xs
xsm
sm
md
lg

กล้องดักถ่ายอ่างฤาไน โชว์ภาพช้างป่า-วัวแดง-กระทิง ใช้บริการแหล่งอาหาร-น้ำที่ปรับปรุงลดปัญหาออกนอกเขตป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝูงวัวแดง เข้ามาใช้บริการแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่ปรับปรุงแล้ว

เมื่อวานนี้ (5 เมษายน 2565) นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า หลังมีการปรับปรุงแหล่งน้ำแหล่งอาหาร ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจากนายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่รายงานผลการติดตามการเข้าใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าตามแนวทางการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่

ซึ่งจากการตรวจสอบภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน บริเวณทุ่งหญ้าแปลงที่ 5 (หนองเกด) ภายหลังจากการจัดทำแหล่งน้ำ และการปรับปรุงแหล่งอาหาร จากข้อมูลพบการเข้ามาใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าในพื้นที่ทุ่งหญ้า ได้แก่ วัวแดง กระทิง และช้างป่า (ชมคลิป)




ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการและกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยการดำเนินการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่า โดยการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมโป่งธรรมชาติ การจัดทำโป่งเทียม การปลูกพืชอาหารช้าง การปรับปรุงทุ่งหญ้า การปรับปรุงแหล่งน้ำ การจัดทำแหล่งน้ำ เป็นต้น

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เราได้ดำเนินการป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า เช่น สร้างคูกันช้าง รั้วไฟฟ้า รั้วไผ่หนาม รั้วคอนกรีตกึ่งถาวร กรมฯกำลังรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวป้องกันให้มีคุณภาพมากที่สุดในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนจะเร่งซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามและผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่ป่า สร้างเครือข่ายชุมชนในการเฝ้าระวังป้องกันชุมชน และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเฝ้าระวังและเตือนภัยช้างป่า การจัดให้มีชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมกับอาสาสมัครและเครือข่าย การประสานช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยที่ถูกช้างป่ารบกวน และทำลายทรัพย์สินหรือพืชผลทางการเกษตรเสียหาย

ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตามแนวดำเนินการจัดการและการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภายใต้แผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า พ.ศ. 2563-2572 (แผน 10 ปี) ครอบคลุมทุกพื้นที่กระจายของช้างป่าในประเทศไทยทั้ง 13 กลุ่มป่า ทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1) การจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประกอบด้วย การติดตามประชากรช้างป่า จัดทำและปรับปรุงสิ่งกีดขวาง การฟื้นฟูสภาพถิ่นอาศัยของช้างป่า (แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร) การศึกษาศักยภาพในการรองรับช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ 2) การจัดการนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน (อาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติ) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างเครือข่ายข้อมูลในการเฝ้าระวังภัยจากช้างป่า ทั้งนี้หากพบเห็นสัตว์ป่าพลัดหลงหรือออกนอกพื้นที่ป่า แจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ฝูงกระทิง


กำลังโหลดความคิดเห็น