xs
xsm
sm
md
lg

จุดเปลี่ยน พลิกผืนป่าไทย (ตอน 2) เหลือป่า 102 ล้านไร่ (31.68 %) เอาอยู่มั้ย ? / สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•ผมขอแนะนำ เปลี่ยนหลักคิดงบรักษาป่า ใช้ คุณค่า ประโยชน์ป่าต้นน้ำ เป็นเกณฑ์จัดสรรงบประมาณ เลิกใช้สูตร อัตราเจ้าหน้าต่อพื้นที่ป่า..!!

ความเดิมตอนที่แล้ว มองย้อนกลับไปไม่ไกล ‘การยอมรับให้คนอยู่กับป่าได้’ ตามข้อเสนอแนะของกลุ่มองค์กร ภาคประชาชนต่างๆเพิ่งเกิดขึ้นสมัย รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่เอง โดยรัฐบาลให้ มีการแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าทั้ง 2 ฉบับ เมื่อ ปี 2559 ซึ่งแก้ไขและประกาศใช้เป็นพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติออกเป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จึงเป็นกฎหมาย เปิดประตูผืนป่า ให้สิทธิคนทำกิน หรือ ‘คนอยู่กับป่า’ได้ !!? อย่างมีเงื่อนไข

‘กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวนี้ กำหนดให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่กฎหมายทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับ ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563’ 

กฎหมาย 2 ฉบับให้สิทธิประชาชนถือครองที่ดินและรัฐสามารถจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนได้ โดยจัดสรร จากแปลงที่ดินที่มีการสำรวจตามมติ ครม. 30 มิ.ย 41 ในพื้นที่ที่มีร่องรอยการทำประโยชน์ด้วยภาพถ่ายทางอากาศสี Ortho photo ปี 2545 ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 ซึ่งจะต้องควบคุมไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม.. และพื้นที่ลุ่มน้ำ3,4,5 โดยออกหนังสืออนุญาต สทก (สิทธิทำกิน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้มอบให้กับราษฎรนั้นเป็นไปตาม พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 กำหนดให้มีมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี ขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีความจำเป็นในการครองชีพ สามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้) และ จากการสำรวจภาพถ่ายดาว เทียมในปี 2557 พบว่ามีชาวบ้านบุกรุกครอบครองที่ดินก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 จำนวน 3.6 ล้านไร่ และบุกรุกครอบครองหลังมติครม.อีก 2.3 ล้านไร่ รวมเป็น 5.9 ล้านไร่ ( ส่วนประชาสัมพันธ์ :กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กุมภาพันธ์ 2562) จึงมีรูปแบบ เงื่อนไข การจัดสรรที่ดินโดยสรุปดังนี้ :-

1. 'พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1,2 ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ ก่อนปี 2545 >> 2.1 ล้านไร่ ระหว่างปี 2545-2557 >> 2.8 ล้านไร่ คณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) มีมติในคราวประชุมครั้งที่2/ 2561 วันที่ 18 มิถุนายน 2561 เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ตามที่คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเสนอจัดหาที่ดินมีมติ ในการประชุมครั้งที่ 2 / 2561 วันที่ 24 พฤษภาคม 2561ให้นำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่บุกรุกระหว่างปี 2545 - 2557 มาดำเนินการภายใต้ คทช.โดยกำหนดมาตรการและเงื่อนไขที่เหมาะสม'( ธีรยุทธ สมตน ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินป่าไม้)

2. พื้นที่ลุ่มน้ำ 3,4,5 ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ ก่อนปี 2545 >> 3.9 ล้านไร่และเข้าทำประโยชน์ ปี 2545-2557 >> 3.7 ล้านไร่ ให้กรมป่าไม้นำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาคิ ตาม มติ ครม.30 มิ.ย 41 มาจัดสรรที่ทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล

✅ รวมพื้นที่ป่าถูกบุกรุกในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2,3,4,5 ดังกล่าวข้างต้น เตรียมจัดสรรให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ 12.5 ล้านไร่ !! และนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เร่งจัดที่ดินทำกินให้ประชาชน ด้วยความสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน โดยจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้ว 1,442 พื้นที่ใน 70 จังหวัด รวมเนื้อที่ 5,757,682 ไร่ ครอบคลุมประชาชน 69,368 ราย (เพจ ‘ไทยคู่ฟ้า’ 8 มีนาคม 2565)

นับเป็นครั้งแรก ของไทยที่มีการจัดการพื้นที่การครอบครองของชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ โดยมีมาตรการแนวทาง และการปรับปรุงกฎหมาย อนุญาตให้ชาวบ้านอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์ที่ดินได้

อย่างไรก็ตามยังหลงเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 523,588 ราย ทำการเกษตรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกประเภท 8,660,726 ไร่ (สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 64)

ใกล้เคียงกับรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปี 2561 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่ามีประชาชน เข้าไปอยู่อาศัยและทําประโยชน์ในเขตสงวนหวงห้าม ที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในป่าสงวนแห่งชําติ จํานวน 450,000 ราย เน้ือที่ 6.4 ล้านไร่

ปัญหา คือ เกษตรกรกว่า 5 แสนราย ที่ทำการเกษตร ในพื้นที่ป่ากว่า 8 แสนไร่ โดยไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย และไม่มีเอกสารสิทธินั้น เป็นคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งน่าจะอยู่ระหว่างรอการตรวจสอบการครอบครองที่ดิน หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี หรือ ยังไม่แสดงตนเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ ซึ่ง คนกลุ่มนี้อาจเป็น เกษตรกรตัวจริงหรือเป็น กลุ่มนายทุนหรือเป็นผู้ครอบครองแทน ซึ่งยังไม่มีการแยกแยะข้อมูลได้ชัดเจนว่า ในจำนวนกว่า 5 แสนรายนั้น จะจัดอยู่ในประเภทใดบ้าง และ จะจัดไว้ในแต่ละพื้นที่เขตป่าของแต่ละประเภทใด?

‘ความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินในประเทศไทย อยู่ในระดับสูงมาก มีการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ หยิบมือเดียว นโยบายจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรผู้อยากไร้ของรัฐบาลโดยคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ถือเป็นนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน เพิ่มสิทธิการถือครองที่ดินทำกิน เพิ่มรายได้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นบริบทเดียวกับการแก้ปัญหาความอยากจนด้วย’

‘การดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำฯ โดยการถือครองที่ดินดังกล่าว สอดคล้องกับบทบาท อำนาจ หน้าที่ของ คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ในการส่งเสริมโอกาส สิทธิ การเข้าถึงทรัพยากร ความเท่าเทียม การเข้าถึงบริการของประชาชนเพื่อบูรณาการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม..’

‘เราได้ร่วมแสวงหา เสนอข้อคิดเห็น ร่วมบูรณาการ แก้ปัญหาระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนผลักดันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ของรัฐบาลโดยคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ‘

โครงการนี้เป็นประโยชน์โดยตรง ต่อชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เป็นการป้องกัน ลดการบุกรุกพื้นท่ีป่าและการแก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ

เราพบว่าเกษตรกรผู้ร่วมโครงการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.71 เห็นว่าโครงการจัดท่ีดินทํากินให้ชุมชนก่อให้เกิดประโยชน์และเกิดความมั่นคงในการถือครองท่ีดิน >>และผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ปฏิรูปท่ีดินถึงร้อยละ 90.48 เห็นเช่นเดียวกันว่า โครงการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชนช่วยให้เกิดความั่นคงในการถือครองที่ดิน แก้ไข ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปี 2561’

อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของนโยบายการจัดที่ดินทำกินที่กำลังก้าวเดินอยู่นี้ ผมมีความกังวล และห่วงใยว่าจะมีความมั่นคงและดำเนินการต่อไปตามยุทธศาสตร์เดิมหรือไม่ ? เมื่อบริบทการเมือง และ รัฐบาลเปลี่ยนไป !!

ซึ่งในการสัมมนาของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2565 ที่อำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี โดยมีนายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมเสวนาด้วยในหัวข้อ'ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูป่า-การร่วมมือกันระหว่างกรมป่าไม้กับ คณะกรรมาธิการฯ ว่า นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ ก็มีความห่วงใยเช่น เดียวกัน'

ทั้งนี้นายชีวะภาพ กล่าวในการสัมมนาว่า ‘เริ่มมีสัญญาณไม่ดี ...ที่ผ่านมารัฐพยายามออกนโยบายเพื่อไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม เช่น การนำป่าเสื่อมโทรมมาทำเป็นที่ ส.ป.ก. ประมาณ 30 ล้านไร่ เพื่อให้เกษตรกรทำกินอยู่กับที่ โดยห้ามขายต่อและให้ตกทอดเป็นมรดกเท่านั้น แต่ในขณะนี้ทราบว่ามีบางส่วนมีการเปลี่ยนมือกันแล้ว '

'กรณีภูทับเบิกเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาการถูกบุกรุกพื้นที่สร้างเป็นรีสอร์ท ก่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเข้าตรวจยึดพื้นที่เมื่อปี 2562 มีรีสอร์ทประมาณ 100 กว่าแห่ง เมื่อเข้าทำการตรวจยึดคืนพื้นที่ทำให้รีสอร์ท ลดลงเหลือประมาณ 50 แห่ง แต่ในขณะนี้ ปี 2565 มีรีสอร์ทเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300 กว่าแห่ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ม้งอยู่เป็นจำนวนมาก (รวมทั้งดอยม่อนแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะใช้ความรุนแรงขัดขวางเจ้าหน้าที่ มีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ในขณะปฎิบัติหน้าที่ เราควรหาแนวทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวเพื่อให้รัฐสามารถควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด'

'นอกจากนี้ยังมี การจัดสรรพื้นที่เป็นนิคมสหกรณ์สร้างตนเอง และนิคมสหกรณ์ต่าง ๆ อีก ประมาณ 10 ล้านไร่ ซึ่งได้มีการซื้อขายและตกเป็นของนายทุนจำนวนหนึ่ง จนปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายนำผืนป่ามาทำเป็นโครงการ คทช. ในลักษณะที่ดินแปลงรวมเพื่อให้ประชาชนสามารถทำกินในพื้นที่ป่าได้ '

'การดำเนินการดังกล่าวต้องวางระเบียบ กฎเกณฑ์และมีระบบตรวจสอบที่รัดกุม รอบคอบ หน่วยงานตรวจสอบต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต' รองอธิบดีกล่าวอย่างกังวล


คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อเสนอแนะ ร่วมผลักดันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดสรรที่ดินทำกินกับผู้ยากไร้ ก้าวเดิน คู่ขนานไปกับการรักษาผืนป่าอนุรักษ์ฯ ดังนี้

1 . ขอให้เร่งดำเนินการจำแนกประเภทเกษตรกร 523,588 ราย ที่ทำการเกษตร ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเอกสารสิทธิ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกประเภท 8,660,726 ไร่ ว่า เป็นเกษตกรผู้ยากไร้ กลุ่มนายทุนฝากสิทธิถือครองไว้กับชาวบ้าน กลุ่มผู้อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรือ อยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำประโยชน์ เพื่อป้องกันการถือครองบุกรุก เป็นความเสี่ยงการสูญเสียป่าต้นน้ำในอนาคต

2 . ขอให้ กระทรวงยุติธรรม เร่งเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม คดีที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบุกรุกป่า ซึ่งจะสามารถช่วยคนได้มากถึง 80,000 ราย (15 กุมภาพันธ์ 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม : nation online ) และได้แต่ตั้งนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน คณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อความละเอียดรอบคอบ การตรวจสอบคดีที่มีมากถึง 48,000 คดี ( thaigov.go.th / ไทนรัฐออนไลน์ ; 22 เม.ย.65 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม )

3 . เปลี่ยนหลักคิดการจัดสรรงบประมาณในการดูแลรักษาผืนป่า จากที่ยึดเกณฑ์อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ต่อพื้นที่ป่า(ไร่ : คน) เป็นยึดหลักความสำคัญและมูลค่าของผืนป่าแต่ละประเภท เช่น ผืนป่าต้นน้ำ ผืนป่าที่มีส่วนช่วยซึมซับน้ำป้องกันน้ำท่วม หรือลดภาวะแล้ง

‘ ปัจจุบันเรามี ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ ประมาณ 20,000 คน กระจายอยู่ตามพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ มีพื้นที่ป่าที่ป่าสมบูรณ์กว่า 102 ล้านไร่ หรือ 31.68% เฉลี่ยเจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลพื้นป่าถึง 5,100 ไร่ ได้ค่าตอบแทน เฉลี่ย 6,900 – 9,000 ต่อเดือน ( 1.35 -1.76 บาท/คน/ไร่)’

คงเห็นแล้วว่า ‘เราสูญเสียป่าต้นน้ำ และผืนป่าสมบูรณ์นับล้านไร่ เราต้องสิ้นเปลือง เงินแผ่นดินนับหมื่นล้านบาทเพื่อสร้างแหล่งน้ำมาตลอด 50 ปี เราต้องจัดงบปีละหลายหมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วม

หลักคิดแบบเดิมล้มเหลว หลักคิดใหม่ ควรยึดคุณประโยชน์ มูลค่าการเป็นผืนป่าต้นน้ำ ที่จะส่งผลดีต่อคนไทยทั้งประเทศ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน การจัดสรรงบประมาณตามหลักคิดใหม่นี้ คลอบคลุมถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีทุกชนิดในการเฝ้าระวังผืนป่าด้วย…


บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น