xs
xsm
sm
md
lg

ตอกย้ำผืนป่าห้วยขาแข้ง สมบูรณ์มาก! ฝูงวัวแดงกว่า 60 ตัว ลงหากินที่โป่งช้างเผือกต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





เมื่อวานก่อน (11 พ.ค.2564) ภาพที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า ฝูงวัวแดง กว่า 60 ตัว ลงแทะเล็มหญ้าบริเวณโป่งช้างเผือก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จนทำให้นึกว่าเป็นซาฟารีในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันซ้ำอีกครั้งว่าวัวแดงทุกตัวล้วนมีร่างกายที่สมบูรณ์ จึงบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

ก่อนหน้านี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เคยได้นำเสนอข่าว เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ว่า เจ้าหน้าที่เขตฯ สามารถบันทึกภาพฝูงวัวแดงกว่า 40 ตัว ออกมาหากินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกใบอ่อนระบัดขึ้นมาใหม่ หลังจากที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เข้าจัดการพื้นที่อย่างมีแบบแผน ณ บริเวณหอดูสัตว์หอนกยูง (โป่งช้างเผือก) ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 พฤษภาคม 2564) นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้ประสานและเชิญนักถ่ายภาพพัฒนาเมืองนครสวรรค์ (นายอาทิตย์ นิมา) ร่วมกันลงพื้นที่โป่งช้างเผือก เพื่อบันทึกภาพแบบมืออาชีพ ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อบันทึกเรื่องราวแบบมืออาชีพไว้ศึกษา เรียนรู้ และถ่ายทอดให้ได้ทราบทั่วถึงกัน

คณะฯ ได้เดินทางถึงโป่งช้างเผือก เมื่อเวลา 15.30 น. โดยนายพงษ์สิทธิ์ ศรีคำเมือง ผู้ช่วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รอร่วมเดินทางไปด้วยกัน เมื่อเดินทางถึงโป่งช้างเผือก ทุกคนได้ตะลึง เพราะภาพข้างหน้าในระยะใกล้ๆ มีฝูงวัวแดงฝูงใหญ่กำลังแทะเล็มหญ้า

จากการสังเกตพบฝูงวัวแดง ฝูงแรกราว 45 ตัว เดินแทะเล็มหญ้าเลียบคลองทับเสลา จากด้านทิศใต้ เดินขึ้นมาทางทิศเหนือ เดินไปหยอกล้อกันไป บางตัวกำลังดูดกินนมแม่ บางตัวจ้องมาที่หอโป่งช้างเผือก เพราะรู้ว่ามีคนอยู่บนหอ แต่เมื่อเห็นว่า คนอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเขา เขาก็เดินกินหญ้าต่อ บางตัวที่หนุ่มวัยรุ่นหน่อย ก็เอาหัวชนกันแบบเล่นๆ บางตัวก็ลงห้วยหาน้ำกิน บางตัวก็ลงโป่งกินน้ำและดินในโป่ง ดูการใช้ชีวิตของวัวแดงฝูงนี้มีความสุขมาก ทั้งนี้สังเกตได้ว่า วัวแดงแต่ละตัวมีร่างกายที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ มองไม่เห็นโครงกระดูก บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ วัวแดงที่พบมีทั้งวัวแดงแก่ วัวแดงโตเต็มวัย วัยรุ่น และวัยเด็ก แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสืบต่อพันธุ์ที่ดีมาก
ส่วนวัวแดงอีกฝูงหนึ่ง ประมาณ 15 ตัว หากินอยู่ทางด้านทิศเหนือของโป่งช้างเผือก กระจายตัวหากินอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน

นอกจากนี้ ยังพบว่ามี หมูป่า เก้ง กวางป่า นกยูง และสัตว์ป่าอื่น อีกหลายชนิด ลงมาใช้พื้นที่โป่งช้างเผือกแห่งนี้ ในขณะที่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นั้น ลำพังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้ ผลความสำเร็จที่สำคัญยิ่งนี้ ก็เพราะได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวจังหวัดอุทัยธานี ทุกคน ที่ช่วยกันปกป้อง คุ้มครอง และไม่ทำร้ายสัตว์ป่า ทั้งที่ผ่านมา แม้มีหลายครั้งที่วัวแดงเข้าไปกัดกินพืชผลทางการเกษตร พี่น้องประชาชนก็มิได้มีการทำร้ายวัวแดงแต่อย่างใด ในการนี้ นายนพดล พลเสน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอฝากขอบพระคุณพี่น้องประชาชนชาวอุทัยธานีทุกคน ที่ได้ทำหน้าที่ช่วยกันอนุรักษ์ คุ้มครองสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี แทนคนไทยทุกคน

"มองบรรยากาศตามภาพ ดูแล้วยิ่งใหญ่ รู้สึกตื่นตาตื่นใจ เห็นคล้ายๆ กับที่ซาฟารีในแอฟริกาใต้ ที่ผมเคยได้ไปเยี่ยมชมมาครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2558" นายธนิตย์กล่าว 

"สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอนำภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ และคุณอาทิตย์ นิมา ได้บันทึกไว้มานำเสนอให้ทุกคนชื่นชมและเกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน"


วัวแดง สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ กลับมาสมบูรณ์ ที่ ขสป.ห้วยขาแข้ง

วัวแดง (Bos javanicus) จัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered : EN) ตามรายงานการประเมินสถานภาพของ IUCN วัวแดง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากองค์การ UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของชนิดพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ป่า รวมทั้งสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

โดยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในปัจจุบันมีพื้นที่ 1.7 ล้านไร่ ที่นี่เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของสัตว์ป่าสูงมาก ชนิดที่สำคัญ เช่น วัวแดง ควายป่า เสือโคร่ง เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ฯ สบอ.12นครสวรรค์
โดยนายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)
ภาพถ่าย : Artid Nima


กำลังโหลดความคิดเห็น