กรมอุทยานฯ เผยข่าวดี ปีนี้ (64) ไทยพบเสือโคร่งในธรรมชาติ 177 ตัว เพิ่มขึ้นเกือบ 20 ตัว นอกจากนี้มรดกโลกผืนป่าตะวันตกของไทยเชื่อมโยงไปยังพม่า ยังเป็นถิ่นอาศัยเสือโคร่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย
วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันเสือโคร่งโลก” โดยปีนี้ 2564 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดงานวันเสือโคร่งโลก 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “มองสถานการณ์เสือโคร่งปัจจุบันสู่อนาคต หรือ Thailand’s tigers forever : Moving forward to the future” มีการนำเสนอนิทรรศการออนไลน์เกี่ยวกับ สถานการณ์เสือโคร่งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตลอดจนผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 13 ประเทศ ที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง ได้ร่วมประกาศเจตนารมย์ตามปฏิญญาหัวหินในการประชุมด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในทวีปเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เป็น 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2565ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งปี 2553 – 2565 ขึ้น
ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาวิจัยเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อาศัยที่สำคัญ และการสร้างจิตสำนึก ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์
รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายได้มีความพยายามในการดำเนินงานทั้งการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ในทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้ผืนป่าไทยมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 177 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่พบเสือโคร่งประมาณ 160 ตัว
จากสถานการณ์เสือโคร่งประเทศไทยในปัจจุบันแสดงให้เห็นเป็นว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความสำเร็จในปัจจุบันหากมองถึงการบรรลุสู่เป้าหมายในการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างในอนาคต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนคนไทยทั้งประเทศในการปกป้องรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งและทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของ เสือโคร่งในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังให้ข้อมูลว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของเสือโคร่งในบ้านเรานั้นก็คือ ผืนป่ามรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ซึ่งนับเป็นแหล่งที่มีประชากรเสือโคร่งที่อาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุด ด้วยสภาพพื้นที่กว้างใหญ่ ชุกชุมด้วยสัตว์กีบที่เป็นอาหาร และได้รับการคุ้มครองอย่างดี
ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง จึงเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เมื่อรวมผืนป่าตลอดแนวด้านตะวันตกของประเทศไทยเข้ากับป่าตามแนวชายแดนในประเทศพม่า จะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งอาศัยที่มีเสือโคร่งอยู่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศอินเดีย
“เสือโคร่ง” เป็นสัตว์กินเนื้อผู้ล่าสูงสุดแห่งห่วงโซ่อาหาร ทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืชไม่ให้มีมากเกินไป
เสือโคร่งมีอุปนิสัยและพฤติกรรมชอบอยู่ลำพังตัวเดียวโดด ๆ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จึงจะจับคู่กัน ในอดีตเคยมีเสือโคร่งอยู่ 8 สายพันธุ์ย่อย แต่สูญพันธ์ไปแล้ว 3 สายพันธุ์ย่อย ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ด้วยภัยคุกคามจากการล่าและการทำลายที่อยู่อาศัย
เมืองไทยในอดีตเคยพบเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามป่าทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันมีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่อนุรักษ์ไม่กี่แห่งเท่านั้น
#######################
ผู้สนใจนิทรรศการ “มองสถานการณ์เสือโคร่งปัจจุบันสู่อนาคต” สามารถเข้าชมทางออนไลน์ได้ที่ www.globaltigerday2021.com ตั้งแต่วันนี้ - 27 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้สามารถเข้าชมการจัดงานผ่านเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ที่ร่วมลงทะเบียนทางผู้จัดจะมีการสุ่มรายชื่อเพื่อแจกของรางวัลต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช