดขยะจำนวนมาก และเมื่อมีการคัดแยกขยะแล้ว ยังมีขยะส่วนที่เหลือซึ่งเรียกว่าขยะกำพร้าอีกจำนวนมากที่ต้องนำไปกำจัดทิ้ง ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หมอน ปลอกหมอน มุ้ง ชุดชั้นใน ถุงน่อง ถุงเท้า เป็นต้น ซึ่งขยะเหล่านี้ หากมีการเก็บรวบรวมในปริมาณมาก จะสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานได้

คพ.ร่วมกับ SCG จัดทำโครงการนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว โดย คพ. ได้เชิญชวนเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานนำขยะกำพร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมารวบรวมให้มีปริมาณมากพอ จนคุ้มค่าต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการเผาเป็นพลังงาน ซึ่งในปี 2565 มีผู้นำขยะกำพร้ามาบริจาคจำนวน 2 ตัน คพ.จะนำขยะกำพร้าเหล่านี้ส่งมอบให้ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG) ขนส่งไปยังโรงไฟฟ้า มาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานต่อไป


"กิจกรรมนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินการลด และคัดแยกขยะ ณ ต้นทาง เพื่อให้เกิดรากฐานการจัดการขยะที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การสร้างกลไกความร่วมมือจากภาคส่วน โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถเป็นต้นแบบขยายไปยังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครัวเรือน เป็นการสร้างวินัยในการคัดแยกขยะ ลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบในสถานที่กำจัดขยะ นำไปใช้ประโยชน์ด้านการผลิตพลังงาน" นายปิ่นสักก์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น