xs
xsm
sm
md
lg

‘นกชนหิน’ ว่าที่สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 พบในป่าดิบ อช.เขาหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นกชนหิน” 1 ใน 13 นกเงือกของไทย เป็นนกประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ตามป่าดิบฝนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ซึ่งในการสำรวจเมื่อปี 2562 พบมีการกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3 แห่งของประเทศเท่านั้น ได้แก่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 

ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่านกชนหิน เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง

หลังคาสีเขียวแห่งภาคใต้
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ได้สมยานามว่า “หลังคาสีเขียวแห่งภาคใต้” นับเป็นอุทยานแห่งชาติสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของโลก มีรายงานสำรวจพบเฟิร์นบนเขาหลวงมากกว่า 200 ชนิด เช่น เฟิร์นบัวแฉก (พันธุ์ไม้โบราณ) เฟิร์นมหาสดำ (เฟิร์นต้นขนาดใหญ่ที่พัฒนามาก่อนยุคไดโนเสาร์) เป็น "สุดยอดแหล่งรวมกล้วยไม้เมืองใต้ นอกจากนี้ป่าผืนนี้ยังเป็นอาณาจักรของสัตว์เฉพาะถิ่นอีกมากมาย

หนึ่งในนั้นก็คือ “นกชนหิน” ซึ่งถือว่าเป็นนกเงือกชนิดหนึ่งที่มีสายพันธุ์กรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปี มีลักษณะเด่นกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ อยู่ตรงที่สันบนจะงอยปากใหญ่หนาเนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง และมีขนหางพิเศษคู่หนึ่ง ซึ่งจะงอกยาวเลยขนหางเส้นอื่นๆ ออกไปมากถึง 50 เซนติเมตร แลเห็นเด่นชัด


ปกตินกชนหินหากินในระดับยอดไม้ กินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกไทร บางครั้งพบว่ากินสัตว์อื่น ๆ เช่น กิ้งก่า กระรอก และนกอีกด้วย มักจะอยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่เป็นคู่ ฤดูผสมพันธุ์เริ่มราวปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นช่วงที่มีการขยายพันธุ์ โดยเลือกทำรังอยู่บนต้นไม้สูง และใช้วัสดุปิดปากรังเช่นเดียวกับนกเงือกชนิดอื่นๆ เพียงแต่ว่ารังของนกชนหินจะค่อนข้างพิถีพิถันกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ

พวกเขาเลือกหารังเฉพาะที่อยู่บนตอไม้ หรือเข้าได้ทางด้านบนเท่านั้น เพราะส่วนหัวที่ตันและหางที่ยาว อีกทั้งนกชนหินออกลูกเพียงตัวเดียวเท่านั้น และใช้เวลาเลี้ยงลูก อยู่ในรังนานกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ คือ 5 เดือน โดยที่แม่นกจะอยู่กับลูกในโพรงตลอดเวลา โดยไม่มีการพังโพรงออกมาก่อน พ่อของนก จึงเป็นผู้ทำหน้าที่หาอาหารส่งเสบียงมาให้ตลอดเวลา



เครดิตคลิป POOLHA MAX

สำหรับเสียงร้องของนกชนหินนั้นไม่เหมือนนกชนิดอื่นๆ (ฟังเสียงในคลิป)โดยเฉพาะนกตัวผู้ส่งเสียงร้องติดๆ กันดังๆ ว่า "ตู๊ก…ตู๊ก" ร้องทอดเป็นจังหวะติดต่อกันยาว โดยเสียงร้องจะกระชั้นขึ้น และพอจะสุดเสียง เสียงร้องจะคล้ายกับเสียงคนหัวเราะประมาณ 4-6 ครั้ง แต่พอตกใจจะแผดเสียงสูงคล้ายเสียงแตร และเมื่อเกิดการต่อสู้กันเพื่อแย่งอาณาเขต นกชนหินจะใช้ส่วนหัวที่หนาชนกัน รวมถึงบางครั้งอาจจะบินชนกันในอากาศจึงได้ชื่อว่า "นกชนหิน"

ปัจจุบัน ประชากรนกชนหินเหลือน้อยลง เพราะการคุกคามของมนุษย์ ทั้งถูกล่าเพื่อเอาสันบนจะงอยปากบนไปแกะสลักทำเป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับ และจากการสูญเสียแหล่งอาศัย จึงมีสถานะอนุรักษ์เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และอนุสัญญาไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึง IUCN Red List ได้จัดให้นกชนหินอยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered – CR)

“การสูญพันธุ์ของนกชนหินคงไม่ใช่แค่ความสูญเสียในระดับพื้นที่ที่ต้องขาดผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ชั้นหนึ่งในป่า แต่นับเป็นโศกนาฎกรรมระดับโลกเลยทีเดียว ถ้าเราไม่อาจปกป้องสายพันธุ์ที่มีความมหัศจรรย์เช่นนี้ไว้ได้”

ในด้านการปกป้องนกชนหิน ที่มีการยกระดับจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 นั้น ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยนกเงือก ให้ความเห็นว่า "มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือกฎหมายในการดูแลนกชนหินจะมีความเข้มข้นขึ้น แต่เมื่อมีกฎหมายแล้วต้องเข้มงวดในการบังคับใช้ด้วย ซึ่งกรณีตัวอย่างจากทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้ประโยชน์จากป่ามาก แต่ไม่มีการทำนุบำรุงทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างที่เป็นเช่นทุกวันนี้"

ส่วนข้อเสีย หากนกชนหินถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน เรื่องการทำวิจัยจะยุ่งยากขึ้น เพราะต้องมีการกำหนดเขตหวงห้าม ซึ่งอาจจะเป็นการปิดกั้นนักวิจัยจากภายนอก ในขณะเดียวกันหากไม่มีการเฝ้าระวังนกชนิดนี้ก็อาจจะหายไปโดยธรรมชาติ เพราะไม่สามารถเจาะโพรงเองได้ และยังต้องเป็นโพรงลักษณะพิเศษอีกด้วย ดังนั้นการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ไม่มีการเฝ้าระวังที่ดี ในที่สุดนกก็จะค่อย ๆ ลดลง หรือหายไปโดยที่อาจไม่มีคนล่า แต่เพราะไม่มีที่ทำรัง

ในทางกลับกันการยกสถานะนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอาจยิ่งเป็นการเพิ่มค่าหัวหรือสร้างแรงจูงใจของนักล่ามากยิ่งขึ้นด้วยเพราะเป็นสัตว์ป่าสงวน ดังนั้นควรเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมศึกษาพัฒนาแนวทางในการอนุรักษ์นกชนหินอย่างเหมาะสม

ข้อมูลอ้างอิง https://www.deqp.go.th/new



เครดิตคลิป ANIMAL WORLD


กำลังโหลดความคิดเห็น