xs
xsm
sm
md
lg

ม้าเทวดา อวดโฉมอีกครั้ง! สะท้อนธรรมชาติสมบูรณ์-มนุษย์ไม่รบกวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพหาชมยาก เจ้าหน้าที่ อช.ดอยอินทนนท์ บันทึกได้เมื่อ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้บันทึกภาพกวางผา หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “ม้าเทวดา” เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 41 ภายในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

การพบกวางผาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่พบในช่วงเวลาห่างจากครั้งแรกไม่ถึง 2 เดือน (ครั้งแรกในปีนี้ พบเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564 บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน)

เป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ รวมถึงการประกาศปิดอุทยานแห่งชาติ (อช.ดอยอินทนนท์อยู่ระหว่างปิดทำการท่องเที่ยวและพักแรมประจำปี โดยปิดมาตั้งแต่ 1 พ.ค. - 31 ก.ค. 64) ทำให้มนุษย์ได้เห็นการฟื้นตัวของธรรมชาติที่ปราศจากการถูกรบกวนได้อย่างดี เมื่อสัตว์ป่ารู้สึกปลอดภัยจึงกล้าที่จะออกมาจากที่หลบซ่อน และทางเจ้าหน้าที่สามารถบันทึกภาพได้

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้ข้อมูลว่า กวางผาจะอาศัยอยู่เดี่ยว ๆ ตามลำพัง หรือบางช่วงจะอาศัยอยู่กันเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ (2-6 ตัว) หากินในช่วงเช้า และเย็น ในที่โล่งตามทุ่งหญ้า ที่ลาดชันน้อย ส่วนช่วงกลางวันมักจะนอนพักผ่อนบนลานหินตามหน้าผา ชะง่อนหิน

อาหาร ของกวางผาเป็นพวกสัตว์กินยอดไม้ และกินหญ้าเป็น ส่วนอาหารหลักนั้นส่วนใหญ่จะเป็นหญ้า รองลงมาเป็นไม้ล้มลุก ผลไม้ ยอดไม้และใบไม้พุ่มเตี้ย ๆ อาหารโปรดของกวางผา คือยอดอ่อนของหญ้าระบัด

กวางผาที่เราเห็นก็ใช่ว่าจะไม่มีปัจจัยคุกคามทำให้ลดจำนวนลง ปัจจัยแรกมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า การบุกรุกถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยทำให้กวางผาสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และกรณีพื้นที่มีแนวเขตติดกับชุมชนการปล่อยสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัวควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับกวางผา จะสามารถนำมาซึ่งโรคระบาดที่สามารถติดกวางผาได้ ปัจจัยคุกคามอื่นๆ ก็คือ การล่ากวางผา และภาวะเลือดชิด (inbreeding)

กวางผา หรือม้าเทวดา เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทย โดยอนุสัญญา CITES จัดไว้ในบัญชีใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์จำพวกแพะ แกะ เช่นเดียวกับเลียงผาแต่มีขนาดเล็กกว่า และจะอยู่บนยอดเขาสูงชันในที่ระดับน้ำสูงชันมากกว่า 1,000 เมตร ในไทยเคยพบที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ดอยเลี่ยม ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้กวางผาที่พบในประเทศไทย มีชื่อสามัญว่า Buemese Goral และชื่อวิทยาศาสตร์ Nemorhaedus evansi มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน หากมองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเลียงผา เพราะลักษณะโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกัน และมีถิ่นที่อยู่อาศัยทับซ้อนกัน แต่กวางผานั้นมีขนาดเล็กกว่า

ข้อมูลอ้างอิง 
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์-Doi Inthanon National Park
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand

ครั้งแรกที่ถ่ายได้ ช่วงเริ่มปิดอุทยานฯ ราวต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน


กำลังโหลดความคิดเห็น