xs
xsm
sm
md
lg

กล้องดักถ่ายจุดเดียวกัน จับภาพ “เสือโคร่ง” และเหยื่อ สะท้อนความสมบูรณ์ของป่าดงใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กล้องดักถ่าย NCAPS ที่ตั้งไว้บริเวณโป่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ บันทึกภาพเสือโคร่ง กำลังออกล่าเหยื่อ และในจุดเดียวกันนี้ยังพบว่ามีสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อีกที่โผล่เข้ามาหากินโป่ง ได้แก่ กวาง เก้ง กระทิง 

วันนี้ (15 เมษายน 2565) นายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ได้มีการรายงานการพบสัตว์ป่าหายาก และมีความสำคัญในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น- เขาใหญ่ จากกล้อง NCAPS ที่ตั้งไว้บริเวณโป่ง ในพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ สามารถบันทึกภาพเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัวคาดว่าออกล่าเหยื่อ และยังพบว่ามีสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ อีก ได้แก่ กวาง เก้ง กระทิง และช้างป่าลงมากินดินโป่ง (สังเกตจากทั้ง 4 ภาพเป็นจุดเดียวกันที่บันทึกไว้ได้)

กระทิง เหยื่อของเสือโคร่ง

กวาง

เก้ง


ภาพของเสือโคร่งจากกล้อง คาดว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าว อาจข้ามมาจากป่าทับลาน และได้เดินมาหากินจนถึงบริเวณชายขอบผืนป่ากลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่เสือโคร่งกระจายพื้นที่หากินกว้างไกลมากขึ้นพร้อมกับจำนวนที่เพิ่มขึ้น การได้พบเห็นเสือโคร่งในพื้นที่ นั่นหมายความว่าสัตว์ป่าและผืนป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการเพิ่มการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการล่า รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่งให้คงอยู่สืบต่อไป

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง (Protected Areas) หรือพื้นที่อนุรักษ์สภาพธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งสงวนระบบนิเวศตามธรรมชาติอันหลากหลาย ตั้งแต่ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ไปจนถึงป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าเขตร้อนกระจายตัวอยู่ทั่วไป รวมทั้งป่าบนเขาหินปูนและป่าริมห้วยลำธาร

ข้อมูลอ้างอิง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


กำลังโหลดความคิดเห็น