ปลัดกรุงเทพมหานคร เผยกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำบริเวณคลองฝั่งธนบุรี ระบุมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวชุมชน เร่งพัฒนาทางด้านกายภาพ คุณภาพชีวิต และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวคลองควบคู่กันไป
วันนี้ (1 ก.พ.) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำบริเวณคลองฝั่งธนบุรีซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวชุมชน โดยหลายเส้นทางเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว อาทิ คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน และคลองในพื้นที่เขตบางขุนเทียน เป็นต้น
โดยกรุงเทพมหานครได้เข้าดำเนินการพัฒนาทางด้านกายภาพ คุณภาพชีวิต และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวคลองควบคู่กันไป มีการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ริมคลอง ซ่อมแซม ทาสีราวกันตก จัดระเบียบพื้นที่ริมคลองให้สะอาดและปลอดภัย ก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือ พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลอง เก็บขยะ กำจัดวัชพืชในคลอง การขุดลอกคลอง การล้างขัดเขื่อน อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวที่เน้นการแวะพักตามจุดสำคัญ ๆ สอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพื้นที่ริมคลอง เพื่อสร้างความดึงดูดใจให้แก่นักท่องเที่ยว และกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนที่อยู่ริมคลอง ซึ่งเป็นการเน้นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อหลีกเลี่ยงการสัญจรในเส้นทางที่มีข้อจำกัด เช่น ระดับน้ำในคลองที่จำเป็นต้องปรับตามระดับการขึ้นลงของน้ำทะเลและระบบการระบายน้ำ หรือสะพานมีระดับต่ำเรือไม่สามารถลอดใต้สะพานได้ หรือการเชื่อมต่อกับทางการเดินทางทางบกยังไม่สมบูรณ์
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและจังหวัดในปริมณฑลจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบอื่น (W-MAP) “ล้อ ราง เรือ” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างสะดวก ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่งได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดเฉพาะจุดเพื่อก่อสร้างให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ ราง เรือ โดยในเบื้องต้นจะนำร่องการพัฒนาเส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบ และแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน เนื่องจากมีผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกและปลอดภัยต่อไป ซึ่งปัจจุบันเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อเป็นระบบล้อ-ราง-เรือ ที่เกิดขึ้นแล้วย่านฝั่งธนฯ คือ แหล่งท่องเที่ยวคลองบางหลวง ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ต่อเรือโดยสารเส้นทางบางหว้า - ปากคลองตลาด เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวบริเวณคลองภาษีเจริญและคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ด้วยเรือโดยสารที่ กทม.จัดไว้บริการ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ในอนาคตการท่องเที่ยวคลองฝั่งธนฯ จะมีความสะดวกสบาย และได้รับการพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัญหาอุปสรรคและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครก็จะเร่งดำเนินการแก้ไข ขณะนี้กทม. กำลังขอจัดสรรงบประมาณดำเนินแผนการปรับปรุงสถานีสูบน้ำและประตูเรือสัญจรทางน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ปรับปรุงช่องทางการเดินเรือเพื่อบริการเรือสัญจร ปรับปรุงการปิดเปิดประตูเรือโดยการใช้ระบบไฮดรอลิกยกบานประตู พร้อมปรับปรุงระบบเติมน้ำและระบบระบายน้ำออกของอ่าวเรือ เพื่อลดระยะเวลาในการให้บริการแก่เรือสัญจรให้มีความเร็วต่อรอบในเปิดปิดประตูเรือให้เร็วขึ้น เป็นการสนับสนุนแผนพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวย่านคลองบางหลวง และมีแผนที่จะก่อสร้างสร้างเขื่อน ค.ส.ล. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองภาษีเจริญ ป้องกันการกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากการเดินเรือ เป็นต้น
ส่วนประเด็นระดับท้องสะพานต่ำ เรือไม่สามารถสัญจรได้นั้น การพิจารณาอนุญาตก่อสร้างสะพานจะยึดหลักเกณฑ์ ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดว่าคลองที่มีเรือสัญจรต้องมีค่าท้องสะพานไม่น้อยกว่า +3.00 ม.รทก. ดังนั้นสะพานที่ขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา จะพิจารณาค่าท้องสะพานไม่น้อยกว่าตามระเบียบการขออนุญาตฯอยู่แล้ว ส่วนปัญหาท้องสะพานที่ต่ำเรือไม่สามารถลอดได้จะเป็นสะพานที่ก่อสร้างก่อนที่ระเบียบการอนุญาตดังกล่าวจะออกมาบังคับใช้ แต่ถึงอย่างไร หากทางกรุงเทพมหานครมีแผนพัฒนาคลองช่วงบริเวณที่มีสะพานที่ท้องต่ำ ก็สามารถที่จะดำเนินการแจ้งเจ้าของสะพานเพื่อปรับปรุงสะพานให้สอดคล้องกับการเดินเรือได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในใบอนุญาตก่อสร้างสะพาน