เครดิตคลิป กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพิ่งได้รับการบรรจุเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เป็นอีกสถานที่ยอดนิยมในการดูนกตลอดมา และหนึ่งในความมหัศจรรย์ของผืนป่าแห่งนี้ก็คือ นกกะลิงเขียดหางหนาม ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่น
ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ค สมาคมอนุรักษ์นก Bird Conservation Society of Thailand (BCST) บรรยายไว้ว่า
ไม่ใช่เขียดไม่ใช่ลิง ถ้าอยากเจอตัวจริงมา “พะเนินทุ่ง” ย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ. 2532 คงไม่มีข่าวไหนที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดูนกเมืองไทยเท่ากับการค้นพบ “นกกะลิงเขียดหางหนาม (Ratchet-tailed Treepie)” ครั้งแรกในประเทศไทยที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยคุณพินิจ แสงแก้ว
ณ เวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดว่านกกะลิงเขียดหางหนาม ซึ่งในตอนนั้นเป็นนกประจำถิ่นที่ทำรังวางไข่บนเกาะไหหลำ ตอนกลางของลาว และเวียดนาม จู่ๆจะมาอาศัยอยู่ที่ป่าแก่งกระจาน เพราะระยะทางระหว่างป่าแก่งกระจาน กับ ลาว เวียดนามมันห่างกันเกือบหนึ่งพันกิโลเมตรเลยทีเดียว
แต่ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพิสูจน์เรื่องราวที่แสนมหัศจรรย์ของวงการปักษีวิทยาเรื่องนี้ แนะนำให้ไปดูนกที่เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีรายงานพบเห็น “นกกะลิงเขียดหางหนาม” ได้เป็นประจำ
“นกกะลิงเขียดหางหนาม” ถ้าลองสังเกตถึงลักษณะสวยงามที่เด่นชัด อยู่ตรงที่มีขนแหลมยื่นออกมาจากด้านข้างของขนหางทุกเส้น เรียงลดหลั่นกันมองคล้ายหนามยาว ขนปกคลุมสีดำสนิทตลอดทั้งตัว พฤติกรรมมักพบตามลำพังหรือเป็นคู่ บางครั้งอาจพบเป็นกลุ่มเล็กๆ
นกกะลิงเขียดหางหนาม ถูกค้นพบครั้งแรกที่ผืนป่าแก่งกระจาน เมื่อปี 2533 ถือเป็นนกชนิดใหม่ของไทยและของโลกพบได้เพียงแห่งเดียวที่ผืนป่าแก่งกระจานเท่านั้น ซึ่งคงอาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูนก ด้วยเหตุผลจากอากาศแจ่มใสค่อนข้างสม่ำเสมอ
ด้านความสมดุลของธรรมชาติที่สมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจาน จนกระทั่งกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการบรรจุเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวไว้ว่า กลุ่มป่าแก่งกระจาน ถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548
โดยกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่กว่า 200 กิโลเมตร
ข้อมูลอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สมาคมอนุรักษ์นก Bird Conservation Society of Thailand (BCST)