แคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมที่สังคมเฝ้าจับตา ออกมาเรียกร้องผ่าน change.org ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหยุดสร้างเขื่อนกันคลื่นบนหาดทรายผืนสุดสุดท้ายใน อ.ปราณบุรี พื้นที่โซน 3 ( ชายหาดหน้าศาลเสด็จเตี่ย) ความยาวเขื่อนฯ ประมาณ 250 โดยตั้งข้อสังเกตุไว้ 3 ประเด็น
เจ้าของแคมเปญ ‘เอ รักเลปราณ’ ตั้งใจจะนำรายชื่อไปยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะอาจเป็นโอกาสสุดท้าย ก่อนหาดแห่งนี้จะหายไปตลอดกาล ล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนในแคมเปญของ ฅนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ แล้ว 1,891 คน ขอแรงช่วยให้ถึง 2,500 รายชื่อ! หยุดการสร้างเขื่อนกันคลื่นขั้นบันไดที่ชายหาดศาลเสด็จเตี่ย อ.ปราณบุรี
เราเตรียมตัวจะเดินทางเพื่อจะไปยื่นหนังสือถึง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ กทม. เพื่อขอให้ท่านอธิบดีฯช่วยยกเลิกการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่ชายหาดศาลเสด็จเตี่ย ชายหายสุดท้ายของพวกเรา ณ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ( For the last beach )...
* โครงการเขื่อนกันคลื่นป้องกันการกัดเซาะและการปรับภูมิทัศน์ ความยาว 900 เมตร ต.ปากน้ำปราณ ( เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ปี 2562 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 )
* โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 3 โซน : โซนที่ 1 และ 2 ความยาวรวมกันประมาณ 600 เมตร เราไม่ได้ทำการคัดค้านใดๆในพื้นที่ โซนที่ 1และ 2 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะจริงครับ...
* แต่เราขอคัดค้านเฉพาะพื้นที่โซนที่ 3 ( ชายหาดหน้าศาลเสด็จเตี่ย) ความยาวเขื่อนฯประมาณ 250 เมตร (จากโครงการ 900 เมตร ) โดยตั้งข้อสังเกตุ 3 ข้อ ถึงเหตุผลที่ควรยกเลิกการสร้างเขื่อนฯในโซนที่ 3 (เหลือเพียงแค่ทำการปรับภูมิทัศน์เท่านั้น) ดังนี้
1. #ความจำเป็น.. การสร้างเขื่อนในโซนที่ 3 บริเวณนี้ #ไม่มีความจำเป็นใดๆ เนื่องจากชายหาดบริเวณนี้ไม่มีการกัดเซาะ และสมดุล ( มาเป็นเวลามากว่า 10 ปี ) มีข้อมูลทั้งที่เก็บโดยจิตอาสากลุ่มฅนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ , ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี และ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ที่มีความเห็นตรงกันว่า พื้นที่ชายหาดบริเวณนี้เป็นชายหาดสมดุลและไม่มีการกัดเซาะ
2. #ความเหมาะสม.. เนื่องจากโครงการนี้มีการปรับภูมิทัศน์บรรจุเข้ามาในตัวโครงการด้วย ซึ่งเราไม่ได้ค้านเรื่องการปรับภูมิทัศน์เพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย..แต่การปรับภูมิทัศน์ควรต้องมีความเหมาะสมกับพื้นที่ ควรจัดให้สิ่งปลูกสร้างต่างๆอยู่ด้านในหลังจากเนินทราย ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงให้แก่สิ่งปลูกสร้างในระยะยาว..
3. #ความถูกต้อง... กระบวนการที่ใช้ถูกต้องหรือไม่ ..การรับฟังความคิดเห็นต่างๆ การสื่อสารกับชุมชน ด้วยการชี้ชวนที่ไม่เป็นจริง.. ว่าถ้าชาวบ้านต้องการให้มีการปรับภูมิทัศน์ #ต้องทำการสร้างเขื่อนกันคลื่น บริเวณชายหาดนี้ด้วย. ( ขายเหล้าพ่วงเบียร์) ซึ่งความจริงสามารถทำโครงการแยกออกจากกันได้ ถ้ามีความจริงใจในการที่จะช่วยเหลือพัฒนาชุมชนจริงๆ
ในโพสต์เรียกร้องดังกล่าว อธิบายอีกว่า
ข้อสำคัญ คือ การสร้างเขื่อนในบริเวณชายหาดศาลเสด็จนี้จะทำให้ ชายหาดนี้หายไปตลอดกาล ..เนื่องจากหาดทรายจะถูกแทนที่ด้วยเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ ( กว้าง 15-18 เมตร ยาว 250 เมตร ) อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้น ณ จุดสิ้นสุดของเขื่อนฯดังกล่าว และทำให้ชายหาดในบริเวณถัดไปถูกกัดเซาะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำการสร้างความเสียหายต่อชายหาดถัดไปเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างร้ายแรงครับ เพราะเขื่อนฯ ดังกล่าวจะทำให้เราสูญเสียชายหาดสุดท้ายแห่งนี้ไปอย่างถาวร (ซึ่งบริเวณนี้เหลือพื้นที่ชายหาดธรรมชาติที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน เหลือเพียงแค่ 700 เมตรเท่านั้น) ชายหาดนี้มีคนในชุมชนใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น คนสูงวัยใช้เดินออกกำลังกาย, นอนฝังทรายเพื่อบำบัดความปวดเมื่อย, ใช้ตกปลา หาหอย ตามวิถีชาวบ้าน, เด็กๆใช้วิ่งเล่น เตะบอล เล่นว่าว เล่นน้ำทะเล, นักท่องเที่ยวใช้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อผ่อนคลาย, นักกีฬาไคท์เซิรฟใช้เป็นพื้นที่เล่นไคท์เพื่อฝึกซ้อมเตรียมแข่งขัน นกทะเลหลายร้อยตัวใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพื่อวางไข่และเลี้ยงลูกน้อย และ อื่นๆอีกนานานับประการ
Fighting.. For the last beach
นักอนุรักษ์หลายคนออกมาย้ำว่าโครงการสร้างกำแพงคอนกรีตกันคลื่นบริเวณหน้าหาดทรายอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำเซาะฝั่งที่เหมาะสมเสมอไป เพราะมีหลายโครงการที่สร้างไปแล้วพบว่าหาดทรายหายไปถาวร ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ทั้งคนและสัตว์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม
“ขอความช่วยเหลือจากทุกท่าน ช่วยสนับสนุนแคมเปญนี้ของพวกเรา เพื่อช่วยรักษาชายหาดสุดท้ายแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานและทุกๆคนสืบต่อไปครับ เชื่อว่าทุกท่านจะมีโอกาสที่จะได้มาดื่มด่ำกับบรรยากาศและธรรมชาติสวยๆแห่งนี้ครับ ปากน้ำปราณยินดีต้อนรับครับ” เอ รักเลปราณกล่าวในโพสต์