xs
xsm
sm
md
lg

ฝูงเนื้อทราย โชว์ตัวหน้ากล้องดักถ่าย ขสป.พนมดงรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ภารกิจผู้พิทักษ์ขณะทำการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ (Smart patrol) ในพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าพนมดงรัก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ระหว่างวันที่ 10 -11 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบฝูงเนื้อทรายราว 20 ตัวในกล้องดักถ่าย (Camera tap) และขณะทำการลาดตระเวณ เจ้าหน้าที่พบกระแตติดกรงดักสัตว์ของคนลักลอบ

นายบัญชา ประเสริฐศรี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก รายงานผลการปฎิบัติงานระหว่างวันที่ 10 -11 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการและเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า (กิจกรรมดูนก) ทำการสำรวจนกและสัตว์ป่าบริเวณเส้นทางจุดชมวิวช่องพระพะลัย-น้ำตกสามหลั่น-ผาชมภูเขียว-ทุ่งกบาลกะไบ พบนก จำนวน 10 ชนิด และทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า บริเวณทุ่งกบาลกะไบ พบเนื้อทราย ออกหากินในทุ่งหญ้า ประมาณ 20 ตัว

ด้านเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ที่ 3 (เพิงพระพุทธ-กบาลกะไบ) ออกลาดตระเวนฯ ในพื้นที่ป่าเป้าหมายป่าพนมอำปีน ป่าพนมกันตุง พบกระแตติดกรงดักสัตว์จำนวน 1 ตัว ได้ทำการช่วยเหลือปล่อยคืนสู่ป่าและทำลายกรงทิ้ง และพบกับดักสัตว์ขนาดเล็ก (กับดักไม้) ประเภท หนู กระรอก กระแต ได้รื้อทำลายทิ้งแล้ว

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ที่ 4 (ซำปีกา-ภูพะยอม) ออกลาดตระเวนในพื้นที่ป่าเป้าหมาย ด้านทิศตะวันออกพนมพรู พบร่องรอยการเข้ามาในพื้นที่จึงทำการดักซุ่มในพื้นที่ ต่อมาไม่พบตัวผู้ลักลอบ จึงได้ลาดตระเวนต่อที่พลาญอ้ายนาค พลาญนมสาว และสิ้นสุดการลาดตระเวน


เนื้อทราย สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1

เนื้อทราย หรือ ทราย (Hog deer) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกกวางชนิดหนึ่ง มีรูปร่างอ้วนป้อม ขาสั้น สีขนมักเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศโดยปกติมีสีน้ำตาลเข้มในฤดูหนาว สีเทาในฤดูร้อน ลูกเนื้อทรายเมื่อแรกเกิดจะมีจุดสีขาวตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจึงจางหายไป บริเวณช่วงท้องมีสีอ่อนกว่าลำตัว ขนสั้นมีปลายขนสีขาว มีแถบสีเข้มพาดตามหน้าผาก มีเขาเฉพาะเพศผู้ ลักษณะเขาคล้ายกวางป่า มีความยาวลำตัวและหัว 140-150 เซนติเมตร ความยาวหาง 17.5-21 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 65-72 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70-110 กิโลกรัม

ในอดีตเนื้อทราย เคยเป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2509 ต่อมาถูกถอดชื่อออกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เนื่องจากสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในปริมาณที่มากจำนวนหนึ่ง แต่สถานะในธรรมชาติในประเทศไทย เชื่อว่าปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะที่ภูเขียว เป็นสถานที่ที่มีเนื้อทรายอยู่มากที่สุด จากการเพาะขยายพันธุ์และสืบพันธุ์เองตามธรรมชาติจากพ่อแม่พันธุ์ที่เกิดจากการเพาะโดยมนุษย์และถูกปล่อยกลับคืนป่า

ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เจ้าหน้าที่ในขณะทำการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ

กระแต ติดกรงดักสัตว์ของคนลักลอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น