xs
xsm
sm
md
lg

ขยายภาพปัญหาคืนผืนป่า…จุดเปลี่ยนพลิกผืนป่าไทย (ตอน 1) / สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•‘เป้าหมายหลักหยุดการสูญเสียผืนป่า รักษาต้นน้ำ แต่ Messages นี้ สื่อไม่ถึง...กลายเป็นว่า รัฐยึดที่ทำกินคนจน ไล่คนออกจากป่า..?’
•227 ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า) ใน 226 ป่าอนุรักษ์มีคนอาศัยอยู่ 4,192 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 4,295,501.24 ไร่ (1 ป่าปลอดคน)


นับจากวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ถึงปัจจุบัน ผ่านมา 22 ปี ยังไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนตามมติ ครม. 30 มิ.ย 2541 ได้แม้แต่แปลงเดียว อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐยังไม่เคยมีการจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลอย่างชัดเจนพอที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหา

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงให้มีการยกร่างแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าทั้งฉบับ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติออกเป็น พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แล้วเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ‘กฎหมายทั้งสองฉบับนี้กำหนดให้กรมอุทยานฯ สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่กฎหมายทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563’

การออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นกฎหมายสองฉบับแรกที่ยอมรับ ’การมีอยู่ของคนในป่า’ หรือ ‘คนอยู่กับป่า’ ได้อย่างมีเงื่อนไข

พื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์จะต้องการสำรวจการถือครองที่ดินของราษฎรมีอยู่ทั้งสิ้น 4.7 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 117 ล้านบาท เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ 4,458 คนเพื่อลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจนี้

‘ผู้ที่จะได้รับการสำรวจถือครองในเบื้องต้น ต้องไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติทั้ง 2 ใช้บังคับ ภายใต้กรอบเวลาตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557’

และจะไม่ได้สิทธิในการครอบครอง แต่ได้สิทธิในการใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ พูดง่ายๆ ก็คือ สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ไปตลอดชีวิต ส่วนลูกหลานที่ยังประกอบอาชีพการเกษตรก็ยังคงสามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพียงแต่สิทธิ์ในที่ดินนี้เป็นเพียงสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ถือครองตามกฏหมาย (property right)

การสำรวจตามกฎหมายดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการสำรวจเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ตามกฎหมาย

ผลการสำรวจตามกรอบเวลา 240 วันพบว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. 2563) ในพื้นที่ 227 ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า)

1. ไม่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1 แห่ง

2. อีก 226 ป่าอนุรักษ์ มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 4,192 หมู่บ้าน เนื้อที่ 4,295,501.24 ไร่ แบ่งเป็น

✅ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 126 แห่ง มีจำนวน 2,745 หมู่บ้าน เนื้อที่ 2,550,044.18 ไร่

✅ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง 1,003 หมู่บ้าน 1,471,908.37 ไร่

✅ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 40 แห่ง 444 หมู่บ้าน 273,548.69 ไร่

‘ถือเป็นตัวเลขสำรวจที่สมบูรณ์ ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันที่สุด ตั้งแต่ที่มีหน่วยงานรัฐได้ดำเนินการสำรวจมา มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและมีการเดินรังวัดที่ดินอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการรับรองของชุมชนโดยเฉพาะจากผู้ที่ใช้ประโยชน์ในแปลงข้างเคียง เพื่อเป็นการทวนสอบข้อมูลที่สำรวจได้อีกทางหนึ่งด้วย’


ปฏิบัติการ 'คืนผืนป่า' พยัคฆ์ไพร พญาเสือ ฉลามขาว ทวงคืนป่า

'จ.เลย' ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก เคยมีป่า 1 ล้านไร่ 20 ปีที่ผ่านมา ถูกทำลายเหลือเพียง 2-3 แสนไร่ ⁉️

พยัคฆ์ไพรออกล่าทวงคืนป่าให้แผ่นดิน คืนผืนป่าได้ จำนวน 342,105 ไร่

ย้อนความคิด (หัวหน้าพยัคฆ์ไพร)

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าทีมพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ (ขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์ ครั้งนั้นว่า (https://mgronline.com/crime/detail/9600000017431 (20 ก.ค.2560)

การยึดคืนพื้นที่ป่าของทั้ง 3 กรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ปฏิบัติการโดยใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ มาประยุกต์ สนับสนุน การป้องกันปราบปราม อาทิ อากาศยานไร้คนขับ และการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมติดตามการบุกรุกพื้นที่ป่า ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิ.ย.57 และฉบับที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย.57’

จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายมากที่สุดใน จ.เลย ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าที่เคยมีอยู่กว่า 1 ล้านไร่ ถูกทำลายเหลือเพียง 2-3 แสนไร่

‘ตั้งแต่ปี 2558 มีการตรวจพบการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าสัก กรมป่าไม้ได้ทำยุทธการป่าสักยั่งยืน เป็นการบังคับใช้กฏหมาย และมีการปูพรมดำเนินการพื้นที่ที่มีกลุ่มนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่า ในรอยต่อ 3 จังหวัดคือ ที่ อ.น้ำหนาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ต่อเนื่องกับ อ.ด่านซ้าย จ.เลย และบางส่วนที่ติดต่อกับ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก โดย ยุทธการป่าสักยั่งยืนดำเนินการในปี 2558-2560 สามารถตรวจยึดพื้นที่คืนมาได้ประมาณ 3 หมื่นไร่’ (มติชน 9 พฤษภาคม 2562)

‘ในฐานะคนทำงาน ทั้งลงในภาคสนามเองและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดขออธิบายว่า ในชีวิตราชการ ยังไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่มีป่าไม้เพิ่มขึ้นเท่าช่วงเวลานี้มาก่อน ตั้งแต่ปี 2558 มีการตรวจพบการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าสัก กรมป่าไม้ได้ทำยุทธการป่าสักยั่งยืน เป็นการบังคับใช้กฎหมาย และมีการปูพรมดำเนินการพื้นที่ที่มีกลุ่มนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าในรอยต่อ 3 จังหวัด คือ ที่ อ.น้ำหนาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ต่อเนื่องกับ อ.ด่านซ้าย จ.เลย และบางส่วนที่ติดต่อกับ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก โดยยุทธการป่าสักยั่งยืนดำเนินการในปี 2558-2560 สามารถตรวจยึดพื้นที่คืนมาได้ประมาณ 3 หมื่นไร่’ (ชีวะภาพ ชีวะธรรม : มติชน 9 พฤษภาคม 2562)

นายชีวะภาพ ยืนยันว่า ‘ก่อนหน้านี้สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยหายไปเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่ แต่หลังจากมีมาตรการ “ทวงคืนผืนป่า” ออกมาชัดเจน และมีการตรวจสอบ พิสูจน์ สรุปผลทางนิติวิทยาศาสตร์ ภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว พบว่าตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น ยุทธการทวงคืนผืนป่าได้ผลอย่างชัดเจน ในฐานะคนทำงาน ทั้งลงในภาคสนามเองและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ขออธิบายว่าในชีวิตราชการ ยังไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่มีป่าไม้เพิ่มขึ้นเท่าช่วงเวลานี้มาก่อน’

ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ชุดพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชุดฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมผลการปฏิบัติของทั้ง 3 ชุด สามารถยึดคืนดำเนินคดีได้ 435,731 ไร่ แบ่งเป็นคดีบุกรุกเก่า (ก่อนปี 2557) จำนวน 342,105 ไร่ และคดีบุกรุกใหม่ (หลังปี 2557) จำนวน 88,000 ไร่ ในที่นี้เป็นการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่าที่เป็นนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลได้เป็นจำนวนมากถึง 342,105 ไร่ ถือเป็นผลการดำเนินงานที่ต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีรัฐบาลยุคไหนไล่บี้เอาผิดกับนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลได้ขนาดนี้มาก่อน

สังศิต พิริยะรังสรรค์
ผมนั่งทบทวนนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยใจเป็นกลาง นโยบายนี้มีผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคมไทย

นโยบายที่เป็นเชิงบวกช่วยให้ประเทศไทยสามารถหยุดการสูญเสียป่าไม้เฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่ ลงได้จริง นโยบายนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยรวม ทั้งในแง่ของการช่วยรักษาอุณหภูมิของโลก ไม่ให้โลกร้อนเร็วจนเกินไป ช่วยรักษาป่าต้นน้ำตามธรรมชาติเอาไว้ได้ จำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้รัฐบาลได้ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติว่า คนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย นี่เป็นการยอมรับข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมที่ส่งเสียงมาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการประกาศนโยบาย ของรัฐบาลชุดแรกที่ยอมรับสิทธิ์ของชุมชนในการทำมาหากินในผืนป่าได้ เป็นนโยบายที่เน้นการปรองดองผลประโยชน์ระหว่างชาวบ้านและชุมชนกับผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม หากจะเรียกนโยบาย ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในเรื่องนี้ว่าเป็นนโยบายประชานิยม (populism) ก็อาจจะเรียกว่าเป็นนโยบายประชานิยมเชิงบวก (positive populism) เพราะเป็นนโยบายประชานิยมที่ไม่ทำให้ประเทศอ่อนแอลง และไม่ทำให้ ความคิดจิตใจของประชาชนอ่อนแอลง โดยหวังพึ่งแต่รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยไม่หวังพึ่งตัวเอง

แต่แน่นอนว่านโยบายใดๆ ของรัฐบาลไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม ก็สามารถมองได้จากมุมมองจากผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน นโยบายทวงคืนพื้นป่าที่ใช้กำลังทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐในการปฎิบัติการนั้น การกวาดจับเกษตรกรไปดำเนินคดีอาญา เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วทุกภาคของประเทศไทยเป็นเรื่องจริง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะกล่าวอ้างว่าเป้าหมายของนโยบายการทวงคืนพื้นป่าอยู่ที่การดำเนินคดีกับนายทุนและผู้มีอิทธิพลเท่านั้น มิใช่เกษตรกรผู้ยากไร้ก็ตาม

กระนั้นก็ดี ปัญหาในทางปฏิบัติก็คือการหาตัวตนของผู้ที่เป็นนายทุนและผู้ที่มีอิทธิพลที่เข้าไปถือครองที่ดินของภาครัฐนั้นทำได้ยากจริง เพราะ ไม่มีนายทุนรายใดและผู้มีอิทธิพลตัวจริงรายใดที่จะเข้าไปครอบครองที่ดินของภาครัฐ โดยเปิดเผยชื่อของตัวเอง พวกเขาใช้เกษตรกรจำนวนหนึ่งให้เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำกิน เพียงเพื่อยังชีพขั้นต่ำสุด และจูงใจให้ชาวบ้านทำการเกษตรเพื่อเป็นอาหารสัตว์สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดและอ้อยเป็นต้น พืชผลการเกษตรราคาถูก เหล่านี้ถูกรวบรวมโดยนายทุนและผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกทำลายป่าทั่วทั้งประเทศ นี่เป็นการใช้กลไกราคาของตลาดอย่างบิดเบือน รวมทั้งเป็นการใช้อำนาจที่ผิดกฎหมายกดขี่ และขูดรีด เกษตรกรที่ยากจนของบรรดานายทุนและผู้มีอิทธิพลที่กฎหมายยังไม่สามารถเข้าถึง

ในวันที่ผมพบกับพี่น้องเกษตรกรที่บ้านน้ำพุ จังหวัดเลย เกษตรกรหญิงรายหนึ่งได้ลุกขึ้นพูดในห้องประชุมต่อหน้าเกษตรกรทุกคนว่า “เธอไม่กล้าที่จะกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมของตัวเอง เพราะกลัวอิทธิพล (มืด)” นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งนอกเหนือจากอีกหลายๆ เหตุผลที่เกษตรกรบ้านน้ำพุที่แม้จะยากจนข้นแค้น และอยากจะกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิม แต่ก็ยังไม่กล้ากลับเข้าไปทำกินของตนเอง

การจับกุมดำเนินคดีต่อพี่น้องเกษตรกรคนจนที่ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และพี่น้องชนเผ่าอีกเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยในภาคเหนือ ทั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ น่าน เชียงใหม่และเชียงราย เป็นต้น

ปัญหาที่ก่อความทุกข์ยากลำบาก และความคับแค้นใจให้แก่พี่น้องคนจนจำนวนมากเหล่านี้ กำลังรอให้ได้รับการแก้ไขและมีการพิจารณาคดีความต่างๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และอย่างเป็นธรรมให้แก่ พวกเขาได้อย่างแท้จริง

ผมอยากจะเรียนให้แก่พี่น้องคนจนในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้รับทราบว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบปัญหาและข้อเท็จจริงบ้างแล้ว และเรามิได้นิ่งนอนใจครับ

บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น