xs
xsm
sm
md
lg

เผยความคืบหน้า "น้องขวัญ" ลูกเสือโคร่ง ล่าสุดอาการโดยรวมเริ่มดีขึ้นแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" โพสต์รายงานความคืบหน้า "น้องขวัญ" ลูกเสือโคร่งที่เจ้าหน้าที่ล่อซื้อ จับกลางลานจอดรถห้าง นำไปดูแลที่บึงฉวาก ล่าสุดอาการโดยรวมดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. เพจ "ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" โพสต์รายงานความคืบหน้า "น้องขวัญ" ลูกเสือโคร่งที่เจ้าหน้าที่ล่อซื้อ จับกลางลานจอดรถห้าง นำไปดูแลที่บึงฉวาก โดยรายงานว่า "8 เมษายน 65 นายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดเผยว่า จากรายงานการดูแลลูกเสือโคร่ง เพศเมีย ชื่อขวัญ โดยรวมอาการเริ่มดีขึ้นกว่าเมื่อวาน ยังมีน้ำมูกเล็กน้อย มีอาการจามในบางช่วง ไม่มีไข้ พบว่าบริเวณเหงือก ลิ้น และช่องปาก เริ่มมีสีชมพูอ่อน

ลูกเสือโคร่งกินนมเก่ง โดยกินนมได้ปริมาณ 6-10 ออนซ์ต่อมื้อ เจ้าหน้าที่ป้อนนมทุก 2-4 ชั่วโมง/มื้อ นมที่กินจะเป็นนมทดแทนสำหรับลูกแมว ชนิด KMR การขับถ่ายเริ่มดีขึ้น อุจจาระมีเนื้อมากขึ้น (มีเนื้อมากกว่าน้ำ) มีพฤติกรรมที่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ร่าเริง"

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 เมษายน 65 กรมอุทยานฯ ส่งลูกเสือโคร่งของกลางให้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากฯ ดูแล เบื้องต้นสุขภาพยังอ่อนแอ นายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดเผยว่า เมื่อ เวลา 16.00 น. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ทำการรับมอบลูกเสือโคร่งของกลาง จำนวน 1 ตัว เพศเมีย อายุประมาณ 2 เดือน จากกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อนำมาอนุบาลดูแล

สำหรับรายละเอียดของกลางที่รับมอบมาดูแล เป็นลูกเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว เพศเมีย คดีอาญาที่ 363/2565 ยึดทรัพย์ที่ 103/2565 ปจว.ข้อที่ 1 เวลา 03.49 น. ลงวันที่ 6 เมษายน 2565 หมายเลขไมโครชิป 900026000220728

ลูกเสือโคร่ง ประวัติ มีอาการถ่ายเหลว ต้องทำการให้ยาฆ่าเชื้อกินรักษาต่อเนื่อง ผลตรวจโรคจากชุดตรวจ Test kit ไข้หัดหวัดแมว และลำไส้อักเสบ เป็นลบ ตรวจสุขภาพภายนอก พบว่ามีน้ำมูกเล็กน้อย มีอาการจามในบางช่วง ไม่มีไข้ พบตัวเห็บบริเวณผิวหนัง พบว่าบริเวณเหงือก ลิ้น และช่องปาก ซีดกว่าปกติ (ไม่ชมพู) โดยได้ป้อนนม ซึ่งจะต้องกินนมชนิด KMR ทุก 2-3 ชั่วโมง/มื้อ

ทั้งนี้ สุขภาพลูกเสือโคร่งยังคงอ่อนแอ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของสภาวะท้องเสีย มีน้ำมูก และเยื่อเมือกซีด (ไม่ชมพู) ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังสุขภาพ และระมัดระวังในการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับคำให้การของผู้กระทำความผิดที่อ้างว่านำลูกเสือโคร่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปขายต่อ แต่ถูกคณะเจ้าหน้าที่จับกุมเสียก่อน ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า จะตรวจสอบกับฐานข้อมูลเสือโคร่งในกรงเลี้ยงว่าลูกเสือโคร่งตัวดังกล่าวมีที่มาอย่างไร








กำลังโหลดความคิดเห็น