xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ทางธุรกิจโทรคมนาคมไทย “รอด หรือ ร่วง” กสทช.ใหม่ เรียนรู้ "มหากาพย์" 2G ถึง 6G พลิกตำรา อดีต - ปัจจุบัน - อนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในหมู่เรื่องราวอันซับซ้อน ยอกย้อน ซ่อนเงื่อน และยืดยาว ระดับ 'มหากาพย์' ในสังคมไทย คงไม่พ้นนิยาย “โทรคมนาคมไทย” เรื่อง 'คลื่นความถี่' ตั้งแต่ยุค 1G จนถึง 5G สามารถถูกจัดวางอยู่ในแถวหน้าของ 'มหากาพย์' หลากอรรถรส หลายชะตากรรม ได้อย่างสูสีไม่แพ้นิยายการเมืองเรื่อง 'ประชาธิปไตย' เพราะสมบูรณ์ไปด้วยตัวละครมากสีสัน กลเกมชิงไหวชิงพริบ และเรื่องเล่าอันพลิกผัน หักมุม เหลือเชื่อ ตื่นตาตื่นใจ ขมขื่น ขำขื่น และการกีดกันทางการแข่งขันของผู้นำอุตสาหกรรม 


โดยมีตัวละคร 3 ก๊ก ประกอบด้วย เอไอเอส ซึ่งมีกลุ่มสิงเทลผู้ถือหุ้นใหญ่จากสิงค์โปร์ เป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมระดับภูมิภาค ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นที่ 1 ในทุกประเทศที่ไปแข่งขัน รวมถึงประเทศไทย ที่เอไอเอส รักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ไว้ได้กว่า 28 ปี ส่วนก๊กที่สองคือ ดีแทค ซึ่งผู้ถือหุ้นหลักเป็นรัฐวิสาหกิจชื่อ Telenor จากประเทศนอร์เวย์ และสุดท้ายคือ กลุ่มทรู ที่เป็นผู้ประกอบการไทยที่เข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นรายสุดท้าย และมักได้รับการปรามาสในยุคแรกของโทรศัพท์มือถือว่า จะแข่งขันกับสิงค์โปร์และนอร์เวย์ได้จริงหรือ

มาถึงวันนี้ก็กว่า 25 ปี จากเศรษฐศาสตร์การเมืองยุคสัมปทาน 2G สู่การประมูล 3G และ 4G ที่ถูกบันทึกไว้เป็นกรณีศึกษาระดับโลก ต่อด้วยสมรภูมิการประมูลคลื่นรอบล่าสุดที่กำลังคุกรุ่นร้อนแรงอยู่ในปัจจุบัน จนถึงภาพอนาคตยุค 5G ที่จะทำลายโลกเก่าเพื่อสร้างสรรค์โลกใบใหม่ 'มหากาพย์' เรื่องคลื่นความถี่ไทย ยังคงดำเนินต่อไปด้วยเรื่องราวอันยากจะคาดเดา และจังหวะพลิกผันที่ชวนจับตา

๐ ยุคแรก เอไอเอส กับ การผูกขาดตลาด 2G

ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือเข้ามาในประเทศไทย สมัยก่อนเป็นคลื่น 1G โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องใหญ่โตมโหฬาร เอาไว้ติดรถ ราคาแพงมาก หลังจากนั้น เราจึงรู้จักกับโทรศัพท์ GSM หรือ 2G ที่พกพาง่ายขึ้น 2G เกิดขึ้นมาในไทยได้ เพราะการเปิดให้บริการโดยเอกชน ผ่านระบบการจัดสรรคลื่นที่เรียกว่า 'สัมปทาน' ซึ่งคือการที่รัฐให้สิทธิผูกขาดในการประกอบกิจการกับเอกชนรายใดรายหนึ่งโดยเอกชนแบ่งจ่ายรายได้ส่วนหนึ่งคืนกลับ มาให้รัฐ

ในยุคแรก มีเพียงเอไอเอส และ ดีแทค ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ โดยเอไอเอส เริ่มแรกจดทะเบียนก่อตั้งเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2529 เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2533 โดยเอไอเอสทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการโครงการบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นระยะเวลา 20 ปี ถึง พ.ศ. 2553 และ เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล จีเอสเอ็ม ในปี 2537 ในขณะที่คู่แข่งรายสำคัญในยุคแรกคือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดในเดือนสิงหาคม 2532 โดยกลุ่มเบญจรงคกุล เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้สัญญา ร่วมการงานซึ่งอยู่ในรูปแบบ "สร้าง-โอน-ดำเนินงาน" จาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (เดิมคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย)

บทสัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เรื่อง “มหากาพย์คลื่นความถี่ไทย” เมื่อปี พ.ศ.2561 ระบุไว้ชัดเจนว่า AIS ได้เปรียบมากที่สุดเพราะเป็นรายแรกที่เข้ามาตั้งแต่โทรศัพท์ 2G และก็พยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้เล่นรายอื่นเข้ามาได้ โดยเขียนไว้ในสัญญาสัมปทานกับองค์การโทรศัพท์ หรือ ทศท. ในสมัยนั้น (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ในปัจจุบัน) เลยว่าเป็นบริการที่ต้องผูกขาดรายเดียว พอ AIS ผูกขาดกับ TOT รายอื่นก็เกิดไม่ได้ ในตอนนั้น AIS ใช้วิธีที่เรียกได้ว่าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างการล็อกอีมี่ (IMEI) ทำให้คนไทยไม่สามารถหิ้วโทรศัพท์มือถือจากต่างประเทศมาใช้ในไทยได้เลย คนสมัยนี้คงนึกไม่ออกแน่ เพราะปัจจุบันต่อให้เราหิ้วเครื่องมาจากที่ไหน แค่เสียบซิมก็ใช้ได้ แต่สมัยนั้นเขาห้ามทำอย่างนั้น เพราะว่าเขามีอำนาจผูกขาด ต่อให้มีซิม แต่ถ้าตรวจเลขอีมี่แล้วพบว่าไม่ใช่เครื่องที่ซื้อจากเขา ก็โทรไม่ได้ ฉะนั้นกำไรของผู้ประกอบการจึงไม่ได้มาจากการบริการเท่านั้น แต่มาจากการบังคับขายเครื่องโทรศัพท์ในราคาแพงด้วย

ยุคต่อมา DTAC เข้ามาทลายการผูกขาดของ AIS จากการที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ในขณะนั้น (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ในปัจจุบัน) ต้องการทำสัมปทานแบบ TOT บ้าง ก็ให้สัมปทานกับ DTAC ซึ่งเงื่อนไขการจ่ายรายได้ให้รัฐไม่ดีเท่า AIS แต่ได้ปริมาณคลื่นความถี่มากกว่า

ถ้าย้อนไล่เรียงไปดูยุคนั้นจะเห็นว่า AIS มีอดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ซึ่งเป็นคู่สัญญาเป็นกรรมการของบริษัท ส่วนบอร์ดของ DTAC ก็มีอดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งเป็นหน่วยงานจัดสรรคลื่นความถี่ในตอนนั้น AIS และ DTAC ประกอบธุรกิจในลักษณะผูกขาดสองรายเรื่อยมา

๐ ยุคที่ 2 ต้มยำกุ้ง เอไอเอส รอด แต่ดีแทคร่วง ที่มากำเนิดทรู

เสียงโทรศัพท์ตามบ้านของบรรดา 'นายแบงก์' ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงดังขึ้นในเวลาราวตี 5 ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องปกตินักที่จะมีใครโทรเข้ามา 'ปลุก' ให้ตื่นจากภวังค์ในช่วงเวลาเช้ามืดแบบนี้ ต้นสายที่โทรมาคือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย ยิ่งตอกย้ำว่า เรื่องที่จะหารือต้องไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไปอย่างแน่นอน ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างมารวมกันที่ 'เรือนแพ' อาคารไม้ที่ยื่นออกไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านในสุดของแบงก์ชาติ เช้าวันนั้นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยบอกกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า หลังจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ 'ลอยตัวค่าเงิน'

ในยุคนั้น มีผู้ผูกขาดตลาดโทรคมนาคม สองรายคือ เอไอเอส และ แทค มีเพียง แทค ที่ปรับตัวไม่ทัน และ ไม่ทราบเรื่องมาก่อน โดยวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้ แทค ช็อตเงิน เลยเอาคลื่นความถี่ที่มีอยู่มากมาแบ่งขาย ทำให้เอไอเอส กลายเป็นผูกขาดเป็นผู้นำเดี่ยวในตลาด และได้ส่วนแบ่งตลาดไปเกือบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดี ในจังหวะการหนีตายของแทคในยุคนั้น เอาคลื่นความถี่ที่มีอยู่มากมาแบ่งขายเลยเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งก็คือ TRUE ในปัจจุบัน การเข้ามาของ TRUE ทำให้เกิดการเติบโตและการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกัน ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์มากขึ้นจากการแข่งขัน ทำให้เกิดทรู เป็นค่ายที่เริ่มจากลูกค้าเป็นศูนย์ ค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาแข่งขัน

จากวิกฤตต้มยำกุ้งในครั้งนั้น เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 แทคได้ขอยืดสัญญากับ กสท. ไปเป็น พ.ศ. 2561 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ได้เริ่มต้นขายหุ้นบางส่วนให้กับเทเลนอร์ และเปลี่ยนชื่อทางการค้าจาก "แทค" เป็น "ดีแทค" ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลเบญจรงคกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ในยูคอมซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแทค ได้ขายหุ้นให้กับเทเลนอร์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 ซึ่งต่อมา ดร.ทักษิน ชินวัตร ก็ได้ขายหุ้นจากเอไอเอส ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสองราย เป็นรัฐวิสาหกิจจากต่างประเทศในยุคนั้น คือ เอไอเอส มีการถือหุ้นโดยสิงค์โปร์ ในขณะที่ดีแทค เป็นผู้ถือหุ้นจากนอร์เวย์

๐ ยุคที่ 3 ยุทธศาสตร์เหนือรัฐ ลากผู้เล่นรายเล็กให้หมดสัมปทาน ออกจากธุรกิจ

ในยุคที่ 3 หลังจากเกิดบริษัททรู และออกให้บริการมือถือ “ทรูมูฟ” ซึ่งต้องออกแรงอย่างหนักตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เพื่อแข่งขันกับเอไอเอสและดีแทค ยักษ์ใหญ่ 2 รายในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แต่ดูเหมือนยังไม่มีวี่แววชนะ เนื่องจากคลื่นที่มีอยู่อย่างจำกัด และ คลื่นใกล้หมดอายุ ทำให้ยากที่จะลงทุนต่อ เพราะระยะเวลาให้บริการไม่เพียงพอที่จะคืนทุน ในยุคนั้น ทรูมูฟไม่เพียงเผชิญกับคู่แข่งที่มีเงินทุนเข้มแข็งจากสิงค์โปร์ และ นอร์เวย์ แต่ในแง่กลยุทธ์การตลาดทั้งเอไอเอสและดีแทคต่างทุ่มเต็มที่ และยังได้เปรียบในแง่สัญญากับรัฐที่นานกว่า โดยดีแทคเหลือ 8 ปี เอไอเอส 5 ปี แต่ทรูมูฟเหลือแค่ 3 ปี ดังนั้น หากยังคงใช้ 2G อยู่ ทั้งเอไอเอส และดีแทค ก็ยังเป็นผู้นำตลาด ในขณะที่ทรูจะหมดสัญญาไปก่อน ทำให้ต้องออกธุรกิจ ทำให้ทรูเข้าสู่โหมด ไม่สู้ก็ตาย ซึ่งในเวลานั้น การออกมาคัดค้านการประมูล 3G เป็นเหมือนการปิดประตูทางรอด ไม่ให้ทรู มีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ จากบทความของ TDRI: ที่ผ่านมาเส้นทางสู่ 3G มีอุปสรรคปัญหามากมายเหลือเกิน สองปีก่อน (พ.ศ.2553) ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาระงับการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G ของ “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” เพื่อเปิดทางให้จัดตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. ความล่าช้าทำให้ไทยกลายเป็นประเทศลำดับท้าย ๆ ของโลกที่จะมี 3G ใช้

ในยุคหนีตาย ทรูมูฟเคยหวังว่าการประมูล 3Gเมื่อกลางปี 2553 จะเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ต่อสัญญาการให้บริการออกไปได้และ ทำให้ทรูมูฟแข่งกับคู่แข่งได้มากขึ้น แต่ก็ต้องฝันสลาย ด้วยพลังหลายทาง ทั้งการฟ้องศาลปกครองยับยั้ง การต่อต้านจากหลายภาคส่วน การประมูล3G ก็ล้มลง จนสัญญากลุ่มทรูใกล้จะหมดลง กระทั่ง ปลายปีที่ 2553 ทรูมูฟจึงเร่งแผนเทกโอเวอร์กลุ่มฮัทซ์ เพื่อซื้อลมหายใจ ใช้สัญญาที่กลุ่มฮัทซ์มีอยู่ พร้อมรับหนี้ 6.3 พันล้านบาท เพื่อให้รอดต่อไปอีก 3 ปี เพื่อให้เอไอเอสหมดสัญญาสัมปทาน และต้องเข้าประมูล 3G โดยปริยาย แต่ก็ถือว่าคุ้ม ที่ทำให้ทรูอยู่รอดจนหมดสัมปทานพร้อมรายอื่น ทำให้การประมูล 3G เกิดขึ้น โดยปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายใด ถือได้ว่า ประเทศไทยเข้าสู่ยุค 3G ช้าแทบจะที่สุดในโลก โดยการประมูลคลื่นความถี่เพื่อเปิดให้บริการ 3G เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555

๐ ยุคที่ 4 ยุค 4G ส่งม้ามาแข่ง JAS ประมูล 4G ทิ้งใบอนุญาต เหลือไว้แค่ราคาที่สูงลิ่ว

ประวัติศาสตร์การประมูลคลื่น 900 MHz ต้องถูกจารึกไว้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยสร้างประวัติศาสตร์การประมูลที่ยาวนานถึง 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-18 ธ.ค. 2558 มาแล้ว รวมถึงการที่ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่ในวงการอย่าง บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ที่เคาะประมูลในล็อตที่ 1 ได้ในราคาสูงถึง 75,654 ล้านบาท

แต่ประวัติศาสตร์ครั้งล่าสุดที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึงครั้งนี้ กลับทำให้คำสบประมาทของหลาย ๆ คนที่ไม่เชื่อว่า แจส จะเข้าร่วมประมูล ไม่เชื่อว่า แจส จะมีศักยภาพในการให้บริการ และไม่เชื่อว่าแจสจะเคาะการประมูลได้มูลค่าสูงเกินคาดขนาดนี้ กลายเป็นจริง เมื่อถึงวันที่ 21 มี.ค.2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการชำระเงินค่าประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือรับรองค้ำประกันทางการเงิน (แบงก์การันตี) อีกประมาณ 72,000 ล้านบาท กลับไม่มีแม้เงา หรือพรายกระซิบใด ๆ บ่งบอกสัญญาณสัดนิดว่า แจส จะไม่มาจ่ายเงินจริงๆ

การทำลายอุตสาหกรรม ด้วยการเพิ่มต้นทุนมหาศาลจากการปั่นราคา และ ทิ้งใบอนุญาต ให้ผู้ประกอบการรายอื่นรับภาระแทน เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ที่ควรทำอนุสาวรีย์ไว้จดจำ การเข้ามาของ JAS สังคมควรได้เรียนรู้ว่า การมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มอีกเจ้าหนึ่งช่วยให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างยิ่ง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น JAS เข้ามาเคาะราคาจนสูงเกินไปแล้วสุดท้ายก็ทิ้ง ในเวลานั้น ทรูต้องการเข้าสู่ 4G ก็เคาะราคาแข่งกับJAS ไปด้วย ในขณะที่ DTAC หลุดออกไปก่อน ต่อด้วย AIS หลุดทิ้งตามมา ได้ใบอนุญาตแค่ใบเดียว ส่วน TRUE เคาะราคาแข่งจนได้ใบอนุญาตสองใบ สุดท้ายเมื่อ JAS ทิ้งใบอนุญาต ทำให้ราคาคลื่นแทบจะสูงที่สุดในโลก รัฐบาลก็เชิญชวนให้ AIS เข้ามารับใบอนุญาตที่เหลืออีกใบในราคาที่ JAS ประมูลได้ ซึ่ง AIS ก็ตอบรับ ทำให้ต้นทุนการให้บริการของโอเปอร์เรเตอร์ไทยสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่งทีเดียว ซึ่งการประมูล 4G ได้เงินเข้ารัฐมหาศาล คนเชียร์กันทั่ว กสทช. ก็กลับมาประกาศความสำเร็จ บอกว่าเป็นผลงานที่ทำให้รัฐบาลได้เงินเยอะ พอเอามาใช้กับการประมูลดิจิทัลทีวีให้ได้ราคาสูงสุด ต้นทุนก็ทำผู้ประกอบการเจ๊งกันระนาว เช่นเดียวกับผู้ประกอบต่อผู้ประกอบการณ์มือถือในปัจจุบัน

๐ ยุคที่ 5 ประมูล 5G กับรอยต่อจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรม การควบรวม และการสู้ผู้รุกรานดิจิทัล (OTT)

ถือได้ว่า กสทช. สร้างประวัติศาสตร์ ประมูล 5G ขายออก 48 ใบอนุญาต จากทั้งหมด 3 คลื่น 49 ใบอนุญาต สร้างรายได้จากการประมูลกว่าแสนล้านบาท โดยคลื่น 700 MHz แข่งขันกันดุเดือน ขายหมด 3 ใบอนุญาต มูลค่า 51,460 ล้านบาท ขณะที่คลื่น 2600 MHz เคาะไม่แรง ขายหมด 19 ใบอนุญาต มูลค่ากว่า 37,433 ล้านบาท ส่วนคลื่น 26 GHz เหลือ 1 ใบอนุญาต ขายออก 26 ใบอนุญาต มูลค่ากว่า 11,627 ล้านบาท รวม 100,521 ล้านบาท แต่ก็นำมาซึ่งภาระของผู้ประกอบการ ในขณะที่การทำกำไรจาก 5G ยังเป็นไปได้ช้ากว่าที่คิด จากภาระต้นทุนที่สูงเช่นนี้ เอไอเอสยังคงมีความได้เปรียบจากขนาดบริษัท และการผูกขาดความเป็นผู้นำมาตลอด 28 ปี โดย ปี 2564 บริษัทเอไอเอส มีมูลค่าบริษัท 645.3 พันล้านบาท ในขณะที่ทรู มีมูลค่าบริษัท 161.5 พันล้านบาท และ ดีแทค มีมูลค่าบริษัท 110.1 พันล้านบาท หากเปรียบเทียบกับนักมวย คงเปรียบได้กับ ไมค์ ไทสัน ชกกับ สมรักษ์ คำสิงห์ โดยส่วนของกำไรสุทธิ เอไอเอส กำไรต่อเนื่องทุกปี โดยย้อนหลัง 5 ปี กำไรกว่า 150,000 ล้านบาท ในขณะที่คู่แข่งยังปริ่มน้ำจากภาระต้นทุนที่สูง โดยปีล่าสุด 2564 รายได้รวม อยู่ที่ 181,333 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนกำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท ขณะที่ทรู และดีแทค ผลกำไรรวมกันสองบริษัทยังไม่ถึง 2,000 ล้านบาท หากเป็นเจ้ามือต้องเรียกว่า กินเรียบอยู่รายเดียว

เมื่อยิ่งเนิ่นนานออกไป เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้เอไอเอสจะเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่เหลือในอุตสาหกรรมหรือไม่ เมื่อผู้เล่นที่เหลือในตลาดเกิดความอ่อนแอจากภาระต้นทุน ดอกเบี้ย และ การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ลูกค้าทรูและดีแทค เสียโอกาสในการใช้เครือข่ายร่วมกัน เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ต้นทุนการให้บริการแทนที่จะลดลง ทำให้การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ก็จะไม่สามารถแข่งได้ออย่างใกล้เคียง หากการควบรวมของทรูและดีแทค ทำไม่สำเร็จ แน่นอนว่า การเข้าสู่เทคโนโลยี 6G และการเข้าสู่เทคโนโลยีการโทรผ่านดาวเทียม จะมีผู้ที่พร้อมให้บริการเพียงรายเดียว

“ถึงแม้เทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปไกลแสนไกล พัฒนาเร็วขึ้นจาก 2G ไป 3G 4G 5G ถึง 6G และ การโทรระบบดาวเทียมแต่ระบบกำกับดูแลของไทยยังคงโบราณแบบเดิม ย่ำอยู่แค่ 2.5G เท่านั้น ในการกีดกัน กำกับ ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันไม่ได้”

หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ได้ ก็ไม่มีกำลังไปต่อ และล้มหายตายจาก หรือย้ายกลับประเทศไป อย่างที่เคยเห็นในอดีต กับปัญหาเมื่อการประมูลคลื่น 1800 MHz ในเดือนมิถุนายน 2561 ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าประมูลเลย ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวแข็งแรงขึ้น ย่อมดีกว่า

การเกิด Convergence ของตลาด พวกบริษัท Big Tech ในปัจจุบัน เช่น Facebook, Google, Amazon, Tencent, Alibaba สามารถทำได้แทบทุกอย่าง เพราะว่ามีเทคโนโลยี มีฐานลูกค้าใหญ่ และมีข้อมูลที่ได้จากลูกค้า เพราะฉะนั้นการขยับขยายไปทำธุรกิจต่าง ๆ เป็นไปได้แทบทุกชนิด แย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการเดิม จนแทบไม่รอด หากเหนี่ยวรั้ง ปิดกั้น กำกับ มากเกินไป ก็ยากที่จะเหลือรอดไปแข่งขัน ถ้า กสทช. และรัฐบาลมองเห็นประเด็นนี้ ในยุคโลกเปลี่ยน การปรับตัวอย่างรวมเร็วคือหนทางการอยู่รอด ขณะที่การยับยั้งเพื่อคงสถานภาพตลาดแบบปัจจุบัน ไม่ต่างจากช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมไม่ยอมไป 3G เพราะผู้เล่นในตลาดเดิมต้องการคงความได้เปรียบ หากแต่การส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งทัดเทียมกันของผู้ประกอบการย่อมดีกับประเทศไทย และ ประชาชนทุกคน มากกว่าการมีผู้ประกอบการหลายราย แต่มีผู้ประกอบการที่ผูกตลาดตลาดอยู่เพียงรายเดียวหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น