กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไทย เป็นภาพเสือโคร่ง จากการติดตั้งกล้องบริเวณที่เป็นโป่ง และยังพบสัตว์ป่าอีกหลายชนิด เช่น กวาง เก้ง กระทิง และช้างป่า
วันนี้ (15 เม.ย.) เพจ "ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" โพสต์ภาพสัตว์ป่าหายาก โดยระบุข้อความว่า "รู้จากข่าวเผยภาพเสือโคร่งในผืนป่าอนุรักษ์ตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 มีรายงานการพบสัตว์ป่าหายากในพื้นที่ป่าของไทย หลังกล้อง NCAPS ที่ติดตั้งไว้ส่งภาพเสือโคร่ง ซึ่งคาดว่าออกล่าเหยื่อ โดยบริเวณที่ติดตั้งกล้องเป็นโป่งพบว่ามีสัตว์ป่า ได้แก่ กวาง เก้ง กระทิง และช้างป่าลงมากินดินโป่งเป็นประจำ ทำไมการพบเจอเสือโคร่งในพื้นที่ป่าจึงเป็นสิ่งที่น่ายินดี เสือโคร่ง เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ถ้ามีเสือแสดงว่าป่ามีระบบนิเวศที่ดี เพราะเหยื่อของเสือบริโภคหญ้า พืชในป่า เป็นการหมุนเวียนการบริโภคอาหาร ห่วงโซ่อาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นป่าที่มีเสืออยู่ได้ก็เป็นตัวชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าและความหลากหลายในระบบนิเวศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการป้องกันพื้นที่ป่ามีความสำคัญที่สุด ถ้าสามารถป้องกันป่าซึ่งเป็นบ้านที่เป็นถิ่นที่อยู่ของเสือไว้ได้หรือมากพอ ก็จะทำให้ป่าไทยยังมีเสืออาศัยอยู่ "ป่าที่มีเสืออาศัยอยู่ นั่นก็แสดงว่าป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก และเพียงพอที่จะกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าแหล่งที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย"
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำระบบการลาดตระเวนที่ให้ความสำคัญต่อการลาดตระเวนที่ครอบคลุมพื้นที่มาใช้ในการป้องกัน การลาดตระเวนหรือที่เรียกว่า smart patrol เป็นการเดินสำรวจ และวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง
ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่กันอยู่ในขณะนี้ ทีมนักวิจัยและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพี่น้องประชาชน ที่ทำให้ภารกิจงานด้านการอนุรักษ์ประสบผลสำเร็จ เป็นความสำเร็จของการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน"