ทั่วโลกมีโครงการเพาะพันธุ์เสือโคร่งเพื่อการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม และพวกมันอาจถูกนำมาสร้างประชากรเสือในป่าใหม่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีเสือโคร่งมากกว่า 8,000 ตัวในสถานเพาะพันธุ์เสือโคร่งทั่วประเทศจีน ลาว ไทย และเวียดนาม และอีกกว่า 5,000 ตัวอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งแต่อย่างใด
ส่วนเสือโคร่งในป่าประมาณ 3,900 ตัว ที่เหลืออยู่ในโลก ถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการ โดยเฉพาะ "เสือโคร่งขาว" มักถูกใช้เป็นข้ออ้างในงานอนุรักษ์เพื่อหาผลประโยชน์มหาศาล
Leigh Henry ผู้อำนวยการนโยบายสัตว์ป่าของ WWF-US หรือ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สหรัฐอเมริกาได้แบ่งปันเหตุผลสามประการว่าทำไมการส่งเสริมเสือขาวที่ “ใกล้สูญพันธุ์” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นเพียงอุบายในการสร้างผลกำไรจากเสือโคร่งในขณะที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง
.
1. เสือโคร่งขาว ไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ มักถูกสร้างภาพให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสายพันธุ์หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้เป็นข้ออ้างในการเพาะพันธุ์เพิ่ม แต่จริง ๆ แล้ว เสือโคร่งขาวไม่ใช่เสือโคร่งเผือก หรือเป็นสายพันธุ์เฉพาะทางแต่อย่างใด ลายพรางสีขาวพวกมันเกิดจาก ‘ความผิดปกติของเม็ดสี’ หรือ ‘ยีนส์ด้อย’ ที่ทำให้ผิวหนังเกิดภาวะด่าง (Leucism) ลายพรางสีขาวยังเป็นอุปสรรคต่อตัวเสือโคร่งเองเมื่อต้องใช้ชีวิตในป่าใหญ่ เพราะทำให้พวกมันพรางตัวยากขึ้น และอาจตกเป็นเป้าของนายพรานได้ง่าย
2. เสือโคร่งขาว สุขภาพย่ำแย่ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ การเพิ่มขึ้นของประชากรเสือโคร่งขาวสามารถทำได้ด้วยการผสมพันธุ์เสือโคร่งขาวด้วยกันเอง ซึ่งในสถานเพาะพันธุ์ การผสมพันธุ์ของสัตว์ที่เกิดขึ้นเป็นการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด (Inbreeding) หรือการนำเสือโคร่งที่เป็นสายเลือดเดียวกันมาผสมพันธุ์กันเอง การผสมพันธุ์แบบเลือดชิดไม่เพียงเกิดขึ้นกับเสือโคร่งขาวเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับเสือโคร่งทั่วไป และสัตว์ประเภทอื่นด้วยเช่นกัน การผสมพันธุ์แบบนี้ ทำให้ลูกเสือที่กำลังลืมตาออกมาดูโลกมีภูมิคุ้มกันต่ำลง และมีอัตราการตายเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความเสื่อมโทรมทางสายเลือด (Inbreeding depression)
3. เสือโคร่งขาว ถูกจับผสมพันธุ์เพื่อการค้า ปัจจุบัน พบการเพาะพันธุ์เสือในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น และมากกว่าเพื่อการอนุรักษ์ อีกทั้ง การค้าชิ้นส่วนของเสือโคร่งเลี้ยงก็ยังคงดำเนินคู่ขนานไปกับการล่าและค้าชิ้นส่วนเสือโคร่งจากป่า ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ลูกเสือตัวเล็ก ๆ มักตกเป็นเป้าความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยว เนื่องจากหน้าตาน่ารักน่าชัง ทำให้ผู้ประกอบการทำเงินได้มากมายจากกิจกรรมถ่ายรูปกับเสือ บวกกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่น้อยกว่าเสือตัวโต ยิ่งกระตุ้นให้สถานเพาะเลี้ยงเร่งผสมพันธุ์เสือเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่เมื่อลูกเสือโคร่ง กลายเป็นเสือโคร่งโตเต็มวัย ผู้ประกอบการหลายแห่งเลือกใช้วิธีฆ่าและจำหน่ายชิ้นส่วนเสือโคร่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการแบกรับค่าใช้จ่ายจากการจัดหาอาหารปริมาณมากขึ้น ค่าเลี้ยงดูแลที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยที่ต้องมีเพิ่มมากขึ้นสำหรับเสือโคร่งตัวโต
ข้อสังเกตดังกล่าว สถานเพาะพันธุ์เสือโคร่งหลายแห่งในปัจจุบันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าไปในที่สุด และหนึ่งในพันธกิจหลักของ WWF คือการต่อต้านการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และพื้นที่เปราะบางอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา อเมริกาใต้ จีน และยุโรป
ตราบใดที่สถานเพาะพันธุ์เสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าชนิดอื่น ยังคงมีการขายชิ้นส่วนสัตว์ต่อให้กับตลาดมืด ไม่ว่าจะเพื่อการค้า การบริโภค เครื่องประดับตกแต่ง หรือยารักษาโรค ย่อมเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการฟื้นฟูความสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพบนโลก
ข้อมูลอ้างอิง https://tigers.panda.org/news_and_stories/stories/the_truth_about_white_tigers/