กลับมาเรียกรอยยิ้มให้หายคิดถึงกันอีกครั้งกับ “ขุนไกร” (ชื่อเดิมเจ้าเพชร) ลูกเลียงผาผลัดหลงจากแม่ ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในเรื่องของความน่ารัก แสนซน ขี้เล่น ในโลกออนไลน์ ในครั้งนี้จะขอรวบรวม 10 เรื่องน่ารู้ของขุนไกร มาให้ทุกคนได้ทราบกัน
1.แรกเริ่มได้รู้จักกันในวันที่ผลัดหลงจากแม่
ลูกเลียงผาที่พลัดหลงกับแม่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ฯ ได้ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และพบลูกเลียงผาเพศผู้อายุไม่น่าเกิน 3 วัน ได้วิ่งออกจากพุ่มไม้ด้วยท่าทางตื่นกลัว ตรงเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ทันที ซึ่งคาดว่าแม่เลียงผาน่าจะใช้ตัวเองเป็นเหยื่อล่อฝูงสุนัขจิ้งจอกให้ห่างลูก จนถูกฝูงสุนัขจิ้งจอกวิ่งไล่และหนีหายเข้าไปในป่า
2.รู้จักเลียงผา
"เลียงผา" ว่าเป็นเป็นสัตว์ป่าสงวนเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยเป็นสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ในวงศ์มหิงสา (Bovidae) เช่นเดียวกับ วัว ควาย แพะ แกะ อยู่ในวงศ์ย่อยแพะแกะ (Caprinae) และเป็นสัตว์โบราณที่สุดของวงศ์ย่อยแพะแกะ มีรูปร่างคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขอยาว มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี แต่อาจยาวสุดเพียง 32 เซนติเมตร เมื่ออยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุได้ถึง 21 ปี นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ออกหากินตอนเย็นและตอนเช้ามืด กินพืชต่างๆ เป็นอาหาร ชอบอาศัยตามหน้าผาสูงชัน
ด้วยความเชื่อที่ว่าเลียงผามีน้ำลายที่สมานกระดูกและสมานแผลได้ จึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผามาใช้รักษาแผลและสมานกระดูก โดยนำหัวและกระดูกไปต้มกับน้ำมันมะพร้าว จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการล่ามาจากความเชื่อของมนุษย์แทบทั้งสิ้น
3.สถานที่พบ
ลูกเลียงผาตัวนี้ถูกพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม บริเวณป่าห้วยบึงบอน ซึ่ง “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม” เป็นพื้นที่บริเวณป่าแม่ลำพัน-แม่มอก ในตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม และตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย มีขนาดพื้นที่ 15,875 ไร่ หรือ 25.4 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาหินปูน มีความสูงประมาณ 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีที่ราบตามหุบเขาสภาพป่าเป็นป่าดงดิบ และ ป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยไคร้ ห้วยสะเดา ห้วยแม่ถันน้อย และลำห้วยเหล่านี้มีน้ำไหลตลอดปี จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เก้ง เลียงผา หมี นกชนิดต่างๆ และที่สำคัญคือ มีค้างคาวปากหย่อนหลายล้านตัว
4.สู่อ้อมกอดพี่เลี้ยง
หลังจากที่พบลูกเลียงผาแล้วเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนได้เฝ้าระวังเพื่อรอว่าแม่จะกลับออกมาหรือไม่ จนผ่านไป 1 วัน 1 คืน แม่ไม่มีวี่แววที่จะออกมา เจ้าหน้าที่จึงได้ช่วยเหลือไว้
จากการสังเกตพฤติกรรมของลูกเลียงผาพบว่าเชื่องและยังได้เดินติดตามเจ้าหน้าที่กลับมาจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าวังชมภู ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย สัตวแพทย์เห็นควรให้นำมาอนุบาลต่อที่ ขสป.ถ้ำเจ้ารามก่อน เพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หากปล่อยในตอนนี้อาจถูกสัตว์อื่นทำร้ายได้
5.ชื่อเดิม “เจ้าเพชร”
ในช่วงแรกลูกเลียงผาได้ถูกตั้งชื่อเรียกจากเจ้าหน้าที่ว่า “เจ้าเพชร” และได้แสดงความน่ารัก แสนรู้ เรียกรอยยิ้มให้กับผู้ที่ได้พบเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาโดยตลอด
6.ก้าวมาเป็นซุปตาร์สัตว์ภายใต้ชื่อใหม่ “ขุนไกร”
และในวันที่16 มีนาคม 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยได้ทำการตั้งชื่อใหม่ให้เจ้าเพชรว่า “ขุนไกร” ซึ่งในขณะเดียวกันทางเฟซบุ๊กเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็มีผู้ที่ให้ความสนใจและหลงรักในความน่ารักของขุนไกรมากมาย จนขึ้นแท่นเป็นซุปตาร์สัตว์ตัวใหม่นั่นเอง
7.แม่แพะเลี้ยง Vs พี่เลี้ยง
ถึงแม้ว่าจะอยู่กับพี่เลี้ยงได้อย่างเข้ากันได้ดี แต่ขุนไกรก็ยังคงเป็นลูกเลียงผาเด็ก ยังต้องได้กินนมในปริมาณที่เหมาะสม เบื้องต้นทางทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม ได้มีการไปติดต่อหาแม่แพะภายในฟาร์มเลี้ยงแพะ บริเวณใกล้เคียงแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากการศึกษาพฤติกรรมของแม่แพะ 90% จะไม่ยอมเลี้ยงลูกที่ไม่ใช่ลูกตัวเอง และอาจทำร้ายลูกได้
ซึ่งการนำแม่แพะมาเลี้ยงกับลูกเลียงผานั้น จุดประสงค์ คือการให้ลูกเลียงผา ลดการสัมผัส คลุกคลีกับคน โดยจะให้แม่แพะคอยดูแล เรียนรู้พฤติกรรมธรรมชาติจากแม่แพะ (เนื่องจากแพะและเลียงผาอยู่ในกลุ่มสัตว์ประเภทเดียวกัน) และเมื่อลูกเลี้ยงผา แข็งแรง และสมบูรณ์ จึงจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ถิ่นเดิมของเลียงผา
สำหรับการดูแลและวางแผนการเลี้ยงดูลูกเลียงผา "ขุนไกร" ขณะนี้ ทางทีมสัตวแพทย์ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่14 (ตาก) ได้ดูแลร่วมกับ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม พบว่าลูกเลียงผากินนมแพะที่ป้อนจากพี่เลี้ยงได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขับถ่ายปกติ
8.พัฒนาการการใช้ชีวิตแบบเลียงผา
ถึงแม้ว่าขุนไกรจะอยู่กับทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม แต่ในเรื่องการใช้ชีวิตแบบเลียงผาก็ได้มีพัฒนาการตามช่วงอายุได้เป็นอย่างดี โดยตอนนี้ขุนไกรสามารถ "แอบซุ่ม ทะยาน พร้อมพุ่งชน" ตามนิสัยของเลียงผาที่ชอบปีนป่ายและกระโดดไปตามหน้าผาชันได้อย่างคล่องแคล่ว
และยังชอบฝึกเรียนรู้พฤติกรรมสัตว์ป่า ในการพรางตัวกับธรรมชาติ "เลียน ลวง พราง" (เลียนแบบ - ลวงล่อ - พรางตัว ) สำหรับ “พฤติกรรมการพรางตัว” เป็นพฤติกรรมที่สิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสัตว์หลายชนิดใช้เพื่อการอําพรางตัวให้กลมกลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อมจนยากที่จะสังเกตเห็นได้ โดยวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตี หรือบางครั้งก็อาจเป็นการหลอกล่อให้เหยื่อตายใจนั่นเอง
9.คุณสมบัติพิเศษของขุนไกร
"หล่อ สง่า ดูดี ขนแววดำ หูกาง แสนซน กระโดดเก่ง" คือคุณสมบัติพิเศษของ "ขุนไกร" ที่ทางเฟซบุ๊กเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้กล่าวไว้
10.นิสัยสุดน่ารักประจำตัว
คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของความซนและความทะเล้นขี้เล่นที่สามารถเรียกรอยยิ้มจากทุกคนได้เสมอ รวมถึงพฤติกรรมที่ชอบนอนแช่ในอ่างน้ำเพื่อคลายร้อนอีกด้วย
ปัจจุบัน “ขุนไกร” อายุได้ 1 เดือนกว่าแล้ว มีน้ำหนักตัวเกือบ 10 กิโลกรัม มีสภาพร่างกายแข็งแรง มีนิสัยร่าเริง ชอบวิ่งกระโดด ปีนป่าย และพรางตัวกับต้นไม้ ตามสัญชาตญาณของเลียงผา โดยคาดว่าจะต้องอนุบาลไว้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้ารามอย่างน้อย 1 ปี ก่อนจะปล่อยคืนสู่ป่าได้อีกครั้ง
ส่วนเรื่องแม่แพะที่จะนำมาช่วยเลี้ยงเจ้าขุนไกรนั้น คาดว่าจะมาได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อช่วยปรับพฤติกรรม และลดการสัมผัสจากคนเลี้ยง เพราะในอนาคตต้องกลับคืนสู่ป่า จึงต้องสอนให้เจ้าขุนไกรเรียนรู้ สามารถอยู่รอดได้เองในป่าธรรมชาติ
**ภาพและข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช**
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline