นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงบทบาทของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร ช่วยให้ซีพีเอฟสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐานปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ ที่ผ่านมา คู่ค้าเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ซีพีเอฟจึงได้ดำเนินโครงการ "Faster Payment" ปรับลดเวลาเครดิตเทอมเป็น 30 วันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 6 พันรายของซีพีเอฟมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถประคับประคองกิจการยืนหยัดผ่านสภาวะที่ยากลำบากได้
เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวได้อย่างแข็งแกร่งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซีพีเอฟได้จัดสัมมนาออนไลน์ CEO ROUNDTABLE FOR SMEs Conference 2021 ให้คู่ค้าธุรกิจเอสเอ็มอี พูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ และมุมมองการดำเนินธุรกิจในอนาคต กับประธานคณะผู้บริหารของซีพีเอฟ เพื่อเสริมพลังและส่งต่อความรู้พร้อมทักษะเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ในโลกยุค Next Normal และนำไปสู่การร่วมคิด และความร่วมมือกันยกระดับขีดความสามารถให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเดินหน้าได้อย่างมั่นคง และเติบโตไปด้วยกัน โดยมีคู่ค้าเอสเอ็มอีเข้าร่วมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 15 บริษัท
“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และความคาดหวังของลูกค้าและผู้บริโภคในวันนี้ มีมากกว่าการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยที่รวดเร็ว หากยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากห่วงโซ่การผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสังคม สินค้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม การมาร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในครั้งนี้มองว่าจะมีส่วนช่วยจุดประกายให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้นำหลัก ESG ไปประยุกต์ใช้และยกระดับดำเนินงาน และสามารถซีพีเอฟยินดีให้การสนับสนุนเพื่อให้ทุกคนในห่วงโซ่อุปทานเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” นายประสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ ยังได้แบ่งปันกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟ ที่จะให้ความสำคัญกับ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก คือ การให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารควบคู่กับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร โดยจะมีการเพิ่มคุณค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พัฒนาผลิตภัณฑ์หมูชีวา ที่มีโอเมก้าสูงกว่าเนื้อหมูปกติ เป็นต้น กลยุทธ์ที่สอง คือ การก้าวสู่การทำงานในยุคดิจิทัลมากขึ้น ตั้งแต่ในฟาร์ม โรงงาน จนถึงการจำหน่าย และกลยุทธ์ที่ 3 เป็นเรื่อง Engineering practices โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติ การใช้ IOT ระบบออนไลน์ เข้ามาช่วยการบริหารจัดการมากขึ้น
นายนิวัติ ดีงาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูรินทร์ กรีนฟู้ดส์ โปรดักส์ ผู้จัดหากระเทียมสด ปลอดภัย ได้ร่วมแบ่งปันการดำเนินธุรกิจว่า จากการที่เข้าเป็นผู้จัดหากระเทียมสดให้กับซีพีเอฟ ที่เน้นวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ธุรกิจได้รวมกลุ่มเกษตรกรและส่งเสริมยกระดับการเพาะปลูกตามมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) ซึ่งเป็นการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี ช่วยส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ทุกวันนี้ มีเกษตรกร 50 ครัวเรือนที่มาเข้าร่วมกลุ่มกับภูรินทร์ เพื่อร่วมเป็นผู้ส่งมอบกระเทียมปลอดสารให้กับซีพีเอฟได้อย่างต่อเนื่อง
นางนฤมล แสงมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอ็มพี ยูนิฟอร์ม จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณที่ได้รับโอกาสเป็นผู้ผลิตเสื้อยูนิฟอร์มในสายการผลิตให้กับซีพีเอฟ การทำงานร่วมกับซีพีเอฟมีส่วนช่วยผลักดันให้กิจการขนาดเล็กยกระดับระบบคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานซีพีเอฟ รวมทั้งความยั่งยืนที่เป็นเทรนด์ของโลก ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาและพัฒนาเนื้อผ้าทำจากเกล็ดปลา และขวดพลาสติกรีไซเคิล ตลอดจนปรับเปลี่ยนมาทำตลาดแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น และที่สำคัญโครงการ Faster Payment ช่วยส่งเสริมธรรมาภิบาล ช่วยให้บริษัทสามารถชำระค่าสินค้าตรงเวลา และมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถดูแลและช่วยเหลือพนักงาน ครอบคลุมถึงลูกจ้างชั่วคราวอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ นายชยกฤต ธนกฤตขจร บริษัท สหปภพ จำกัด ผู้ให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในฟาร์ม ยังได้ร่วมแบ่งปันถึงการปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทำงานตอบโจทย์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคของซีพีเอฟ โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มในการติดตามตรวจสอบการทำงานของเครื่องมืออุปกรณ์การใช้ในฟาร์มผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และยังได้ต่อยอดทำระบบบัญชีบนเทคโนโลยี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเอสเอ็มอีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยินดีแบ่งปันความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจอีกด้วย