หลังจากเพจ CHULA Zero Waste ต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าแก้ว “Zero Waste Cup” ย่อยสลายดีกว่าแก้วกระดาษทั่วไป จึงนำไปแก้วทั้งสองแบบไปฝังดินพร้อมๆ กันจนครบ 1 เดือน
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้โชว์สภาพแก้วทั้งสองแบบ หลังถูกฝังลงดิน ในช่วง 2 สัปดาห์ และครบ 1 เดือนมาเปรียบเทียบให้เห็น
(ดูภาพเปรียบเทียบ) จะเห็นว่าแก้ว “Zero Waste Cup” ถูกย่อยจนสภาพไม่มีเค้ารูปร่างเดิมเหลือแล้ว ในขณะที่แก้วกระดาษทั่วไปนั้นยังคงรูปร่างเดิมได้มากกว่า
จากผลทดสอบนี้ ยืนยันให้เห็นว่าแก้ว Zero Waste Cup สามารถย่อยสลายได้แบบ “ Home compost” จริงๆ
นั่นคือสาเหตุที่เราได้ขอร้องให้ทุกท่านเลือกใช้แก้ว “Zero Waste Cup” แทนแก้วกระดาษทั่วไป และให้นำแก้วมาทิ้งในถังที่เราทำไว้รองรับโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกต่อการนำไปจัดการต่อ โดยสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีระบบลำเลียง “Zero Waste Cup” ที่ใช้แล้ว นำไปหมักเป็นปุ๋ย ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี และเมื่อหมักได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ก็จะนำปุ๋ยที่หมักได้นั้นมาใช้เพื่อบำรุงต้นไม้ในมหาวิทยาลัยต่อไป
ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ทดสอบ นอกจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงของ “Zero Waste Cup” ที่ถูกย่อยสลายเร็วกว่า และยังนำสิ่งที่ย่อยสลายแล้วมาใช้เป็นปุ๋ยแล้ว เรายังอยากให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงจุดประสงค์ในการนำแก้วนี้มาทดแทนการใช้แก้วพลาสติกในโรงอาหาร
CHULA Zero Waste เผยว่าแท้จริงแล้วเพื่อให้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยหันมาพกแก้วที่ล้างใช้ซ้ำได้แทนที่การต้องจ่ายค่าแก้วแบบใช้แล้วทิ้งมากกว่า
“ถึงเราจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถกำจัดขยะได้ แต่ทางที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นการที่ทุกคนช่วยกัน “ลด” ใช้วัสดุแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และ “เปลี่ยน” มาใช้วัสดุใช้ซ้ำกันดีกว่าค่ะ”