สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เผยภาพคลิปหาชมยาก “วัวแดง ตัวดำ” หลายคนมองผ่านๆ อาจเข้าใจผิดคิดว่า “กระทิง” เพราะดูยังไงก็น่าจะเป็นกระทิง แต่ชวนให้สังเกต ข้อบ่งชี้ที่ว่า “ต่อให้ตัวดำแค่ไหน แต่ถ้ามีก้นขาว” เราก็ได้คำตอบชัดเจนว่าคือ "วัวแดง” แน่นอน
สำหรับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ปาห้วยขาแข้ง ตำบลระบำอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
เป็นแหล่งศึกษา รวบรวม แลกเปลี่ยนเทคนิค วิธีการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อมของสัตว์ป่า เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสภาพแวดล้อมของสัตว์ป่าที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อบริหารความรู้ทางวิขาการให้ประชาชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
พูดถึงลักษณะของวัวแดง (Banteng) สังเกตได้จาก วงก้นขาวทั้งในตัวผู้และตัวเมีย มีเส้นขาวรอบจมูก ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้า ระหว่างโคนขาของตัวผู้ไม่มีขน แต่เป็นหนังตกกระแข็ง ๆ เรียกว่า "กระบังหน้า" ความยาวลำตัวและหัวประมาณ 190–255 เซนติเมตร หางยาว 65–70 เซนติเมตร สูงประมาณ 155–165 เซนติเมตร และมีน้ำหนักราว 600–800 กิโลกรัม
ขนาดของวัวแดง จึงอยู่กึ่งกลางระหว่างวัวบ้านกับกระทิง เป็นสัตว์ที่มีสีสันแตกต่างกันชัดเจนระหว่างวัวตัวผู้กับวัวตัวเมีย โดยเฉพาะวัวตัวผู้ จะมีสีสันที่หลากหลาย บางตัวเป็นสีดำแลดูคล้ายกระทิง จนปรากฏเป็นข้อเขียนในสารคดีล่าสัตว์เก่าแก่ (โดย “ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์”) ถึงการพบวัวแดงประหลาดสีดำ ในป่าชายแดนเขมร จนตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นลูกผสม “วัวแดง+กระทิง” ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็น่าจะเป็นวัวแดงตัวผู้ในเวอร์ชั่นสีดำนั่นเอง
ปัจจุบันมีป่าไทยไม่กี่แห่งที่ยังมีวัวแดงเหลืออยู่ เช่น ห้วยขาแข้ง กุยบุรี ตาพระยา อมก๋อย รวมแล้วประมาณ 500 ตัว โดยห้วยขาแข้งมีจำนวนประชากรวัวแดงหนาแน่นสุด และมีบทบาทเป็นหนึ่งในเหยื่อที่สำคัญของเสือโคร่ง สัตว์ป่าผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่ในระบบนิเวศป่า ดังนั้นชีวิตเสือจะสุขสบายหรือลำบาก นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า การดำรงอยู่ได้ดีของวัวแดงก็ส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตเสือโคร่ง
ทุกวันนี้วัวแดงรอดพ้นจากการหมดสิ้นจากป่าห้วยขาแข้ง ก็ด้วยกระสุนปืนปลิดชีวิตตัวเองของ “สืบ นาคะเสถียร” ซึ่งส่งผลให้โลกอนุรักษ์ตื่นตัว และผลักดันให้ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกสำเร็จ มีการทุ่มทรัพยากรเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าในห้วยขาแข้ง จนวัวแดงฟื้นตัวกลับมา เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่โดยก่อนหน้านั้น วัวแดงในห้วยขาแข้งในตอนนั้นเหลือจำนวนน้อยเต็มที แตกต่างจากปัจจุบัน ที่แม้แต่นักท่องเที่ยวทั่วไป ก็สามารถพบวัวแดงได้ไม่ยาก ตามป่ารอบนอกของห้วยขาแข้ง
ข้อมูลอ้างอิง : Khao nang rum Wildlife Research Station