หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าไปเยี่ยมลูกเสือโคร่งน้อยของกลางซึ่งถูกพลัดพรากมาจากแม่โดยแก๊งค์ลักลอบค้าสัตว์ป่า และนำมาพักฟื้นที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ขณะหมอล็อตเข้าไปอุ้มน้องขวัญ และเจ้าหน้าที่กำลังเตรียมฉีดยาให้ตามโปรแกรมตรวจสุขภาพ ได้บันทึกความน่ารัก น่าเอ็นดูมาฝากเอฟซีที่ตอนนี้น้องขวัญกลายเป็นขวัญใจของหลายเพจที่เข้ามาติดตามความน่ารัก ความก้าวหน้าในการดูแลลูกเสือโคร่งน้อย
ในแต่ละวันมีหลายพันหลายหมื่นคนเข้ามาชื่นชมด้วยความห่วงใย เช่น เพจกรมอุทยานฯ เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานฯ เพจสวนสัตว์บึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี เพจกลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า เพจสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แม้กระทั่ง เพจTOP Varawut- ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ของรมว.ทส.ก็คอยติดตามรายงานอยู่เป็นระยะ
ดูเหมือนว่าน้องขวัญเกิดอาการง่วง หรือกลัวเข็มฉีดยาก็ไม่แน่ใจนัก หมอล็อต เลยโพสต์ถึงน้องขวัญว่า “สรุปเทคนิคของนางก็ได้ผลอยู่นะ” แค่หลับตา เข็มก็คือมด แต่หนูก็ต้องเก็บลิ้นด้วยนะคะ…น้องขวัญ เข้าโปรแกรมตรวจสุขภาพ
ขณะที่ เพจประชาสัมพันธ์ บอกว่า นางเนียนไม่เนียน ลองดูตอนน้องขวัญเจอหมอล็อต "ตื่นมาตรวจสุขภาพก่อนลูก" แกล้งไม่แกล้งไม่รู้ รู้แต่พี่หมอเริ่มเกรงใจในความหลับลิ้นห้อยของน้องเข้าแล้ว..
"สัตว์ป่าของกลาง" กับโอกาสที่จะได้กลับคืนสู่ป่า
สำหรับสัตว์ป่าที่ถูกพบจากการจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายนั้น กรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่าการปล่อยคืนสู่ป่าต้องพิจารณาจากปัจจัยมากมาย ทั้งสายพันธุ์ อายุและการเลี้ยงดู ยิ่งเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตจากแม่หรือฝูง รวมถึงการล่าและหาอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องยากที่มนุษย์เราจะสอนได้ นี่เป็นเหตุผลเพียงบางส่วนที่สัตว์ป่าไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้ เพราะขาด "สัญชาตญาณของสัตว์ป่า" ไปแล้วนั่นเอง
สุดท้ายการได้เห็นสัตว์ป่าได้ใช้ชีวิตในป่าอย่างมีความสุขท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าใช้ชีวิตในกรงเลี้ยง "ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องสัตว์ป่าให้ได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่า หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายป่าไม้และสัตว์ป่าแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง"
ขณะเดียวกันนี้ ตามรายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา แจ้งว่า น้ำใจหลั่งไหลท่วมท้นเพื่อมอบให้แก่น้องขวัญ ทางสวนสัตว์บึงฉวาก จึงได้มีการส่งต่อ มอบนม KMR และสิ่งของจำเป็นให้แก่หน่วยงานดูแลสัตว์ป่า 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำไปช่วยเหลือสัตว์ป่าอื่นๆ
สวนสัตว์บึงฉวาก ได้ส่งต่อสิ่งของที่เอฟซีส่งมาให้ "น้องขวัญ" สิ่งของต่างๆ ส่งเข้ามามากมาย เช่น นม KMR แบบผงและแบบน้ำ แผ่นรองซับ ผ้าขนหนู ทางผู้ดูแลจึงส่งต่อให้กับหน่วยต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 12 แห่งที่มีความต้องการใช้ โดยระบุว่าน้องขวัญได้ส่งต่อสิ่งของที่แฟนเพจ และเอฟซีส่งมอบมาให้ เช่น นม KMR แบบผงและแบบน้ำ รวมถึงแผ่นรองซับ และผ้าขนหนู ให้กับหน่วยต่างๆ ที่มีความต้องการใช้ ดังนี้ 1. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตอง 2.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย3. ถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าขอนแก่น 4.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง 5. สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ 6. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่จัน 7.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 8. ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) 9. ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) 10. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ 11.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน 12. ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (เขาประทับช้าง)
ข้อมูลอ้างอิง
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สวนสัตว์บึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี
ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน