จะดีกว่าหรือไม่? หากขยะเหล่านี้ไม่ถูกตัดสินให้กลายเป็นขยะเร็วเกินไป ทั้งที่มันเคยเป็นและอาจยังเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลอยู่ ด้วยการใช้ “หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและหมุนเวียนทรัพยากรใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแค่ลดปัญหาขยะล้น หรือทรัพยากรขาดแคลน แต่ยังสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจได้ แค่เปลี่ยนความคิดและลงมือทำ
ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะจากครัวเรือนกว่า 28 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ย 1 กก./คน/วัน แต่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้แค่เพียงปีละ 9.6 ล้านตัน ไม่เพียงเท่านั้น วิถีชีวิตแบบใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งผลักดันให้มีขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น ปริมาณขยะจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เกิดเป็นวิกฤตขยะล้นเมือง!
ส่วนหนึ่งเพราะขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่วิกฤตนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จนคาดกันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะมีขยะหลุดเข้าสู่สิ่งแวดล้อมถึง 700 ล้านตัน
เวที “SCG Trash (less) Talk” ในงาน “Thailand Sustainability Expo 2021” ที่ผ่านมาจึงชวนทุกคนมาร่วมเห็นความสำคัญของการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง มอง Waste ให้เป็น Wealth” โดยมีนายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND นายภูเบศร์ สำราญเริงจิต รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) และนายเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ Circular Economy Business Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมค้นหาทางออกแก้ปัญหาขยะและทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้โลกน่าอยู่มากขึ้น
แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน
นายเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ Circular Economy Business Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า การจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นจริงได้ต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการใช้ทรัพยากร ที่ผ่านมาเรามักใช้แล้วทิ้ง แต่ปัจจุบันต้องปรับวิธีคิดว่าจะใช้อย่างไรให้นานขึ้น คุ้มค่าขึ้น โดยเอสซีจี ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในธุรกิจอย่างจริงจัง และนำความรู้ ความคิดใหม่ ๆ มาเป็นตัวอย่าง พร้อมชักชวนภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมทำ เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายที่ทำเรื่องการจัดการขยะและหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ โดยยกตัวอย่างของการร่วมกับเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทองและยูนิลีเวอร์ ทำโครงการ “แยกดี มีแต่ได้”
“ปกติที่ชุมชนบางบัวทองจะมีการแยกขยะอยู่แล้ว เราไปร่วมกับยูนิลีเวอร์เพื่อส่งเสริมเรื่องการแยกขยะมากขึ้น โดยขยะพลาสติกชนิด HDPE เช่น ขวดนมหรือขวดน้ำยาล้างจานที่รวบรวมมาทุก 1 กิโลกรัม สามารถนำไปแลกสินค้ายูนิลีเวอร์ได้ 1 ชิ้น แล้วเอสซีจีก็นำขวดพลาสติกที่ได้มารีไซเคิลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำบรรจุภัณฑ์สำหรับ consumer products เป็นการเปลี่ยน Waste ให้เป็น Wealth และถือเป็น Circular Economy อย่างแท้จริง เพราะทุกภาคส่วนได้เข้ามาเกี่ยวข้อง”
“ขยะ” ไม่มีจริง ชุบชีวิตใหม่ให้เสื้อผ้าเก่า
ด้าน นายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND ผู้ผลิตผ้ารีไซเคิลและสินค้ารีไซเคิล เล่าถึงที่มาของการนำ Waste จากวงการสิ่งทอมาสร้างให้เกิดมูลค่ามากขึ้นว่า ตนเองเป็นทายาทรุ่นที่ 3 โดยในรุ่นแรกเริ่มจากการซื้อมาขายไปของเสียในวงการแฟชั่น เช่น เศษผ้าจากการตัดเย็บหรือเสื้อผ้าเก่า ต่อมาทายาทรุ่น 2 ได้เริ่มนำของเสียเหล่านี้มาแปรสภาพเป็นเส้นด้ายและนำไปผลิตเป็น Mass Products ให้กับวงการต่างๆ
ตนเองเมื่อได้เข้ามาสานต่อ SC GRAND จึงมองว่าทำอย่างไรเพื่อสื่อสารให้ลูกค้าซึ่งเป็นคนทั่วไปจับต้องผลิตภัณฑ์นี้ได้ จึงนำสิ่งที่เคยเป็นขยะเหลือทิ้งเหล่านี้มาผลิตเป็นแบรนด์ผ้ารีไซเคิลจาก SC GRAND ให้ทุกคนรู้ว่าขยะสิ่งทอสามารถแปรรูปให้เป็นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้
“จุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้า SC GRAND มาจาก Core Value เมื่อครั้งคุณยายเริ่มธุรกิจ มีโอกาสไปโรงงานสิ่งทอและเห็นว่าใยของขยะจากสิ่งทอเหล่านี้ยังมีคุณค่า สามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้ จึงนำของเสียจากวงการสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ เสื้อผ้าเก่า ฯลฯ มาเข้ากระบวนการคัดแยกเฉดสี และแปรสภาพเป็นเสื้อผ้าใหม่”
นายจิรโรจน์ บอกและย้ำว่า “เราตั้งใจจะสื่อสารว่า ขยะสิ่งทอสามารถสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าที่สวยงามได้และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน”
“หมุนเวียนทรัพยากร” อย่างไรให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ
ขณะที่ นายภูเบศร์ สำราญเริงจิต รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองการบริหารจัดการขยะในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ว่า โดยปกติในหนึ่งโครงการที่พักอาศัยจะมีขยะจากแต่ละบ้านรวมกันมากถึงวันละ 1.5 ตัน แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด19 มีขยะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-40
“สิ่งสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ว่าขยะนำมาสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยแนวทางแรกของเราคือการสร้างประโยชน์ต่อชุมชน เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก SCGP reXycle เข้ามาทำโครงการร่วมกัน มีการรีไซเคิล นำกระดาษมาใช้ในโครงการให้เห็นว่าขยะที่ทิ้งไปก็สามารถหมุนเวียนกลับมาทำประโยชน์ได้ เช่น ทำเป็นของเล่นเด็กในพื้นที่ส่วนกลางจากลังกระดาษ รวมทั้งกระดาษเอกสารด้วย”
“หลังจากนั้นมีการ “เพิ่มมูลค่า” ของขยะโดยการสร้างบุญ คือ นำขยะที่คัดแยกไว้แล้วไปส่งมอบทำเตียงสนามกระดาษ เพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลสนามใช้ในช่วงโควิด 19 จากสองแนวคิดนี้ทำให้ได้รับความร่วมมือจากลูกบ้านเป็นจำนวนมาก” คุณภูเบศร์บอก
ทริคเล็กๆ ที่ช่วยให้ใครๆ ก็เป็นฮีโร่ได้
แล้วเราจะทำให้ทุกคนหันมาตระหนักและมีส่วนร่วมได้อย่างไร?
นายจิรโรจน์ บอกว่า ขยะสิ่งทอทั่วโลกมีประมาณ 92 ล้านตันต่อปี ตัวเลขนี้เป็นเพียงขยะในอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือขยะแฟชั่นเท่านั้น ซึ่งยังมีขยะจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย หากใครคิดจะทำธุรกิจและมีความมุ่นมั่นที่จะทำโลกนี้ให้ดีขึ้น แนะนำให้เปลี่ยนมุมมองความคิด โดยลองเริ่มต้นทำจากสิ่งใกล้ตัว
“เรากำลังจะเปิดให้บริการรับผลิตเสื้อผ้าให้กับองค์กรในสิ้นปีนี้ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างคือ สามารถนำเสื้อผ้าองค์กรซึ่งในปีที่ผ่านมาไม่ใช้แล้วมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ได้ และสำหรับคนทั่วไป สามารถหยิบเสื้อผ้าเก่ามารับส่วนลดที่ร้าน CIRCULAR ของเราได้ ซึ่งเสื้อผ้าเก่าที่รับมาก็จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ในคอลเลคชันถัดไป นี่เป็นทรัพยากรที่คนทั่วไปมองว่าไม่มีประโยชน์ ไม่เห็นคุณค่า แต่เราสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก”
เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง มอง Waste ให้เป็น Wealth
ปิดท้ายด้วย นายเฉลิมพล ที่ให้ข้อคิดเสริมว่า การจะทำให้สังคมของเราเป็น Trashless Society หรือสังคมที่ไม่มีคำว่าขยะนั้น การแยกขยะเป็นสิ่งจำเป็น ทรัพยากรไม่มีคำว่า Waste หรือของเสีย เช่น เสื้อผ้าเก่าก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หากเราช่วยกันทำสิ่งที่เคยมองว่าเป็น “ขยะ” ให้มี “คุณค่า” มากขึ้น เช่นขยะที่ไม่มีการคัดแยก นำไปขายรวมกันได้ราคากิโลกรัมละบาทเดียว แต่ถ้าแยกขยะ กระดาษขายได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท พลาสติกขายได้กิโลกรัมละ 10 บาท กระป๋องขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท นั่นหมายความว่าแค่แยกขยะก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้แล้ว
“หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คือทำอย่างไรไม่ให้มี waste เพราะมันกระทบกับเรื่องทรัพยากรที่มีจำกัด และการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น อนาคตของเรากับเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด อยากให้ช่วยกันคิดว่าไม่ใช่ one day หรือวันหนึ่งฉันจะทำ แต่ควรเปลี่ยนเป็น day one หรือเป็นวันแรกที่เราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจริงๆ”
“เพราะการเปลี่ยนเพื่อโลกที่คุณแคร์ แค่ลงมือทำจริง เริ่มง่ายๆ ที่ตัวเรา เมื่อรวมกันก็เป็นพลังทำให้เกิด Trashless Society ได้”
ผู้สนใจสามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจีได้ที่ https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel