นครพนม - ของมันแซ่บ! เกษตรกรใน อ.เรณูนคร จ.นครพนม เพาะเลี้ยง “อีฮวก” หรือลูกอ๊อดแช่แข็งส่งขายทั้งในประเทศและส่งออกนอกหลายประเทศ ทำเงินได้ตลอดปี สร้างรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
ในห้วงโรคห่าไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในระลอก 3 พี่น้องทั่วไทยที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ หาเลี้ยงชีพจากเงินรายได้เป็นลูกจ้างบริษัท ห้างร้านต่างได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกัน จำนวนไม่น้อยตกงานขาดรายได้ จำนวนมากถูกลดเงินเดือน แต่สำหรับชาวบ้านหนองแต้ หมู่ 7 ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม ร่วม 200 ครัวเรือนกลับไม่เดือดร้อนจากวิกฤตโรคระบาดแต่อย่างใด
เพราะชาวบ้านในท้องถิ่นที่นี่ทำมาหากินจากอาชีพเกษตรกรรม และทำนากบเพาะเลี้ยง “ลูกอ๊อด” ขายนานร่วมทศวรรษ โดยนากบเพาะลูกอ๊อดจะทำในช่วงฤดูแล้ง ก่อนถึงนาปี
ลูกอ๊อด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อีฮวก” นั้นชาวเหนือและชาวอีสานนิยมนำไปปรุงเมนูเด็ด เช่น แกงอ่อม ต้ม ห่อหมก และอีกหลากหลายเมนู สร้างรายได้เข้าสู่หมู่บ้านปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาโรคระบาดโควิด มีปัญหาด้านการตลาด ขายไม่ทัน ทำให้ขาดทุน เพราะมีห้วงเวลาขายราว 2-3 เดือน กระทั่งมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปลูกอ๊อดและกบแช่แข็งส่งขายแทนการขายแบบสดอย่างเดียว
การแปรรูปแช่แข็งถือเป็นการต่อยอดจากการจับกบ ลูกอ๊อดขายสด เพราะช่วยให้ขายได้ตลอดปี ทั้งได้เพิ่มช่องทางการตลาด ด้วยการเปิดเพจเฟซบุ๊กขายทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ทำให้ปัญหาด้านการตลาดหมดไป นอกจากส่งขายในประเทศแล้วยังส่งออกขายในหลายประเทศตามแต่ออเดอร์
นายสนธยา ฝาละมี อายุ 45 ปี เลขานุการวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลูกอ๊อดบ้านหนองแต้และกบแช่แข็ง ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม เล่าว่า เดิมเกษตรกรชาวบ้านหนองแต้ หมู่ 7 ต.นาขาม มีอาชีพทำนากบ ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวทำนาปีมานานกว่า 10 ปี มีชาวบ้านเกือบ 200 ครัวเรือนที่ยึดอาชีพทำนากบขาย จากปกติจะเลี้ยงช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมิถุนายนห้วงเข้าหน้าฝน ก่อนที่จะลงนาปีอีกรอบ
โดยจะใช้พื้นที่นาเป็นบ่อเลี้ยงกบ ซึ่งจะเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไว้อายุประมาณ 1 ปี ถึงช่วงฤดูเลี้ยงจะนำมาปล่อยลงบ่อที่เป็นพื้นที่นา จำนวนตามความเหมาะสม ใช้เวลา 1 คืนให้กบอายุ 1 ปีที่พร้อมผสมพันธุ์วางไข่ และจับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกจากบ่อ จากนั้นจะดูแลเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดให้โตก่อนนำไปขาย
ส่วนอาหารจะเป็นหัวอาหารเลี้ยงปลาดุก ใช้เวลาประมาณ 20-25 วัน ตัวลูกอ๊อดจะโตเต็มที่พอขายได้ ปกติมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อจากทั่วอีสาน กิโลกรัมละประมาณ 80-100 บาท บรรจุใส่ถุงละประมาณ 1 กิโลกรัม อัดออกซิเจนเพื่อส่งขายไปยังตลาดได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะนำไปขายแบบสดๆ แต่ปีที่ผ่านมาเดือดร้อนหนักจากวิกฤตโควิดระบาด พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อลดลง ทำให้ลูกอ๊อดขายไม่หมด หลายรายขาดทุน
นายสนธยาเล่าต่อว่า จากปัญหาการตลาดที่พึ่งพ่อค้าแม่ค้าคนกลางอย่างเดียวทำให้มีความเสี่ยงสูงจึงได้หารือหาทางออก โดยรวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลูกอ๊อดและกบเพื่อแปรรูปทำการตลาดรูปแบบใหม่ คือ การนำลูกอ๊อดขายทั้งตัวสด และนำมาแปรรูป ด้วยการควักเครื่องในออก ก่อนจะนำไปบรรจุถุงสุญญากาศแช่แข็ง ลูกอ๊อดแช่แข็งจะขายในกิโลกรัมละ 220 บาท
นอกจากนี้ยังมีกบตัวใหญ่อายุประมาณ 2 -3 เดือน ชำแหละแช่แข็ง ขายกิโลกรัมละประมาณ 150 บาท กลุ่มฯ จะรับซื้อกบและลูกอ๊อดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 80 บาท นอกจากนี้ได้เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ส่งขายทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศ กลายเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมากขึ้น และสามารถขายได้ตลอดปี จากเดิมที่มีเวลาขายได้แค่ช่วง 2-3 เดือน
“หากลูกกบโตเกินขนาดจะขายยากและแบกต้นทุน จึงใช้วิธีการแช่แข็งส่งขาย สามารถเก็บไว้ได้นาน 9-10 เดือน ทำให้เราขายได้ตลอดปีจนถึงรอบปีฤดูกาลผลิตพอดี ล่าสุดมีออเดอร์จากเมืองนอก คือประเทศออสเตรเลีย เมื่อส่งถึงเมืองนอก ลูกอ๊อดแช่แข็งจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 2,000 บาท เพราะต้องบวกค่าขนส่ง ซึ่งมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่”
การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลูกอ๊อดและกบช่วยทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีงานทำเพิ่มขึ้น นั่นคือการรับจ้างชำแหละไส้ลูกอ๊อดออก ทำความสะอาดก่อนจะบรรจุถุงแช่แข็ง สร้างรายได้เสริมให้แต่ละครัวเรือนวันละ 400-500 บาท ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่นให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
ที่สำคัญ ในช่วงนี้เกษตรกรที่ทำนากบมีรายได้มากขึ้น บางรายเลี้ยงจำนานมาก สร้างรายได้ปีละประมาณ 5 แสนบาทในช่วงเวลาประมาณ 3-4 เดือน และพอหมดฤดูทำนากบสามารถทำการเกษตรทำนาปีตามฤดูกาลตามปกติ คาดว่าปีนี้จะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนสะพัดในหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท