xs
xsm
sm
md
lg

WWF วิเคราะห์สถานการณ์เสือโคร่งในป่าภูมิภาคอาเซียน ยังน่าห่วง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเป้าหมายการเพิ่มประชากรเสือโคร่งให้ได้ 2 เท่าตามมติของที่ประชุมกลุ่มประเทศอนุรักษ์เสือโคร่ง ที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว พบหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

โดยอุปสรรคสำคัญที่เป็นภัยคุกคามเสือโคร่งล้วนเกิดจากมนุษย์แทบทั้งสิ้น ได้แก่ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการพัฒนาของระบบสาธารณูปโภค การลักลอบตัดไม้ และการขยายพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงยังมีขบวนการค้าชิ้นส่วนเสือโคร่ง และการวางกับดับที่เหล่ามนุษย์นักล่าวางไว้ในป่า

กว่า 25 ปีแล้วที่มีงานวิจัยระบุว่า เสือโคร่งสูญพันธุ์ไปจากกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และยังคงลดจำนวนลงในมาเลเซีย สาธารณรัฐเมียนมา ซึ่งพบจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย

“ประชากรเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดจำนวนลงจนเป็นที่น่าเป็นห่วง แม้ทั่วโลกจะมีการทำข้อตกลงในการอนุรักษ์ เพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรของสัตว์ผู้ล่าตระกูลแมวใหญ่นี้ร่วมกันตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สายเกินไป แต่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่แต่ละภาคส่วนจะร่วมกันจัดสรรทรัพยากร และสรรพกำลังเพื่อช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ที่เป็นเหมือนอัตลักษณ์ของภูมิภาคนี้” สจ๊วต แชปแมน หัวหน้าโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง Tiger’s Alive Initiative จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF กล่าว

“ในขณะที่ประเทศแถบเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย เนปาล และประเทศทางตอนเหรือของเอเชียยุโรป อย่างรัสเซีย สามารถประกาศความสำเร็จของการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้ โดยมีแนวโน้มประชากรเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้น และในบางพื้นที่ประชากรสามารถเพิ่มขึ้นได้เป็น 2 เท่าภายในระยะเวลาไม่นาน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อของผืนป่าหรือถิ่นอาศัย การมีประชากรเหยื่อที่เพียงพอ และการปกป้องเสือจากการถูกล่า ซึ่งทำให้ตัวเลขจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นได้”

การวางกับดักของพรานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามหลักต่อเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรายงานของ WWF พบว่ามีจำนวนกับดักพรานมากกว่า 12 ล้านชิ้นในป่าอนุรักษ์ ทั้งในกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศที่พบว่าเสือโคร่งได้สูญพันธุ์ไปจากป่าแล้ว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งสัญญาณต่อประเทศที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามธรรมชาติให้เฝ้าระวัง และเดินหน้าโครงการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยคุกคามด้านอื่นๆ ได้แก่ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการพัฒนาของระบบสาธารณูปโภค การตัดไม้ผิดกฎหมาย และการขยายพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงปัจจัยคุกคามด้านการค้าเสือโคร่งและชิ้นส่วนของเสือโคร่งที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยมีข้อมูลระบุว่ามีการตรวจยึดเสือโคร่งได้ทั้งหมด 1,004 ตัว ระหว่างปี พ.ศ.2543 – 2561 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ามีเสือโคร่งในกรงเลี้ยงประมาณ 8,000 ตัวในประเทศจีน ลาว ไทย และเวียดนาม ซึ่งกลไกทางกฎหมายในการจัดการเสือโคร่งในกรงเลี้ยงยังมีช่องโหว่ และควรมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อไม่ให้กรณีของการเลี้ยงเสือในกรงไปกระตุ้นความต้องการผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง


แม้ว่าเสือโคร่งจะมีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่ง อาทิ การระดมอาสาสมัครชนพื้นเมืองและสมาชิกในชุมชนเพื่อร่วมกันลาดตระเวนในการป้องปรามการล่าเสือโคร่งของพรานป่า ที่เกิดขึ้นในกลุ่มป่าเบลุม เทเมนกอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสามารถเก็บกู้บ่วงและกับดักสัตว์ป่าได้มากถึง 94%

ในขณะที่การกระจายพันธุ์ของเสือโคร่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เป็นต้น ถือเป็นความสำเร็จของการมีผืนป่าขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกัน ตลอดจนมีระบบงานป้องกันและการจัดการพื้นที่ที่เข้มแข็ง

"ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และองค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ และชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การล่าสัตว์ในกลุ่มป่าเบลุม เทเมนกอร์ลดลง ซึ่งเราจะต้องขยายกลุ่มพลังในการทำงานร่วมกันนี้ให้เกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการทำงานระดับนโยบายและการหาแหล่งทุนในการสนับสนุนงานอนุรักษ์เข้ามาด้วย” โซเฟีย ลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF มาเลเซียกล่าว

ในส่วนของประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงเนื่องในวันเสือโคร่งโลกปี พ.ศ.2564 ว่า ประเทศไทยพบเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนในผืนป่าของประเทศทั้งหมดระหว่าง 145-177 ตัว โดยเป็นการสำรวจผ่านการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของเสือโคร่งผ่านกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกตอนบนของ WWF ประเทศไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง มีการสำรวจพบเสือโคร่งอาศัยอยู่ประมาณ 13 - 17 ตัว ในขณะที่พื้นที่ป่าตะวันตกตอนล่าง ซึ่งรวมถึงอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น คาดว่ามีเสือโคร่งอาศัยอยู่ราว 11 ตัว

“การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ปกป้องแหล่งน้ำ และลดทอนอันตรายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ รวมถึงยังทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดียิ่งขึ้นด้วย” ผู้บริหาร WWF กล่าว

อนึ่ง รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันจัดทำแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ซึ่งจะมีการนำเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำระดับประเทศด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Asia Ministerial Conference on Tiger Conservation) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะมีการประชุมและการหารือกันในหลายมิติ เช่น แผนการขยายงบประมาณเพื่อดูแลพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณสำหรับผู้พิทักษ์ป่า และการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้นำของประเทศต่าง ๆ เพื่อวางแผนอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่ง รวมถึงโครงการนำเสือโคร่งกลับบ้านในหลายประเทศที่เสือโคร่งสูญพันธุ์ไปแล้ว และร่วมกันออกแบบแนวทางเฝ้าระวังกลไกการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง WWF-Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น