ผมได้ไปเยี่ยมชมงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 38 จัดงานเมื่อ 1 -12 ธันวาคม 2564 ที่เพิ่งจบลงไปวันก่อน
สรุปรวมมีผู้เข้าชมงาน ประมาณ 1.15 ล้านคน นับว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งของการจัดงานใหญ่ในช่วงโควิด-19 ครับ มีรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อต่างๆ จำนวนมาก มาแสดงในงานนี้
แต่ที่ผมสนใจมากก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ขับเคลื่อน 100% (BEV) ซึ่งในปีนี้มีมาแสดงมากกว่าปีที่แล้ว รวมมีประมาณ 15 รุ่น เช่น Tesla Model Y รถไฟฟ้าชื่อดังที่สุดในโลก ในรูปแบบ Crossover (แต่Tesla ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดด้วยตัวเอง มีแต่ผู้จำหน่ายอิสระได้นำเข้าหลายราย )
ในงานนี้ปรากฏว่ามีค่ายรถชื่อดังจากจีนได้นำรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ๆ หลากหลายรุ่นมาแสดงอย่างคึกคักมาก
MG ลูกผสมจากจีน นับเป็น เจ้าพ่อ EV ที่ทำยอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย งานนี้โชว์ EV หลายรุ่นและยังได้นำรถต้นแบบสุดหรู แบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% MG Cyberster Roadster ด้วยนวัตกรรมใหม่ทั้งดีไซน์โฉบเฉี่ยว และพลังแรงสูง
คู่แข่งจากจีนที่น่ากลัวของ MG คือ Great Wall (GW) ก็เอาใจวัยรุ่น จ้องตีตลาดด้วย EV รุ่น ORA และวัยรุ่นใหญ่ด้วย HAVAL และยังมี EV จากค่ายจีนที่มาท้าชิงใหม่อีกยี่ห้อ คือ รถขนาดเล็กน่ารักตระกูล Pocco แถมจัดให้ในราคาเบาๆ อีกด้วย
นอกนั้นก็จะเป็นเจ้าเก่าที่เคยนำมาแสดงโชว์อยู่แล้วเช่น เบนซ์ บีเอ็ม นิสสัน วอลโว่ เป็นต้น
และค่ายที่ยังคงยึดมั่น ถือมั่นในรถเครื่องยนต์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ยอมเอา EV เข้ามาขายในเมืองไทย คือ TOYOTA (คงจะเป็นเพราะว่าในสต๊อกมีเครื่องยนต์เหลืออยู่จำนวนมากทั่วโลก ที่จะต้องระบายออกให้ทัน EV ที่เข้ามาตีตลาด)
เมื่อดูโดยสรุปของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ผมคิดว่า รถนำเข้าจากจีนคงจะเป็นเจ้าตลาดแน่นอน เนื่องจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่ทำไว้ ตั้งแต่ปี 2547 ให้จีนได้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้า 0% เริ่มมีผลเมื่อปี 2561 ทำให้ขายได้ในราคาที่ถูกกว่ายี่ห้ออื่นอย่างมาก
โดยสรุปแล้ว ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดเอาไว้
แต่เรื่องของภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน 0% นี้เอง ที่ได้สร้างปัญหา และก่อความปั่นป่วนในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างมาก ทั้งค่ายรถยนต์นำเข้าต่างๆ และที่สำคัญก็คือ เป็นปัญหาที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตต่ำด้วยจำนวนมาก (Mass Production ) และจำนวนการขายในตลาดแข่งขันทั่วโลกของจีน
เป็นบทเรียนที่แสนจะเจ็บปวดของประเทศครับ !!
บทความโดย ดร.สมชาย สาโรวาท ประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค ดร.สมชาย
สาโรวาท