อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยภาพ "นกหว้า" (Great Argus) : Argusianus argus จากกล้องดักถ่ายที่บันทึกได้ขณะที่นกหว้าตัวผู้กำลังรำแพนขน พร้อมส่งเสียงร้องตัวเมียว่า "หว่าว ว้าว" วิถีธรรมชาติของนกหว้าที่ใช้เกี้ยวสาวมาขยายพันธุ์
นกหว้าเป็นนกที่มีขนาดใหญ่จัดอยู่ในสัตว์ปีกจำพวกไก่ฟ้าของไทย หัวและคอไม่มีขน เป็นหนังสีฟ้าเข้ม แข้งและตีนสีแดง ขนลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแดง ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเด่นชัด ตัวผู้ขนกลางปีกยาวมากมีลายเป็นวงใหญ่สีเนื้อ ขนหางคู่กลางยาวมากกว่า 130 ซม.
เมื่อนกหว้าเสียงร้อง "หว่าว-ว้าว" ที่ดังลั่นป่า มักเป็นช่วงที่ตัวผู้ร้องเรียกตัวเมีย เมื่อพบตัวเมีย ตัวผู้ก็จะเกี้ยวพาราสีด้วยการรำแพนขนปีกเพื่อดึงดูดใจตัวเมียบนลานที่ถูกสร้างเอาไว้อวดตัวเมีย และผสมพันธุ์ เรียกว่า "ลานนกหว้า" ซึ่งมักทำจากการหาพื้นที่ราบเล็กๆ ตามสันเขาในป่าดิบชื้น อาจอยู่บนสันเขาที่มีความสูงถึง 950 เมตร
หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะแยกตัวออกไปทำรังออกไข่ ตัวเมียจะสร้างรังหยาบๆ ด้วยกิ่งไม้เล็กบนพื้นดินใต้พุ่มไม้ทึบ ปูพื้นรังด้วยใบไม้ วางไข่เพียง 2 ฟองเท่านั้นโดยห่างกัน 2 วัน ไข่มีสีครีมหรือขาว ระยะฟักไข่ 26 วัน ลูกนกแรกเกิดสามารถลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมทั่วตัวและสามารถเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันที
สำหรับอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง และอำเภอวิภาวดี เป็นอุทยานที่มีสภาพป่าเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีสถานที่น่ารื่นรมย์สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เช่น น้ำตก ลำน้ำ บ่อน้ำร้อน ภูเขา ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม รวมถึงมีนกหายาก อย่างนกหว้า :พญาระกาแห่งปักษ์ใต้ ซึ่งปัจจุบัน นกหว้าคงมีสถานะที่อยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT)
ข้อมูลอ้างอิง : อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง- Kaeng Krung National Park
เครดิตคลิป ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
คลิปจากกล้องดักถ่าย ตอนตัวผู้รำแพนหางและส่งเสียงร้องตัวเมีย หรือตอนที่ตัวผู้รำแพนเกี้ยวสาว จัดเป็นอีกภาพที่หาชมได้ยากภาพหนึ่ง เพราะตามปกติจัดว่าเป็นนกขี้อาย ชอบอยู่โดดเดี่ยวนอกจากในฤดูผสมพันธุ์
เครดิตคลิป suwit manasthaisong