xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง “ลัมปีสกิน” เข้มงวดของ “มหิงสา” ควายป่าฝูงสุดท้ายที่ห้วยขาแข้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เผยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งขณะนี้ได้เฝ้าระวังการระบาดของโรค “ลัมปีสกิน” อย่างเข้มงวดของ “มหิงสา” ควายป่าฝูงสุดท้าย

วันนี้ (20 ก.ค.) เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ควายป่า หรือมหิงสา ฝูงสุดท้ายที่ห้วยขาแข้ง กับการเฝ้าระวังโรคระบาด “ลัมปีสกิน” อย่างเข้มข้นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

โดยระบุข้อความว่า “ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นอกจากจะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างหลากหลายแล้ว หนึ่งในนั้นก็มีสัตว์ป่าสำคัญอาศัยอยู่ด้วย นั่นก็คือ "ควายป่า" ซึ่งจากรายงานพบที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังโรคลัมปีสกินเป็นพิเศษ นอกจากนี้ พื้นที่ยังคาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งควรมีการเฝ้าระวังโรค สร้างแนวกันชน และประสานหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ให้มีการฉีดวัคซีน กำจัดแมลงพาหะ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกินอย่างเข้มงวด

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์และการเฝ้าระวังว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้เฝ้าระวังมาตั้งแต่ทราบว่าเริ่มมีการระบาดของโรคนี้ โดยให้เจ้าหน้าที่ออกประสานงานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือราษฎรในพื้นที่ไม่นำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใกล้แนวเขตอย่างเด็ดขาด และได้จัดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนเฝ้าระวังจำนวน 20 นาย เฝ้าระวังเป็นจุดๆ เพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่ และผลักดันไม่ให้สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษมาอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อสร้างห้างนั่งดูสัตว์ชั่วคราวบริเวณแนวเขตของพื้นที่รับผิดชอบ หอสูง 9 เมตร ขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 1.20 เมตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้นั่งเฝ้าสัตว์ ไม่ให้สัตว์ป่าออกนอกป่าอนุรักษ์ และไม่ให้สัตว์เลี้ยงของราษฎรเข้าไปในป่า โดยที่ผ่านมามีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนนำสัตว์มาเลี้ยง 1 ราย

สำหรับจุดที่พบสัตว์เลี้ยงในจังหวัดอุทัยธานี ที่ตายอยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประมาณ 15-20 กิโลเมตร ซึ่งโรคนี้สาเหตุหลักติดต่อทางแมลงดูดเลือด ดังนั้น ในทางปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยเฉพาะกับสัตว์ป่า เป็นเรื่องที่ยาก แต่จากนี้ไปจะให้เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำส้มควันไม้ที่ได้รับมาจากวัดท่าซุงรอบๆ บริเวณ และปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้แนวทางปฏิบัติไว้อย่างเคร่งครัดต่อไป

สำหรับควายป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เผยแพร่ใน BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้ง ในตอน 'ควายป่า' ผู้ดุดันแห่งพงไพร ไว้ว่า ควายป่า หรือมหิงสา (wild buffalo) ชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก เห็นจะคุ้นแต่ชื่อ "ควายบ้าน" เสียมากกว่า อันที่จริง ควายบ้าน ก็สืบเชื้อสายมาจากควายป่า เนื่องจากคนรู้จักนำควายป่ามาเลี้ยงเพื่อประโยชน์ใช้งานมานานนมแล้ว

ลักษณะโดยทั่วไปนั้นคล้ายคลึงกันอย่างมาก นั่นก็เพราะสืบมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียด ก็พบว่าทั้งคู่ช่างต่างกันเหลือเกิน ทั้งลักษณะ พฤติกรรม และนิสัย ลำตัวของควายป่า บึกบึน แข็งแรง ใหญ่โตกว่าควายบ้านอยู่หลายขุม น้ำหนักควายป่าจะอยู่ที่ 800-1,200 กก. ขณะควายบ้านมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 500 กก. ควายป่ามีเขาโค้งเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์ ยาวได้ถึง 150-180 ซม. ซึ่งควายจะมีเขาที่สั้นกว่า

สีผิวของควายป่ามีสีเทาหรือน้ำตาลดำ ช่วงอกมีขนสีขาวรูปตัว V ใส่ถุงเท้าขาวหม่นๆ ทั้ง 4 ข้าง ส่วนควายบ้าน มีผิวสีเทาจนถึงดำ ควายป่ามีนิสัยดุร้ายกว่าควายบ้าน ไม่กลัวคน แม้จะตัวใหญ่แต่กลับปราดเปรียว ว่องไว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตัวผู้ชอบฉายเดี่ยวแต่ก็กลับมารวมฝูงในช่วงผสมพันธุ์

ควายป่าในผืนป่าไทย มีรายงานพบเพียงแห่งเดียว คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แถบๆ ริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของผืนป่า เหลืออยู่ราวๆ 50 ตัว จำนวนประชากรขยุ้มมือนี้จึงเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างยิ่ง

ควายป่าชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นปลักโคลน ดินเลน ชายน้ำ กีบเท้าของพวกเขาจึงมีลักษณะกลมและแป้น ช่วยในการย่ำปลักได้ดี ในขณะที่ควายบ้าน และกระทิงกีบเท้าจะเรียวแหลมกว่า

อาหารส่วนใหญ่เป็นยอดไม้ ใบไม้อ่อนๆ หญ้า ไปจนถึงหน่อไม้ ชอบนอนจมปลัก เรียกได้ว่ามุดหายไปในปลักทั้งตัว โผล่ไว้แต่จมูกเพื่อหายใจ หวังเพื่อคลายร้อนในตัว และกันแมลงรบกวนไปด้วย

ด้วยแหล่งอาศัยของควายป่าที่นิยมชมชอบวิวริมน้ำ จึงทำให้มีพื้นที่อาศัยทับซ้อนกับพื้นที่ของคน การขยายออกของสังคม การปลูกสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และการแสวงหาแหล่งเกษตรกรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของควายป่า

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของควายป่าไปผสมพันธุ์กับควายบ้าน บางครั้งอาจติดโรคมาจากควายบ้าน ทำให้เกิดโรคระบาด ล้มตายไปตามๆ กัน หมดป่าริมน้ำ อาจหมายถึง ควายป่าสูญพันธุ์ สถานภาพปัจจุบันของควายป่า เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)”







กำลังโหลดความคิดเห็น